สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ริดสีดวงตา(Trachoma)

พบโรคนี้ได้บ่อยในพื้นที่ที่แห้งแล้ง กันดาร มีฝุ่นมาก และมีแมลงหวี่แมลงวันชุกชุม ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ตาอักเสบเรื้อรังขึ้นได้ พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กก่อนวัยเรียนที่พ่อแม่ปล่อยให้เล่นสกปรกทั้งวันริดสีดวงตา

เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้มักมีอยู่เพียงชั่วคราวการอักเสบติดเชื้อมักเกิดขึ้นซ้ำๆ หลายครั้งและเป็นเรื้อรังนานแรมเดือนแรมปี

โรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบอดได้อย่างหนึ่งในบ้านเรา

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า คลามีเดียทราโคมาติส ซึ่งเป็นเชื้อริดสีดวงตา เชื้อจะแพร่เข้าตาโดยติดต่อด้วยการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง อาจติดด้วยการใช้ผ้าเช็ดตัว หรือเครื่องใช้ร่วมกัน หรือด้วยการนำเชื้อจากคนที่เป็นโรคมาเข้าตาอีกคนด้วยการนำมาจากแมลงหวี่ แมลงวันมาตอมตา มักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเพราะการติดต่อมักจะต้องอยู่ใกล้ชิดกันนานๆ เชื้อนี้มักทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาขาวและกระจกตาดำ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 5-12 วัน

อาการ
อาการของโรคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ

1. ระยะแรกเริ่ม มักจะมีอาการที่ตาทั้งสองข้างด้วยการเคืองตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย และอาจมีขี้ตา บางครั้งอาจแยกกันไม่ออกระหว่างอาการเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้ออื่นๆ กับโรคนี้เพรามีอาการคล้ายกัน แต่ก็ควรให้การรักษาแบบโรคริดสีดวงตาไปเลยถ้าพบว่ามีอาการเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุมหรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้อยู่ก่อน ถ้าเป็นในระยะนี้บางรายอาจหายได้แม้ไม่ได้รับการรักษาแต่บางรายก็อาจเข้าสู่การเป็นโรคในระยะที่ 2 ได้

2. ระยะที่เป็นริดสีดวงแน่นอนแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ลดลงกว่าระยะที่ 1 และมีการอักเสบน้อยลง แต่จะพบเยื่อบุตาหนาขึ้น และเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุตาบนเมื่อพลิกเปลือกตาดู และจะพบว่าส่วนบนสุดของตาดำจะมีแผ่นเยื่อบางๆ สีออกเทาๆ ซึ่งจะมีหลอดเลือดฝอยวิ่งผ่านเข้าไปในตาดำ เรียกว่า แพนนัส เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ อาจมีอาการอยู่นานเป็นแรมเดือนแรมปีในระยะนี้ และอาจเข้าสู่ระยะที่ 3 ได้หากไม่ได้รับการรักษา

3. ระยะเริ่มเป็นแผลเป็น แทบจะไม่มีอาการอะไรเลยในช่วงนี้ อาการเคืองตาก็ลดน้อยลง ตุ่มที่เยื่อบุเปลือกตาบนก็เริ่มค่อยๆ ยุบหายไป แต่จะมีพังผืดกลายเป็นแผลเป็นขึ้นมาแทนที่ แต่ที่ตาดำยังคงปรากฏแพนนัสให้เห็น ระยะนี้อาจกินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี และจะเข้าสู่ระยะที่ 4 เนื่องจากการใช้ยารักษามักไม่ได้ผล

4. ระยะของการหายและเป็นแผลเป็น แม้จะไม่ได้รับการรักษาเชื้อก็จะหมดไปเองในระยะนี้ แพนนัสก็จะค่อยๆ หายไป แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

โรคนี้บางรายเป็นแล้วอาจหายได้เองในระยะแรกๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงทุกราย

หากเกิดภาวะแทรกซ้อนมักจะมีการติดเชื้ออักเสบบ่อยๆ ประกอบกับปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ขาดอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
แผลเป็นบริเวณเปลือกตาบนจะดึงรั้งให้เปลือกตาม้วนเข้าด้านใน เรียกว่า อาการขอบตาม้วนเข้า ทำให้ขนตาแยงเข้าด้านในไปตำกระจกตาเกิดการอักเสบและเป็นแผลกระจกตา ทำให้สายตาพิการได้ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา

อาจทำให้น้ำตาไหลตลอดเวลาหรือไม่ก็อาจทำให้ต่อมน้ำตาไม่ทำงานและตาแห้งได้ถ้าแผลเป็นไปอุดกั้นท่อน้ำตา

อาจทำให้เกิดแผลกระจกตาและความเรื้อรังของโรคได้ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นปัจจัยเสริม

การรักษา
1. ให้กินดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์หากพบว่าเป็นริดสีดวงตา หรือให้อีริโทรไมซินแทนในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร

ควรให้ยาป้ายตาเตตราไซคลีน หรือยาป้ายอีริโทรไมซินร่วมด้วย โดยป้ายทุกๆ เดือน เดือนละ 5 วันติดต่อกัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้

2. ควรส่งโรงพยาบาลหรือปรึกาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค หรืออาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากให้ยาไป 2 สัปดาห์แล้ว แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การขูดเยื่อบุตาย้อมสีด้วย Geimsa stain หรือ immunofluorescein การเพาะเชื้อ เป็นต้น เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดและให้การรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุที่พบต่อไป

3. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น อาจรักษาต้นเหตุของภาวะแทรกซ้อนที่พบ เช่น การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาที่เป็นแผลเป็น หรืออาจผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาในรายที่เป็นแผลเป็นที่กระจกตา เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ควรสงสัยเป็นริดสีดวงตาเมื่อมีการอักเสบเรื้อรังเป็นเดือนๆ และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม และควรแยกโรคนี้ออกจากเยื่อตาขาวอักเสบชนิดอื่น

2. อาจมีสาเหตุจากการแพ้หรือจากการติดเชื้อริดสีดวงตาก็ได้ในอาการเคืองตา คันตาเรื้อรัง จึงควรวินิจฉัยให้แน่ชัดเพราะสาเหตุของโรค อาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษามักจะแตกต่างกันในสองโรคนี้

3. ต้องรักษาริดสีดวงตาตั้งแต่ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มีการติดเชื้อรุนแรง การใช้ยาปฏิชีวนะในระยะนี้จะสามารถทำลายเชื้อ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ และควรให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่ในบ้านพร้อมกันทุกคน การใช้ยาปฏิชีวนะมักจะไม่ได้ผลถ้าเป็นโรคนี้ในระยะที่ 3 และ 4 เพราะการติดเชื้อจะเบาบางลงและเปลือกตาเริ่มเป็นแผลเป็นแล้ว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า