สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ริดสีดวงทวาร(Hemorrhoids)

เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักเกิดปูดพอง เรียกว่า หัวริดสีดวง และมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักพบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด มักมีอาการเวลาท้องผูก หรือท้องเดินบ่อยๆ อาการมักไม่รุนแรงหรืออันตราย แต่อาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวลได้ริดสีดวงทวาร

หัวริดสีดวงที่เกิดขึ้นอาจมีหัวเดียวหรือหลายหัวก็ได้ หากเกิดจากหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังบริเวณปากทวารหนักอาจมองเห็นได้ เรียกว่า ริดสีดวงภายนอก(external hemorrhoid) แต่ถ้าเกิดจากหลอดเลือดที่ลึกเข้าไปซึ่งจะตรวจพบเมื่อใช้กล้องส่องตรวจไส้ตรง เรียกว่า ริดสีดวงภายใน(internal hemorrhoid)

สาเหตุ
หลอดเลือดดำที่ใต้เยื่อเมือกและผิวหนังในบริเวณทวารหนักเกิดปูดพองเป็นหัวจากภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูงจากการเบ่งถ่ายอุจจาระ ท้องผูก การนั่งนานๆ การตั้งครรภ์ น้ำหนักมาก กินอาหารมีกากใยน้อย ไอเรื้อรัง เป็นต้น อาจพบร่วมกับโรคตับแข็ง ก้อนเนื้องอกในท้อง มะเร็งลำไส้ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

อาการ
มักมีอาการเลือดแดงสดๆ ออกทางทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระ อาจสังเกตเห็นเลือดไหลเป็นหยด ปนมากับอุจจาระ หรือติดอยู่ที่กระดาษชำระแต่ไม่รู้สึกเจ็บปวด หรืออาจมีถ่ายลำบาก คันก้น หรือรู้สึกเจ็บที่ทวารหนัก

อาจทำให้ปวดรุนแรงจนถึงกับนั่ง ยืน เดิน ไม่สะดวก คลำได้ก้อนเนื้อนุ่มๆ สีคล้ำ ที่ปากทวารหนักถ้าริดสีดวงเกิดการอักเสบหรือหลุดออกมาข้างนอก และอาจมีอาการซีดจากภาวะเลือดออกมากหรือเป็นเรื้อรังได้

สิ่งตรวจพบ
ที่ปากทวารหนักอาจคลำได้ก้อนนุ่มๆ สีคล้ำๆ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเกิดการขาดธาตุเหล็กจากภาวะโลหิตจางได้

การรักษา
1. ควรดื่มน้ำ กินผักผลไม้มากๆ เพื่อไม่ให้เกิดท้องผูก ควรกินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพี สารเพิ่มกากใยหากเกิดภาวะท้องผูกขึ้นมา เว้นจากการนั่งเบ่งถ่ายนานๆ ยืนนานๆ

2. หากมีการอักเสบและปวดมากให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัดๆ วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที ใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร เช่น อะนูซอล(Anusal) เชอริพร็อกต์(Scheriproct) พร็อกโตซีดิล(Proctosedyl) เหน็บเวลาเช้า ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ อาการมักทุเลาลงในเวลาประมาณ 10วัน

3. ให้ยาบำรุงโลหิตวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด หากเกิดภาวะซีด

4. ถ้าหัวริดสีดวงออกมาข้างนอกให้ใส่ถุงมือชุบสบู่ให้ลื่นดันหัวริดสีดวงเข้าไป ควรนำส่งโรงพยาบาลหากวิธีการนี้ไม่ได้ผล

5. หากมีอาการเป็นๆ หายๆ เลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ พบในคน 40 ปีขึ้นไป หรือสงสัยภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ควรใช้กล้องส่องตรวจไส้ตรง เอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ การสวนแป้งแบเรียม หรือใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อหามะเร็งลำไส้ใหญ่

ถ้าเป็นมากอาจรักษาด้วยการใช้ยางรัดทำให้หัวริดสีดวงฝ่อ ใช้แสงเลเซอร์รักษา หรือฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงให้ฝ่อไป วิธีนี้ปลอดภัยไม่เจ็บปวดและปลอดภัย การใช้ยาฉีดควรฉีดสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 3-5 สัปดาห์ ร้อยละ 60 ช่วยให้หายขาดได้ และอีกร้อยละ 40 อาจกำเริบขึ้นมาใหม่ได้ อาจต้องทำการผ่าตัดรักษาหากเป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อน

ข้อแนะนำ
1. ริดสีดวงทวารอาจเป็นเรื้อรังได้แม้เคยผ่าตัดรักษามาแล้ว อาจเกิดเป็นริดสีดวงหัวใหม่ทำให้มีเลือดออกได้อีก ซึ่งโดยทั่วไปโรคนี้ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง จึงต้องควรระวังไม่ให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อยๆ

2. อาจทำให้เกิดอาการของริดสีดวงทวารได้ในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้นจึงควรไปตรวจให้แน่ชัดหากพบมีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

3. อาจมีสาเหตุอื่นๆ ได้หลายอย่างจากอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ดังนั้นจึงควรตรวจวินิจฉัยโรคในแน่ชัดเพื่อจะได้ทำการรักษาให้ตรงกับโรคและสาเหตุของโรค

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า