สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การรักษาโรคด้วยการสะกดจิต(Hypnotherapy)

เป็นการเยียวยารักษาความป่วยไข้ด้วยการสะกดจิต ทั้งในด้านทฤษฎีและคลินิคแม้จะรู้แน่ว่าการสะกดจิตคืออะไร แต่ความคิดเห็นก็ยังไม่ลงรอยกันอยู่อีกมาก

ทฤษฎีเกี่ยวกับการสะกดจิตที่เหมาะสมและใช้การได้ในทุกแง่ยังไม่มีในปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีความแตกต่างระหว่างภาวะสะกดในระดับตื้นและลึก แต่ก็พอจะบรรยายได้ว่า การสะกดจิต คือ ภาวะที่ความรับรู้และจิตสำนึกเปลี่ยนแปลงไป แม้ความคิดอย่างมีจิตสำนึกจะยังคงอยู่ก็ตาม

คนมากมายมักคิดว่าการสะกดจิตเป็นสิ่งที่เพิ่งค้นพบค่อนข้างจะใหม่ แต่การสะกดจิตที่มีพฤติกรรมเหมือนอยู่ในมนต์สะกดก็ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ครั้งโบราณและมีรายงานการใช้ตั้งแต่สมัยยุคต้นๆ ของประวัติศาสตร์แล้ว การรักษาโรคด้วยการสะกดจิตในรูปแบบของการแนะให้ผู้ป่วยหายป่วยในระหว่างที่อยู่ในภวังค์หรืออยู่ในความหลับใหลจัดอยู่ในพวกของศิลปะการเยียวยารักษาโรคที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง พฤติกรรมชนิดนี้สามารถสังเกตพบได้จากพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งในพิธีฉลองของวัฒนธรรมแบบบุพกาลมากมายในปัจจุบันนี้

ในสมัยอียิปต์โบราณ พระจะใช้ธูปสะกดจิตและท่องบ่นมนตราเพื่อสร้างภาวะที่เรียกว่า “ความหลับวัด” (temple sleep) ซึ่งจะมีการบอกแนะในเชิงรักษาโรคแก่คนที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ ในระหว่างนั้น

ชาวอบาตัน ในยุคทองของกรีก มีวัดเพื่อการหลับสำหรับผู้ป่วย ผู้คนจะถูกชักนำให้หลับเป็นเวลานานยืดเยื้อโดยอาศัยดนตรีเบาๆ หรือด้วยการท่องวลีต่างๆ ซ้ำไปมา หรือโดยใช้ยา

ชามาน(Shaman) หมอผี(medicine men) และหมอพ่อมด(witch doctor) จะชักนำให้เกิดภาวะที่ตกอยู่ในภวังค์ด้วยการใช้กลอง วัสดุที่ตรึงความสนใจ ดนตรี เสื้อผ้าพิเศษ และการเต้นรำแบบพิธีกรรม ซึ่งระหว่างนี้จะมีการแนะให้ผู้ป่วยหายป่วยเมื่อตื่นมาจากภวังค์

มีการใช้ประโยชน์จากพิธีกรรมและพิธีฉลองอย่างกว้างขวางในศาสนาคริสต์ยุคกลาง โดยระหว่างทำพิธีจะใช้ดนตรี เครื่องหอม แสงสว่างชนิดและระดับอย่างที่เลือกสรรมาเป็นพิเศษ กับการท่องมนต์ในโบสถ์ที่มีขนาดมโหฬารและมีสถาปัตยกรรมที่อลังการ เมื่อผู้คนได้เห็นการแสดงออกที่น่าเกรงขามเช่นนี้ก็จะตกอยู่ในภาวะที่เหมือนกับการถูกสะกดจิต และยอมถวายตัวแก่พระเจ้า

การสะกดจิตสมัยใหม่มีการเห็นพ้องกันว่า เริ่มขึ้นด้วยฝีมือของแพทย์ชาวออสเตรีย ที่มีชื่อว่า ฟรานซ์ อันตอน เมสเมอร์ เขาได้รื้อฟื้นศิลปะการเยียวยารักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยการแนะการบอกระหว่างการสะกดจิตขึ้นมาใหม่ การสะกดจิตตามรูปแบบของเขานั้นเรียกว่า พลังดึงดูดของสัตว์(animal magnetism) ซึ่งมีพื้นฐานตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ว่า ร่างกายของมนุษย์มีขั้วแม่เหล็กซึ่งมีสนามแม่เหล็กอยู่ การสะกดจิตในนามของเมสเมอริสซึ่มจึงได้กลายมาเป็นที่รู้จักกันและเป็นคำที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้

