สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาบำรุงร่างกายตำรับยาสามัญประจำบ้าน

มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรหลายชนิดที่พบว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ได้แก่ โสม เห็ดหลินจือ หัวกวาวเครือ โดยการออกฤทธิ์จะมีกลไกที่แตกต่างกันไป

โสม(ginseng)
มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งเป็นสมุนไพรในสกุล พาแนกซ์(Panax) และสารสำคัญในรากโสมแต่ละชนิดคือ จินเซโนซายด์(ginsenosides) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม ซาโปนิน(saponin) ที่มีปริมาณแตกต่างกันดังนี้

ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ปริมาณสารซาโปนินในรากโสม(คิดเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก)
โสมเอเชีย หรือโสมเกาหลี(Asia ginseng or Korean ginseng) Panax ginseng 2.1-4.4
โสมอเมริกัน(American ginseng) Panax quinquefolium 4.9
Notoginseng, Sanchi ginseng Panax notoginseng  

13.6-20.6

โสมญี่ปุ่น (Japanese ginseng) Panax japonica

สารสำคัญอื่นๆ ที่มีอยู่ในโสม ได้แก่
มาลทอล(maltol) กรดซาลิซัยลิค(salicylic acid) กรดวานิลลิค(vanillic acid) ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น(antioxidant)

สารกลุ่มพาแนคแซน(panaxan A, B, C, D & E) มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

โสมเป็นสมุนไพรที่ชาวจีนใช้เป็นยาปรับสภาพร่างกาย บำรุงกำลัง มานานหลายพันปีแล้ว ทำให้ร่างกายปรับตัวกับความเครียดรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่สมดุลได้ดีขึ้น เช่น การออกกำลังอย่างหนัก รังสีหรือสารเคมีบางชนิดที่รับเข้าไป หรือการเจ็บป่วยทางกาย เป็นต้น

ในทางเภสัชวิทยาพบว่าโสมมีฤทธิ์ในทางบำรุงร่างกายหลายอย่าง เช่น

1. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจในคนปกติลดลง ช่วยลดความดันในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือด ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน

2. ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยลดความเครียด ช่วยให้กระบวนการทางความคิดมีประสิทธิภาพ ทำให้มีสมาธิ สารจินเซโนซายด์ชนิดอาร์บีหนึ่ง และอาร์จีหนึ่ง จะมีฤทธิ์การสร้างสารสื่อประสาทหลายชนิดในสมอง หากได้รับในขนาดที่สูงจะมีฤทธิ์กล่อมประสาท โสมยังช่วยชะลอการทำลายเนื้อเยื่อของสมอง เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และจดจำในผู้สูงอายุ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เมื่อสมองขาดเลือดชั่วคราวก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์สมองตาย และลดการทำลายเนื้อเยื่อสมอง

3. ผลต่อระบบไฮโปธาลามัส-ต่อมพิทูอิรารี่-ต่อมหมวกไต(hypothalamic-pituitary-adreno-cortical(HPA) axis) โสมจะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบต่อมไร้ท่อ หรือระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย ทำให้ปรับตัวกับความเครียดได้ดีขึ้น สารจินเซโนซายด์ในโสมจะกระตุ้นให้ต่อมพิทูอิตารี่สร้างและหลั่งฮอร์โมน เอซีทีเอช(ACTH) หรือ แอดรีโนคอร์ติโคโทรปิคฮอร์โมน(adrenocorticotropic hormone) ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นชั้นคอร์เทกซ์(cortax)ที่ต่อมหมวกไต(adrenal gland) ให้สร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล(cortisol) ขึ้นมา ซึ่งร่างกายจะสร้างฮอร์โมนนี้เมื่ออยู่ในสภาวะเครียดอีกทีหนึ่ง

4. ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์กระตุ้นสารภูมิคุ้มกัน เช่น สารอินเตอร์เฟียรอน(interferon) และอินเตอร์ลิวคิน-ทู หรือไอแอล-ทู(interleukin-2, IL-2) และเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันชนิดเนเชอรัล คิลเลอร์ หรือที่เรียกว่า เอ็นเคเซลล์(natural killer (NK) cells) ก็มีฤทธิ์เพิ่มขึ้น เช่น สามารถทำลายเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้

เห็ดหลินจือ(Ganoderma lucidum)
สมุนไพรชนิดนี้ชาวจีนใช้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและบำรุงร่างกายมานานแล้ว พบว่าในเห็ดหลินจือมีสารจำพวกโพลีแซคคาไรด์(polysaccharides) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล(neutrophil)ให้มีการทำงาน ทำให้ในเลือดมีการเพิ่มระดับของอินเตอร์เฟียรอน-แกมมา(interferon-gamma) และอินเตอร์ลิวคิน-ทู(interleukin-2) ทำให้เอ็นเคเซลล์(NK cells) และไซโตท็อกซิค ที เซลล์(cytotoxic T cells) ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้เติบโตแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

กวาวเครือขาว (Pueraria candollei var. mirifica)
สารสำคัญที่อยู่ในหัวกาวเครือขาวที่เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน(phytoestrogens) ซึ่งจะออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง สารชนิดไมโรเอสทรอล(miroestrol) ดีออกซีไมโรเอสทรอล(deoxymiroestrol) และสารกลุ่มไอโซฟลาโวน(isoflavones) จะมีฤทธิ์ที่แรง เป็นไฟโตเอสโตรเจนที่พบในถั่วเหลืองหลายชนิด ส่วนชนิดจีนิสตีอิน(genistein) จีนีสติน(genistin) ดายซีอิน(daidzein) ดายซิน(daidzin) จะมีฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิงอ่อนกว่าสองชนิดแรกเป็นพันเท่า

ในผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง ตามตำรากวาวเครือขาวของหลวงอนุสารสุนทร จะใช้กวาวเครือขาวเป็นยาอายุวัฒนะ โดยปั้นให้มีขนาดเท่าเม็ดพริกไทยกินวันละ 1 เม็ด ในคนหนุ่มสาวห้ามใช้ยาชนิดนี้ สารไฟโตเอสโตนเจนในกวาวเครือขาวจะมีฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนฮอร์โมนเพศหญิงที่ขาดหายไปในสตรีสูงอายุที่หมดประจำเดือนแล้ว จึงมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกายในสตรีวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ ตอนกลางคืนมีเหงื่อออกมาก ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ชะลอภาวะเสื่อมต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนังที่เหี่ยวย่น ความจำ การเคลื่อนไหวร่างกาย บำรุงโลหิต มีการกินอาหารและการพักผ่อนที่เป็นปกติ

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า