สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลักษณะของโรค Bronchiolitis

หลอดลมส่วนปลายอักเสบ
เป็นการอักเสบของหลอดลมส่วนปลาย ซึ่งมักพบใน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่พบต่ำกว่า 6 เดือน เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ Respiratory Syncytial virus

ลักษณะอาการที่สำคัญ เริ่มต้นด้วยอาการคล้ายเป็นหวัด ไอ น้ำมูกไหลมาก่อน ไข้ไม่สูงมาก ส่วนใหญ่มักไม่เกิน 38°ซ จากนั้นอาการจะรุนแรง มีอาการหอบหายใจเร็ว และฟังได้เสียง wheezing เด็กมักไม่ยอมดูดนม ในรายที่เป็นมากอาจเขียวได้ การตรวจร่างกายที่สำคัญคือ หายใจเร็ว หอบ มักจมูกบาน มี chest re¬traction บางรายหายใจออกยาวและลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เคาะปอดจะได้เสียงโปร่ง (hyper-resonance) และอาจคลำได้ตับโตถึง 2-3 ซม.ต่ำกว่าขอบชายโครงขวา ฟังปอดมักได้ยินเสียง rhonchi, wheezing และ crepitation

การตรวจภาพรังสีปอด พบว่ามี hyperaeration, เงาของกระบังลมถูกดันให้แบนราบลง บางครั้งอาจพบ patchy atelectasis

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การนับจำนวนเม็ดเลือดขาวมักอยู่ในเกณฑ์ปรกติ อาจพบมีจำนวนลิมโฟซัยท์เพิ่มขึ้น

การวินิจฉัยแยกโรค
1. โรคหืด แยกค่อนข้างลำบากจากลักษณะทางคลินิก โดยเฉพาะถ้าเป็นการหอบครั้งแรก การซักประวัติภูมิแพ้ การหอบในครอบครัว และดูผลการตอบสนองต่อการให้ adrenalin 1 : 1000 ในขนาด 0.01 มล./กก.ฉีดใต้ผิวหนัง อาจจะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค ถ้าเป็นโรคหืดจะตอบสนองดีต่อการฉีด adrenalin

2. โรคไอกรน มักได้ประวัติสัมผัสจากคนเป็นโรค และเป็นเด็กที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ลักษณะไอที่พบในไอกรนค่อนข้างเฉพาะตัว และการตรวจพบเม็ดเลือดขาวขึ้นสูงร่วมกับลิมโฟซัยที่เพิ่มขึ้นมาก, ESR ปรกติหรือตกช้าทำให้นึกถึงโรคนี้มากขึ้น

3. ปอดอักเสบ ไข้มักสูงรุนแรง เสียง crepitation พบมากกว่า rhonchi และภาพทางรังสีปอดมักเห็นเงาของการอักเสบได้

4. Viral croup เป็นการอักเสบของกล่องเสียง พวกนี้มักจะมีเสียงแหบ ไอเสียงก้อง ลักษณะการหอบเป็นแบบการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน

5. การมีสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม มักจะมีประวัติทันที ไม่มีไข้ ไอ เด็ก สบายดีมาก่อน อาจจะได้ประวัติสำลักหรือไม่ก็ตาม การถ่ายภาพรังสีปอดอาจช่วยในการวินิจฉัย

การรักษา
การรักษาขึ้นกับอาการของผู้ป่วย แต่โดยทั่วไปก็คือ
การให้การรักษาแบบประคับประคองอาการ

1. เด็กที่มีอาการเล็กน้อย ยังเล่นได้ ได้แก่พวกที่หายใจ 40-50 ครั้ง/ นาที มี subcostal retraction เพียงเล็กน้อย อาจจะให้เฝ้าระวังอาการอยู่ที่บ้าน ให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ให้น้ำให้เพียงพอ

2. สำหรับเด็กที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงมากคือ พวกที่หายใจ 50-70 ครั้ง/นาที มี subcostal, intercostal และ supraclavicular retraction เด็กค่อนข้างจะกระวนกระวาย ร้องกวน ควรรับไว้ในโรงพยาบาลทุกราย

ที่ตึกผู้ป่วยนอกการรักษาเบื้องต้นก็คือ การให้ออกซิเจน และเริ่มให้ IV fluid ในกรณีมีอาการแสดงของการขาดน้ำมาก จากนั้นให้รีบส่ง เด็กขึ้นหอผู้ป่วย

ที่มา:สมชาย  สุนทรโลหะนะกูล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า