สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

รงคบำบัดหรือการบำบัดรักษาโรคโดยใช้สี(Color Therapy)

เป็นการใช้สีและแสงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางสรีระ อารมณ์และจิตวิญญาณแก่ร่างกายมนุษย์ และยังมีผลในทางการรักษาโรคได้ด้วย

มีประวัติเก่าแก่สืบย้อนไปได้ถึงยุคโบราณของอารยธรรมอียิปต์และสังคมยุคเก่าอื่นๆ เกี่ยวกับรงคบำบัด ซึ่งตำราของพระในอียิปต์ที่เหลือตกทอดมาถึงสมัยนี้ แสดงให้เห็นถึงระบบรงคศาสตร์หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับสี เรื่องลึกลับของจีนก็มีเรื่องความรู้เกี่ยวกับสีเป็นตำรับลับอยู่ด้วย

มีการสร้างโบสถ์วิหารสี ที่ประกอบด้วย 7 ส่วนในอียิปต์และกรีกโบราณ แต่ละส่วนจะประกอบด้วยสีหนึ่งในจำนวน 7 สีของสีรุ้ง ผู้คนจะถูกนำตัวเข้าไปอยู่บริเวณเฉพาะสีในวิหารเหล่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการรับการรักษาโรคทางกายหรือต้องการบำรุงหัวใจ

นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวกรีกโบราณ อย่างเช่น ไพธากอรัส(Phithagorus) ก็เคยใช้สีเพื่อการรักษาโรค

ไอแซ็ค นิวตัน ได้พัฒนาทฤษฎีที่มีค่าเกี่ยวกับสีขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1666 นิวตันเป็นผู้ยืนยันถึงสีเบื้องต้นทั้ง 7 สี ที่มีอยู่ในสเป็คตรัมตอนที่เขาทำให้แสงแดดส่องผ่านแก้วปริซึม

วิชาชีพในด้านการรักษาโรคได้รับรู้มาเป็นเวลานับร้อยๆ ปีแล้วว่า สีเป็นพลังที่มีอำนาจอย่างสุดจะวัดได้และไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่สีจะส่งอิทธิพลต่อผู้คนทั้งในแง่สรีรวิทยาและจิตวิทยาอย่างมหาศาล

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 นักจิตวิทยาที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตในยุโรป ได้ทำการวิจัยถึงผลกระทบของสีที่มีต่อคนไข้ขึ้น

จากการทดลองใช้แสงไฟและผนังห้องสีต่างๆ ก็ได้พบว่า ผู้ป่วยที่หดหู่ซึมเศร้าเมื่อถูกนำตัวเข้าไปอยู่ในห้องที่มีผนังสีแดงหรือสีเหลืองสด หรือผู้ป่วยที่อยู่นิ่งไม่ได้เมื่อถูกนำตัวเข้าไปอยู่ในห้องที่มีผนังสีฟ้าหรือเขียว ก็จะสงบลงได้

สีดำเป็นสีที่เกี่ยวข้องกับความสลดและความตาย ในลอนดอนมีสะพานแบล็คฟรีแอร์ส(Blackfriars Bridge) ซึ่งมีโครงเป็นสีดำหม่นหมอง เป็นที่ทราบกันดีว่ามีคนไปฆ่าตัวตายกันในอัตราสูง แต่อัตราการฆ่าตัวตายที่นี่ได้ลดลงไปหนึ่งในสามหลังจากที่ทาสีสะพานเสียใหม่เป็นสีเขียวแล้ว

ในอุตสาหกรรมสามารถนำประโยชน์ของสีมาประยุกต์ใช้ได้มากมายหลายวิธี จากการทดลองก็ได้แสดงให้เห็นว่า ขณะที่อยู่ใต้อิทธิพลของแสงสีแดงกล้ามเนื้อจะเกิดปฏิกิริยาเร็วกว่าปฏิกิริยาที่เกิดขณะอยู่ใต้อิทธิพลของแสงสีเขียว เรื่องนี้จึงทำให้มีการนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานที่เกี่ยวกับสายพานการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์

ผนังห้องในโรงงานและเครื่องจักรที่ทาด้วยสีต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของลูกจ้าง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน อัตราการขาดงาน และต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุได้

ห้องล็อกเกอร์ที่ใช้เก็บสิ่งของและเปลี่ยนเสื้อผ้าของนักกีฬาที่ทาด้วยสีต่างๆ ที่ใกล้เคียงไปในทางสีแดง จะช่วยกระตุ้นให้รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นได้

