สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาแก้ไข้ แก้ลมวิงเวียนในตำรับยาสามัญประจำบ้าน

ยาแก้ไข้
ยาจันทน์ลีลาที่ประกอบไปด้วยตัวยา โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลำพา จันทน์เทศ จันทน์แดง ลูกกระดอม บอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก อย่างละ 4 ส่วน พิมเสนน้ำ 1 ส่วน จากการวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ลดไข้ในสัตว์ทดลอง ส่วนสมุนไพรอื่นก็มีการวิจัยการออกฤทธิ์ในสัตว์ทดลองเช่นกัน คือ

ฟ้าทะลายโจร
สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการวิจัยพบว่า กระต่ายที่ถูกทำให้เป็นไข้ด้วยไทฟอยด์วัคซีน สามารถทำให้ไข้ลดลงได้จากสารสกัดแอลกอฮอล์ของฟ้าทะลายโจร และพบว่าหนูขาวที่ได้รับสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรทางปากในขนาด 500 มก./กก. จะช่วยลดไข้ได้เท่ากับการให้แอสไพริน 200 มก./กก. เนื่องจากได้รับยีสต์เข้าไปด้วย

บอระเพ็ด
พบว่าหนูขาวที่ทำให้เกิดไข้ด้วยวัคซีนไทฟอยด์ สามารถทำให้ไข้ลดลงได้ ด้วยการให้สารสกัดจากชั้นน้ำของลำต้นบอระเพ็ด ในขนาด 100-300 มก./กก. แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าแอสไพริน

ตำรับยาแก้ไข้บางชนิด จะเป็นตัวยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้จับสั่น เช่น

โกฐจุฬาลำพา
ชาวจีนเรียกว่า ชิงฮาวซู่(qinghaosu) และใช้เพื่อรักษาโรคไข้จับสั่นมาช้านานแล้ว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua มีสารสำคัญที่สกัดได้ชื่อ อาร์ตีมิซินิน(artemisinin) และจากอาร์ตีมิซินินมีสารกึ่งสังเคราะห์อีกหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย คนไทยในสมัยโบราณใช้โกฐจุฬาลำพาเพื่อแก้อาการไข้จับสั่นชนิดหนึ่ง ที่จับไข้วันเว้นวัน ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า ไข้เจลียง

รากปลาไหลเผือก(Eurycoma longifolia)

มีสารสำคัญอยู่หลายชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัม(Plasmodium falciparum) ในหลอดทดลอง เช่น ยูริโคมาแลคโตน(eurycomalactone) ยูริโคมานอล(eurycomanol) และยูริโคมาโนน(eurycomanone)

ในตำรับยาแก้ไข้ก็มีตัวยาในพิกัดอีกหลายชนิด ที่มีสรรพคุณใช้กระทุ้งพิษไข้ร้อน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ต้นมือ เช่น เบญจโลกวิเชียร ซึ่งประกอบไปด้วย รากชิงชี่ รากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร

ยาแก้ลมวิงเวียน
ในยาหอมตำรับต่างๆ จะมีตัวยาที่สำคัญอยู่ ตัวยาหลายชนิดมีกลิ่นหอม ช่วยแก้ลม บำรุงหัวใจ เช่น เกสรทั้งห้า กฤษณา สมุลแว้ง โกฐพุงปลา โกฐกระดูก เปราะหอม แฝกหอม อบเชย ชะมด เทียนทั้งห้า พิมเสน เกล็ดสะระแหน่ โกฐหัวบัว โกฐเชียง กระลำพัก ขอนดอก หญ้าฝรั่น จันทน์หอม จันทน์เทศ เปลือกชะลูด กานพลู จันทน์ชะมด ผิว ดอก และใบส้ม

เนื่องจากมีความดันของโลหิตต่ำ จึงทำให้เกิดอาการเป็นลม วิงเวียน มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ร่างกายจึงต้องมีกลไกทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองให้ได้มากขึ้น เพราะเมื่อเป็นลมต้องล้มตัวลงนอนจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีกว่าท่านั่งหรือยืน และเนื่องจากยาหอมมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ จึงช่วยแก้อาการวิงเวียนได้ โดยทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น ทำให้มีความดันเพิ่มขึ้น จากการทดลองศึกษาฤทธิ์ของยาหอมบางตำรับในท้องตลาดพบว่า จะช่วยเพิ่มแรงเต้นของหัวใจช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า