เมสเมอร์ถูกเย้ยเยาะและถูกรังควานจากวงการแพทย์หัวเก่าของเวียนนา แม้ว่าเขาจะได้เริ่มรักษาคนให้หายด้วยการสะกดจิตตามแบบของเขาแล้วก็ตาม สำหรับผลลัพธ์ที่เขาทำได้สำเร็จในตอนนั้นยังไม่มีคำอธิบายที่มีเหตุผลด้วยภาษาเชิงวิชาการ เมสเมอร์จึงได้ออกจากเวียนนามายังปารีสในปี ค.ศ.1778 ซึ่งเขาก็ได้ตั้งสถานรับรักษาโรคขึ้น

แม้ว่าเมสเมอร์จะรักษาโรคได้สำเร็จราวกับปาฏิหาริย์ แต่เขาก็ไม่ได้รับการต้อนรับจากโลกการแพทย์ของปารีสอย่างดีนัก กระแสคัดค้านต่อต้านงานของเมสเมอร์ทวีขึ้นเป็นลำดับจนมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อสืบสวน คณะกรรมาธิการนี้ไม่เข้าใจพื้นฐานด้านจิตบำบัดของเมสเมอร์จึงได้ตราหน้าว่าเขาเป็นนักหลอกลวงต้มตุ๋น และไม่อนุญาตให้เขาได้สาธิตถึงศักยภาพของเทคนิคในการเยียวยารักษาความป่วยไข้ของเขาด้วย

งานของเมสเนอร์ถูกทำลายความน่าเชื่อถืออย่างย่อยยับ ต่อมาในทศวรรษที่ 1840 แพทย์ชาวสก็อต ชื่อ เจมส์ แบร์ด ก็ได้เริ่มสืบสวนถึงคุณค่าทางวิชาการของเมสเมอริซึ่มขึ้น ซึ่งแบร์ด เป็นคนที่คิดคำว่า ภวังค์สะกด(hypnosis) กับการสะกดจิต(hypnotism)ขึ้นมา การใช้การสะกดจิตเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคจึงเริ่มนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง

ซิกมันด์ ฟรอยด์ และโจเซฟ โบเออร์ ประสบความสำเร็จในการรักษาโรคจิตโดยใช้การสะกดจิตคนไข้ในเวียนนา ซึ่งในสมัยนั้นถูกจัดจำพวกว่าเป็นอีสทีเรีย ต่อมาภายหลังฟรอยด์ได้นำเอาวิธีการเชื่อมโยงอย่างอิสระและการวิเคราะห์จิตของเขามาใช้แทนการสะกดจิต

ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการใช้การสะกดจิตในการรักษาทหารที่ป่วยจาก อาการช็อคเพราะกระสุนปืนใหญ่ โดยนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ที่ชื่อ วิลเลี่ยม แม็คดูกัลป์

ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ชื่อ ชาร์ลส์ ฮัล ได้ศึกษาปรากฏการณ์เกี่ยวกับการสะกดจิตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์อย่างละเอียด และในปี ค.ศ.1933 ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานนี้ออกมาในชื่อ Hypnosis and Suggestibility ข้อเขียนนี้ถือเป็นงานคลาสสิคชิ้นหนึ่ง

เกิดมีความสนใจเรื่องการสะกดจิตกันขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ซึ่งบรรดาจิตแพทย์ได้พบว่า การสะกดจิตสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้รวดเร็วกว่าวิธีจิตบำบัดที่ตนใช้อยู่

สมาคมการแพทย์อังกฤษมีรายงานในปี ค.ศ.1955 ว่า การสะกดจิตเป็นวิธีการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีคุณค่า และอีก 3 ปีต่อมาในปี ค.ศ.1958 สมาคมการแพทย์อเมริกันก็ได้ดำเนินรอยตามตอนที่คณะกรรมการการตรวจสอบภายในคณะหนึ่ง จัดทำรายงานในเชิงที่เห็นชอบกับการสะกดจิตขึ้น

ภาวะที่จิตถูกสะกดให้อยู่ในภวังค์สะกดนั้นสามารถบรรยายได้ว่า เป็นภาวะของจิตสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกในระหว่างภาวะปกติและภาวะสะกดจิตจะกลับกัน ในภาวะยามตื่นปกติความคิดที่มีสำนึกยังมีบทบาทเด่นเป็นหลัก และความคิดที่จิตใต้สำนึกจะมีบทบาทรอง ภายใต้การสะกดจิตความคิดอย่างมีจิตสำนึกจะเข้ามีบทบาทรอง ในขณะที่ความคิดของจิตใต้สำนึกจะขึ้นมามีบทบาทเด่นหรือบทบาทเอก

