สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การผสมพันธุที่ทำให้เกิดลูกฝาแฝด

ตามกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดตั้งอยู่บนมูลฐานที่ว่ามีไข่ฟองหนึ่งผสมพันธุ์กับสเปิมตัวหนึ่ง ทำให้เกิดเด็ก 1 คน อย่างไรก็ดีมีปรากฏการณ์พิเศษ ซึ่งเราท่านย่อมได้ยินหรือได้เห็นอยู่บ้างว่า แม่บางคนคลอดลูกแฝด เป็นสองคนหรือมากกว่า

มีผู้ได้ศึกษาเรื่องนี้จนสามารถอธิบายกลไกธรรมชาติที่อำนวยให้เกิดลูกฝาแฝดได้ว่า
1. Fraternal twins
บางโอกาสไข่ 2 ฟองหลุดออกจากรังไข่ในเวลาไล่ๆ กัน เมื่อมีโอกาสผสมพันธุ์กับสเปิม 2 ตัว ก็จะเกิดเด็กในครรภ์พร้อมๆ กัน 2 คน มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Fraternal twins เพราะเหตุที่ฝาแฝดประเภทนี้เกิดจากไข่ต่างฟอง สเปิมต่างตัว จึงไม่ต่างอะไรนักจากพี่น้องร่วมบิดามารดาทั่วไป คืออาจเป็นเพศเดียวกันหรือคนละเพศก็ได้  (โปรดสังเกตดูภาพข้างล่างนี้ รูปซ้ายมือ แสดงเด็กแฝดในครรภ์ตามคำบรรยายข้างบนนี้)
health-0060 - Copy
2. Identical twins
การเกิดลูกฝาแฝดอีกประเภทหนึ่งแตกต่างจากข้อ 1 ข้างต้น กล่าวคือการผสมพันธุ์เริ่มต้นด้วยไข่ฟองเดียวผสมพันธุ์กับสเปิมตัวเดียวตามธรรมดา หลังจากนั้นไม่นานนัก เซลล์ทวีจำนวนโดยตัวเองอย่างรวดเร็ว กล่าวอย่างรวบรัดพอให้ได้ความในที่นี้คือ เซลล์ที่ผสมพันธุ์แล้วจะจำลองตัวมันเอง แล้วแบ่งตัวออกเป็นเซลล์ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในการแบ่งตัวครั้งแรก (ไม่กี่ชั่วโมงหลังการผสมพันธุ์) บางกรณีเกิดการแบ่งเป็น 2 เซลล์แยกต่างหากจากกันขาดตัว (Split) มาเป็นสิ่งมีชีวิตเป็นเอกเทศอีกชีวิตหนึ่ง

เพราะเหตุที่กำเนิดของฝาแฝดประเภทนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาแต่เดิม จึงมีชื่อว่าเรียกว่า Identical twins คำเรียกประเภทฝาแฝดข้อ 1 และ 2 นี้ ทางวิชาการต้องการเรียกให้ง่าย เข้าใจชัดถึงต้นกำเนิด จึงมีศัพท์ที่ตั้งขึ้นจากแนวว่า ไข่ที่ผสมพันธุ์แล้วมีชื่อเรียกว่า Zygote แฝดที่เกิดจาก Zygote 2 ตัว (ข้อ 1.) ให้เรียกว่า Dizygotic twins แฝดที่เกิดจาก Zygote ตัวเดียวกัน (ข้อ 2.) ให้เรียกว่า Monozygotic twins
ฝาแฝด Identical กล่าวได้ว่าเป็นฝาแฝดแท้เกิดจากไข่และสเปิมร่วมกัน จึงมีความเหมือนประดุจคนคนเดียวกัน คือมีเพศเดียวกัน มีลักษณะต่างๆ ที่ได้รับจากโครโมโซม และยีนที่ติดอยู่กับโครโมโซม อย่างเดียวกันทั้งด้านกาย อารมณ์ ความคิด สติปัญญา แม้ถูกแยกไปรับการเลี้ยงดูห่างจากกันเด็ดขาดเป็นเวลานาน ความเหมือนกันยังคงดำรงแน่นอนอยู่เสมอ    นักวิจัยได้พบข้อเท็จจริงเป็นการแน่ชัด    และมีพยานสนับสนุนมากมาย จึงนำมาเรียบเรียงไว้ในตำราทุกเล่ม (เช่น Scarr et al. 1986, หน้า 178 เป็นต้น) เพราะเหตุนี้นักวิจัยทางจิตวิทยาจึงสนใจศึกษาทดลองฝาแฝดในแง่มุมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านอิทธิพล กรรมพันธุ์เปรียบเทียบกับอิทธิพลสิ่งแวดล้อม เพราะถือว่าด้านกรรมพันธุ์นั้น คนทั้งคู่เหมือนกันสนิท ถ้ามีพฤติกรรมอะไรแตกต่างกัน ความแตกต่างต้องมาจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นแน่นอน ได้นำการทดลองเด็กฝาแฝดตามแนวคิดนี้มากล่าวถึงเป็นตัวอย่าง ในข้อวุฒิภาวะทางกาย

3. Siamese twins
ตามกล่าวในข้อ 2 ข้างต้นว่ามีฝาแฝดประเภท Zygote ตัวเดียว แตกตัวเป็น 2 แยกจากกันเด็ดขาด นั้นมีข้อยกเว้นบางกรณี คือการแยกจากกันไม่ตลอดตัว จนเมื่อ Zygote พัฒนาเป็นคน 2 คน ยังมีส่วนของร่างกายบางส่วนติดแน่นกันจนคลอดออกมา วงการศึกษาวิทยาการสาขานี้เรียกชื่อแฝดประเภทนี้ว่าฝาแฝดสยาม (Siamese twins) ถ้าแพทย์พบว่าเด็กแฝดแบบนี้แต่ละคนมีอวัยวะพร้อมมูลสำหรับดำรงชีวิตแยกจากกันได้แล้ว ก็ช่วยผ่าตัดแยกเป็นคนละคน

Papalia & Olds (1975, หน้า 39) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กแฝดที่น่าสนใจอีกบางประการ เช่น
1. มักปรากฏว่ามีการเกิดเด็กฝาแฝดบ่อยขึ้น น่าจะเป็นเพราะมีการใช้ยากระตุ้นบางอย่างที่ช่วยให้ไข่สุก และหลุดออกจากรังไข่ครั้งเดียวมากกว่า 1 ฟอง
2. หญิงแต่ละชาติมีแนวโน้มจะมีลูกฝาแฝดต่างๆ กัน โดยอ้างรายงานจากการวิจัยว่า ในประเทศอังกฤษ มีเด็กฝาแฝด 1 ใน 80 ของจำนวนเด็กเกิดในประเทศญี่ปุ่น 1 ใน 160 เป็นต้น
3. เด็กฝาแฝดมากกว่าครึ่งมีน้ำหนักตัวตํ่าเมื่อคลอด

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า