สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น(Gastrointestinal/Gut obstruction)

เป็นภาวะอุดกั้นของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้อาหารไม่สามารถผ่านลงไปได้ พบโรคนี้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นภาวะร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องกระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น

สาเหตุของการเกิดกระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น
เกิดจากสาเหตุการดึงรั้งของพังผืดในช่องท้องภายหลังการผ่าตัดหรือการอักเสบ ไส้เลื่อนชนิดติดคา โรคแผลเพ็ปติกที่มีการตีบตันของปลายกระเพาะอาหารแทรกซ้อน มะเร็งกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ลำไส้บิดตัว หรือโรคพยาธิไส้เดือน บางรายอาจเกิดการอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม เช่น เมล็ดผลไม้

สาเหตุที่อาจพบได้ในทารกหรือเด็กเล็ก เช่น
-กระเพาะส่วนปลายตีบแต่กำเนิด มักจะพบในเด็กทารกอายุ 2-8 สัปดาห์
-ลำไส้กลืนกันเอง อาจพบภาวะนี้ได้ในทุกช่วงอายุ มักพบเป็นกันมากในทารกอายุประมาณ 6 เดือน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการ
ถ้าตำแหน่งที่อุดกั้นเกิดที่ลำไส้เล็กมักจะปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ รอบๆ สะดือ อาเจียนพุ่งรุนแรงติดๆ กัน มักมีเศษอาหารหรือน้ำดีสีเขียวและขมออกมาด้วย

อาการอาเจียนอาจไม่มีหรือมีเพียงเล็กน้อยหากเกิดการอุดกั้นที่ลำไส้ใหญ่

การอุดกั้นไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งใดถ้าเป็นการอุดกั้นที่สมบูรณ์มักมีอาการท้องผูกร่วมด้วยเสมอ ถ้าการอุดกั้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่ลำไส้ใหญ่อาจไม่มีการผายลมเลยก็ได้

ในระยะแรกๆ อาการท้องอืดอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่จะค่อยๆ มากขึ้นในระยะต่อมา

มักจะมีภาวะขาดน้ำ และภาวะช็อก เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ ปัสสาวะออกน้อย หากมีการอุดกั้นอยู่หลายวัน อาจมองเห็นการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่หน้าท้องในบางครั้ง

จะได้ยินเสียงโครกครากของลำไส้ติดกันถี่ๆ เป็นเสียงแหลม และได้ยินเสียงเหมือนน้ำกระฉอก เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง

อาจพบก้อนนูนของไส้เลื่อนที่บริเวณขาหนีบ หรือถุงอัณฑะ หรือแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง

ในทารกที่เกิดจากกระเพาะส่วนปลายตีบ จะมีอาการอาเจียนพุ่งแรงมีเศษนมกลิ่นเหม็นออกมา ในช่วงแรกๆ เด็กยังรู้สึกหิวและมีการเคลื่อนไหวปกติ แต่เมื่อมีการอาเจียนอยู่เรื่อยน้ำหนักตัวก็จะลด กระสับกระส่าย ถ่ายอุจจาระน้อยลง มักพบการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่หน้าท้อง และบริเวณส่วนปลายของกระเพาะอาหารอาจคลำพบเป็นก้อนได้ เด็กจะมีภาวะขาดน้ำ ซึม ชัก และตายได้หากไม่ได้รับการรักษา

ในเด็กที่เกิดจากลำไส้กลืนกันเอง จะมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นพักๆ อาจมีอาเจียน และถ่ายเป็นมูกปนเลือดในบางครั้ง

ภาวะแทรกซ้อน
มักทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ช็อก ลำไส้เน่าและทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ โลหิตเป็นพิษถ้าไม่ได้รับการรักษา

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคให้ส่งโรงพยาบาลด่วน งดให้น้ำและอาหาร ถ้ามีภาวะช็อกหรือขาดน้ำควรให้น้ำเกลือไปด้วยระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งมักต้องเอกซเรย์ และทำการผ่าตัดฉุกเฉิน

สาเหตุที่เกิดในเด็กจากลำไส้กลืนกันเองอาจต้องทำการรักษาด้วยวิธีสวนแป้งแบเรียมพร้อมกับถ่ายเอกซเรย์ ลำไส้อาจกลับคืนสู่สภาพปกติได้ด้วยแรงดันจากการสวนแป้งแบเรียม และมักต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหากใช้วิธีสวนแป้งแบเรียมแล้วไม่ได้ผล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า