สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ

เรื่องยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2542 ได้มีการแบ่งยาแผนโบราณออกเป็น 25 กลุ่ม ตามสรรพคุณในการรักษาโรค และการบำรุงสุขภาพ สำหรับใช้รักษาอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยแต่ไม่รุนแรง โดยอนุญาตให้ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้ โดยมีทั้งตำรับยาแผนโบราณที่ใช้ได้ผลมานาน 27 ตำรับ และส่วนที่ใช้ประกอบเป็นตัวยาสำคัญในตำรับยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ 25 กลุ่มยา

ตัวยาสำคัญที่อนุญาตให้ใช้ประกอบในตำรับยาสามัญประจำบ้าน 25 กลุ่มยา มักเป็นตัวยาในตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่ใช้กันมานานใน 27 ตำรับนั้น รวมทั้งตัวยาสมุนไพรที่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนถึงสรรพคุณด้วย ยาเหล่านี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยา ไม่ว่าจะเป็นสูตรส่วนประกอบ วิธีทำ สรรพคุณ ขนาดที่ใช้รับประทาน หรือขนาดที่บรรจุ เช่น

1. ยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จะมีขิง ข่า ตะไคร้ กานพลู สะระแหน่ โหระพา กะเพรา ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย กระเทียม หอมแดง กะทือ ไพล เม็ดพริกไทย เจตพังคี จันทน์เทศ ลูกกระวาน อบเชย ดีปลี มหาหิงคุ์ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกเร่ว ลูกผักชีลา เปราะหอม ชะพลู สะค้าน เกล็ดสะระแหน่ การบูร ผิวและใบมะกรูด ผิวและใบมะนาว สมัดน้อย สมัดใหญ่ เป็นต้น เป็นตัวยาสำคัญ

2. ยาถ่าย ยาระบาย มียาดำ โกศน้ำเต้า มะขามแขก ฝักคูน ขี้เหล็ก ชุมเห็ดเทศ น้ำมันละหุ่ง ดีเกลือ มะข้ามป้อง มะขามเปียก สมอไทย ชะเอมไทย อ้อยสามสวน เกลือสินเธาว์ เกลือเทศ รากตองแตก เป็นตัวยาสำคัญ

3. ยาแก้ท้องเสีย มีใบฝรั่ง เปลือกมังคุด เปลือกทับทิม เปลือกขี้อ้าย รากกระท้อน รากมะพร้าว รากตาล รากลาน เปลือกต้นไข่เน่า เปลือกต้นมะขาม เปลือกฝักเพกา หมาก ขนุนดิบ ใบชา ครั่ง สีเสียด เปลือกซิก เปลือกแค เปลือกมะเดื่อชุมพร ขมิ้นชัน ลูกเบญกานี เป็นตัวยาสำคัญ

4. ยาแก้ไข้ มีสะเดา หญ้านาง หญ้าแพรก บอระเพ็ด ชิงช้าชาลี ลูกใต้ใบ ฟ้าทะลายโจร รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากท้าวยายม่อม จันทน์เทศ จันทน์แดง ใบพิมเสน โกศก้านพร้าว โกศสอ โกศจุฬาลัมพา รากปลาไหลเผือก ลูกกระดอม หญ้าตีนนก พญามือเหล็ก ต้นเหมือดคน รากไคร้เครือ กรุงเขมา เมล็ดในฝักเพกา ขี้กาทั้งสอง เป็นตัวยาสำคัญ

5. ยาแก้ร้อนใน มีผักกาดน้ำ เมล็ดมะกอก หญ้าใต้ใบ ใบพิมเสน จันทน์แดง จันทน์เทศ ฟ้าทะลายโจร แฝกหอม ผักกระโฉม ใบสันพร้าหอม ผลมะระขี้นก ลูกมะคำดีควายเผา ดอกงิ้ว ใบตำลึง บอระเพ็ด เป็นตัวยาสำคัญ

6. ยาบรรเทาหัด อีสุกอีใส มีจันทน์เทศ จันทน์แดง ใบพิมเสน ใบย่านาง ใบมะระ รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากหญ้านาง รากคนทา รากท้าวยายม่อม ผักกระโฉม ใบสันพร้าหอม ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง มหาสดำ ไคร้เครือ เนะรพูสี ลูกมะคำดีควาย รากมะนาว รากมะกรูด รากมะปราง รากมะเฟือง เป็นตัวยาสำคัญ

7. ยาแก้ลมวิงเวียน มีเกสรทั้งห้า กฤษณา สมุลแว้ง โกศพุงปลา โกศกระดูก เปราะหอม แฝกหอม อบเชย ชะมด เทียนทั้งห้า พิมเสน เกล็ดสะระแหน่ โกศหัวบัว โกศเชียง กระลำพัก ขอนดอก หญ้าฝรั่น จันทน์หอม จันทน์เทศ เปลือกชะลูด กานพลู จันทน์ชะมด ผิว ดอก และใบส้ม เป็นตัวยาสำคัญ

8. ยาแก้ไอ มีมะแว้ง ชะเอมเทศ สมอเทศ มะขามป้อม ส้มป่อย ใบสวาด มะนาว มะเขือขื่น กฤษณา รากส้มกุ้ง มะขามเปียก เป็นตัวยาสำคัญ

9. ยาบำรุงร่างกาย มีระย่อม โกฐเชียง โกฐหัวบัว โสม เห็ดหลินจือ แห้วหมู กระชาย กำลังวัวเถลิง กำลังหนุมาน กำลังช้างสาร เม็ดข่อย เปลือกตะโกนา เปลือกทิ้งถ่อน กำลังเสือโคร่าง หัวกวาวเครือ เป็นตัวยาสำคัญ