จะเห็นว่ามีทีมฟุตบอลอาชีพมากมายที่ใช้สีแดงหรือสีส้มเป็นส่วนหนึ่งของสีประจำทีมของตน เนื่องจากสีของชุดกีฬาก็สามารถส่งอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานของทีมเช่นเดียวกัน

ในการออกแบบภายใน เพื่อสร้างความรู้สึกหรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ และเพื่อสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรม สีจึงถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างเช่น ห้องสีแดง เป็นสาเหตุให้ประเมินในเรื่องเวลามากกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นสีที่มีประสิทธิภาพมากเป็นพิเศษสำหรับภัตตาคารต่างๆ ที่ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว่า ตนได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่นานแล้ว จึงทำให้ทางภัตตาคารสามารถจัดที่นั่งให้ลูกค้าได้มากคนขึ้น

สีทำให้อาหารดูสวยงามน่าดูและน่ารับประทานยิ่งขึ้น ภัตตาคาร และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปจึงนิยมใช้กัน เคยมีผู้เสนอแนะว่า การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ตกแต่งด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการนำสีใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อปรับปรุงสุขภาพ

นักรงคบำบัดบางคนเชื่อว่า สีมีพลังที่สั่นสะเทือนซึ่งมีคุณสมบัติในการเยียวยารักษาโรคได้ สีและความสั่นสะเทือนของมันจะช่วยสร้างอำนาจในการเยียวยารักษาตัวเองและในการฟื้นไข้ของร่างกายตามธรรมชาติ สามารถทำงานได้เป็นผลสำเร็จ ช่วยบำรุงรักษาสุขภาพและทำให้รู้สึกสุขสบาย

สีแดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน คราม และม่วง เป็นสีธรรมชาติทั้ง 7 ของรุ้งหรือสีของแสงสเป็คตรัมที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ในแต่ละสีต่างก็มีความสั่นสะเทือนและความถี่เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป

แต่ละสีในรงคบำบัดตรงกับจักรหรือศูนย์กลางพลังงานของร่างกาย ซึ่งมีอยู่ 7 จักรเช่นกัน

เมื่อสีส่งผลกระทบไปถึงจักร จักรก็ส่งอิทธิพลไปถึงต่อม อวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายที่สัมพันธ์กับจักร เช่น สีแดงจะตรงกับจักรรากหรือจักรฐาน สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับต่อมแอดรีนัล ไตและกระเพาะปัสสาวะได้

ในการสร้างอิทธิพลต่อการเยียวยารักษาโรคนักรงคบำบัดอาจใช้วิธีต่างๆ กันไป ซึ่งบางวิธีก็จะให้ผู้ป่วยชโลมร่างกายด้วยแสงสีต่างๆ ให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าหรือชั้นในตามสีที่กำหนด รับประทานอาหารตามสีที่กำหนด ดื่มน้ำที่ใส่ในแก้วตามสีที่กำหนด หรือใส่แว่นตาที่มีกระจกสีต่างๆ เป็นต้น

รงคบำบัดเป็นศาสตร์และศิลปะของอินเดียโบราณในการรักษาโรค และการสร้างวัยเยาว์ให้กลับคืนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอายุรเวท

สีธรรมชาติบางอย่างมีคุณสมบัติในการรักษาโรคใช้บำบัดรักษาความไม่สมดุลของโทษาทั้งสาม หรือไตรโทษา เป็นพลังที่ควบคุมการทำงานทุกอย่างของร่างกาย ความคิด และจิตสำนึก

สีทั้งหมดมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราในด้านจิตวิทยาและสรีรวิทยา ไม่ว่าจะเป็นสีของเสื้อผ้าที่สวมใส่ สีของรถที่เราขับ สีของผนังห้องที่เราอยู่ สีของเครื่องเรือน พรมและผ้าขนหนูที่เราใช้ เป็นต้น

การใช้สีเพื่อการเยียวยารักษาโรค มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้จำหน่ายอยู่มากมาย และมีหนังสือหลายเล่มที่บรรยายถึงหัวข้ออื่นๆ เป็นหลัก เช่น จักรและอายุรเวท จะมีส่วนที่ว่าด้วยรงคบำบัดรวมอยู่ด้วย

มีหนังสือที่ดีอยู่ 2 เล่ม คือ The Ancient Art of Color Therapy ของลินดา คลาร์ค(Linda Clark) ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้โดยทั่วไป และหนังสือเรื่อง Ayurveda: The Science of Self-Healing ของ ดร.วสันต์ แลด(Vasant Lad) ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงการรักษาโรคด้วยสี

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า