การรักษาโรคด้วยการสะกดจิตมิใช่เป็นเกมที่จะเล่นกันในห้องรับแขกแต่เป็นเครื่องมือที่มีค่า ผู้รับรักษาโรคด้วยการสะกดจิตเป็นอาชีพที่มีจริยธรรม ควรใช้การสะกดจิตเพื่อเหตุผลที่จริงจังและสมควรเท่านั้น ไม่ควรมีการหว่านล้อมหรือชักจูงโน้มน้าวให้ต้องถูกสะกดจิตหรือถูกบังคับให้ต้องยอมถูกสะกดจิตโดยไม่เต็มใจ

คนส่วนใหญ่มักจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของคำเสนอแนะที่ให้ในระหว่างที่อยู่ในอำนาจการสะกดจิตด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าจะมีบางคนที่ไม่อาจจะถูกสะกดจิตได้เลยและการสะกดจิตก็ทำได้ในระดับต่างๆ กันไป ความสามารถในการยอมรับคำแนะนำระหว่างถูกสะกดจิต คือสิ่งที่ทำให้การสะกดจิตบรรลุถึงเป้าหมายของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถนำการรักษาโรคด้วยการสะกดจิตมาใช้รักษาความผิดปกติในการทำงานได้อย่างกว้างขวาง เช่น ภาวะตาบอด เป็นอัมพาต ความไม่สามารถจะพูดหรือร้องเพลงได้ ความผิดปกติเกี่ยวกับบุคลิกภาพ โรคพิษสุราเรื้อรัง การติดนิโคติน โรคอ้วน ปัญหาทางเพศ ความกลัวต่างๆ เช่น กลัวความสูง กลัวน้ำ กลัวการนั่งเครื่องบิน กลัวการขับรถข้ามสะพาน กลัวบริเวณที่ปิดแคบ และอื่นๆ อีกมากมาย

การสะกดจิตสามารถนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างกว้างขวาง เช่น ทางการแพทย์จะถูกนำมาใช้ในด้านวิสัญญี สูติเวช ศัลยกรรม จิตเวช และการแพทย์เฉพาะด้านอื่นๆ รวมทั้งด้านทันตกรรมจะถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาความกระวนกระวาย ลดความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบาย และยังสามารถเอาการสะกดจิตมาใช้เพื่อช่วยในการฟื้นตัวจากโรค แก้ความรู้สึกผิด ความสิ้นหวัง ระบายความเสียใจขมขื่นและอื่นๆ อีกมาก

ใครๆ ก็สามารถหัดสะกดจิตได้ สามารถเรียนหลักพื้นฐานได้ในการสัมมนาช่วงสุดสัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้การสะกดจิตเป็นอาชีพได้ ควรมีการถามไถ่ถึงภูมิหลังทั้งในด้านการศึกษา ประสบการณ์ และความสามารถในทางวิชาชีพของผู้ให้การรักษาเสียก่อน หากต้องการรักษาโรคของตัวเองด้วยวิธีการนี้

ทุกวันนี้ในคลินิกมากมายมีผู้รับรักษาโรคด้วยการสะกดจิตอยู่ รวมทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่ใช้การสะกดจิต ในการแก้ปัญหาที่เกิดมาจากความเจ็บปวดที่ได้รับมาสมัยเด็ก หรือได้มาจากประสบการณ์ชีวิตในอดีต

ได้มีการก่อตั้งสภาผู้ตรวจสอบการสะกดจิตของอเมริกา(American Council of Hypnotic Examiners)ขึ้นมาในปี ค.ศ.1980 เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาพิเศษและยกระดับความสามารถในเชิงวิชาชีพในด้านการรักษาโรคด้วยการสะกดจิตให้ขึ้นมาอยู่ในระดับใหม่ สมาคมการรักษาโรคด้วยการสะกดจิตในด้านแพทย์ศาสตร์และทันตแพทย์ศาสตร์นานาชาติ(International Medical and Dental Hypnotherapy Association) เสนอบริการแนะนำผู้รับให้การรักษาโรคด้วยการสะกดจิตที่มีคุณวุฒิแก่สถานบำรุงสุขภาพและประชาชนทั่วไป และมีองค์การที่ได้รับการขึ้นบัญชีเก็บไว้ในหน่วยงานส่วนทรัพยากรเพิ่มเติมอีกมากมาย ในส่วนนี้ยังจะให้ข้อมูลและแนะนำส่งผู้ป่วยไปหานักวิชาชีพที่มีคุณวุฒิในด้านนี้ได้ด้วย

มีหนังสือเกี่ยวกับการสะกดจิตและการรักษาโรคด้วยการสะกดจิตที่ห้องสมุดทุกแห่ง ผู้ที่คิดจะรักษาโรคด้วยวิธีนี้ควรจะได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจกับทุกแง่มุมของมันเสียก่อนที่จะเข้าไปรับการรักษา

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า