10. ยาแก้ประจำเดือนไม่ปกติ มีแก่นแสมสาร แก่นแสมทะเล ลูกคัดเค้า หางไหลแดง มะไฟเดือนห้า เอื้องเพชรม้า สารส้ม ฝาง แกแล คำฝอย คำไทย เทียนดำ ผิวมะกรูด ใบส้มเสี้ยว ใบส้มป่อย รากมะดัน เถาคันทั้งสอง ผักเป็ดแดง ผักเสี้ยนผี ขมิ้นเครือ ว่านชักมดลูก เป็นตัวยาสำคัญ

11. ยาขับน้ำคาวปลา มีรากเจตมูลเพลิง ขิง ดีปลี พริกไทย ผิวมะกรูด แก่นแสมทะเล ฝาง สารส้ม หัสคุณเทศ หางไหลแดง ว่านชักมดลูก เปลือกมะรุม กระเทียม ข่า ไพล ตะไคร้ เป็นตัวยาสำคัญ

12. ยาบำรุงโลหิต มีฝาง ดอกคำฝอย ผักเป็ดแดง โกฐเชียง ดอกคำไทย ดอกกรรณิการ์ สนิมเหล็ก โกฐทั้งห้า แกแล แก่นขี้เหล็ก ว่านสากเหล็ก เป็นตัวยาสำคัญ

13. ยากระษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อย มีเถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน มะคำไก่ รากแจง รากแดง เถาโคคลาน กำแพงเจ็ดชั้น หัวดองดึง หัวกระดาดทั้งสอง หัวอุตพิด หัวบุก หัวกลอย กำลังหนุมาน กำลังเสือโคร่ง เถาเมื่อย แส้ม้าทะลาย โรกแกง โรกขาว เป็นตัวยาสำคัญ

14. ยาขับปัสสาวะ มีหญ้าคา หญ้าชันกาด ขลู่ อ้อยแดง โคกกระสุน หญ้าหนวดแมว รากลำเจียก เหง้าสับปะรด รากมะละกอ รากไม้รวก บานไม่รู้โรย ใบอินทนิลน้ำ รากไทรย้อย กระเจี๊ยบ สารส้ม ต้นหงอนไก่ ผักกาดน้ำ เป็นตัวยาสำคัญ

15. ยาบรรเทาริดสีดวงทวาร มีโกฐกรักกรา อัคนีทวาร เพชรสังฆาต ผักแพวแดง แพงพวย เปลือกข่อย ขลู่ เป็นตัวยาสำคัญ

16. ยาถ่ายพยาธิ มีลูกมะเกลือสด รากทับทิม เมล็ดสะแก สะแกทั้งห้า รากเล็บมือนาง เปลือกมะหาด ชุมเห็ดเทศ เปลือกต้นไข่เน่า ต้นถอบแถบ ปวกหาด ลูกเล็บมือนาง เป็นตัวยาสำคัญ

17. ยาแก้ซางตานขโมย มีตานทั้งห้า ลูกสะแก เล็บมือนาง ถอบแถบ บอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย เปลือกต้นไข่เน่า แก่นมะเกลือ งวงตาล ชุมเห็ดเทศ เถาลิ้นเสือ รากทับทิม จุกหอม จุกกระเทียม มะหาด เป็นตัวยาสำคัญ

18. ยาบรรเทาอาการผื่นคันตามผิวหนัง มีขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ข่า ดอกชุมเห็ดเทศ ใบเล็บมือนาง ข้าวเย็นทั้งสอง ขันทองพยาบาท กำมะถันเหลือง น้ำสารส้ม ลิ้นทะเล ดินสอพอง กระเทียม เป็นตัวยาสำคัญ

19. ยาแก้กลากเกลื้อน มีขันทองพยาบาท ใบเหงือกปลาหมอ กะเม็ง ใบทองพันชั่ง ใบน้อยหน่า หนอนตายอยาก กำมะถันเหลือง เม็ดในสะบ้าใหญ่ กระเทียม สารส้ม เป็นตัวยาสำคัญ

20. ยาแก้หิด มีเมล็ดในน้อยหน่า กำมะถัน ลูกกระเบา ลูกกระเบียน ลูกสะบ้ามอญ เป็นตัวยาสำคัญ

21. ยาบรรเทาฝีแผล มีว่านหางจระเข้ ขมิ้นอ้อย ต้อยติ่ง หมากดิบ สีเสียด เสน ยางสน ใบมะกา กำมะถันเหลือง เป็นตัวยาสำคัญ

22. ยาทาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีว่านหางจระเข้ ว่านหางช้าง ดินสอพอง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย พิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ ลิ้นทะเล เป็นตัวยาสำคัญ

23. ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อย และแมลงกัดต่อย มีเกล็ดสะระแหน่ พิมเสน การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส เสลดพังพอน น้ำมันอบเชย น้ำมันกานพลู น้ำมันเขียว น้ำมันระกำ ตะไคร้หอม ว่านเพชรหึง เป็นตัวยาสำคัญ

24. ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ มี ฟ้าทะลายโจร มะข้ามป้อม ชะเอมเทศ สมอเทศ ลูกเบญกานี ผักคราด หญ้าดอกขาว น้ำประสานทองสะตุ พิมเสน เป็นตัวยาสำคัญ

25. ยาแก้ลิ้นเป็นฝ้า มี ลูกเบญกานี ชาดก้อน พิมเสน หมึกหอม ลิ้นทะเล ใบสวาด ใบฝรั่ง สีเสียด หมาก เป็นตัวยาสำคัญ

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า