สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยและแมลงกัดต่อย

เสลดพังพอนตัวเมีย หรือพญายอ(Clinacanthus nutans)
เมื่อใช้ภายนอก ทาบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย จะใช้ใบสดตำพอก หรือตำผสมกับเหล้าโรง จะช่วยบรรเทาอาการปวด อักเสบ และบวมได้รวดเร็ว เพื่อให้ตัวยาสามารถเกาะติดผิวหนังบริเวณที่เป็นได้ดีขึ้น จึงได้มีการพัฒนามาเป็นยาคาลาไมน์โลชั่น พญายอเป็นยาในบัญชีหลักแห่งชาติอีกชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณด้านอื่นๆ เช่น ใช้รักษาโรคเริมและงูสวัด ซึ่งจะอยู่ในรูปของครีม และอยู่ในรูปของกลีเซอรีน(glycerine)ที่ใช้ทารักษาแผลแอพตัส(apthous ulcer)ในปาก หรืออาจเป็นในรูปของพญายอออราเบส(orabase)

ตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus) น้ำมันตะไคร้หอม(Citronella oil)
มีสารสำคัญในน้ำมันที่ระเหยง่ายเป็นพวกเทอร์ปีน(terpenes) เช่น การบูร(camphor) ซินีออล(cineol) ยูจีนอล(eugenol) ลินาลูออล(linalool) ซิโตรเนลลาส(citronellal) และซิตราล(citral) มีสรรพคุณเพื่อไล่ยุงและแมลง

ตัวยาที่ใช้ภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย มีตัวยาเป็นน้ำมันระเหยง่าย และในน้ำมันระเหยง่ายบางชนิดมีสารเทอร์ปีนที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยาตำรับใช้ภายนอกสำหรับทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็น counter-irritant ได้แก่พวก เกล็ดสะระแหน่(menthol) พิมเสน(borneo camphor) การบูร(camphor) น้ำมันยูคาลิปตัส(eucalyptus oil) น้ำมันอบเชย(cinnamon oil) น้ำมันกานพลู(clove oil) น้ำมันเขียว(cajuput oil) น้ำมันระกำ(wintergreen oil) บางตัวยาก็มีฤทธิ์แก้การอักเสบ เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันเขียวมีซินีออล(cineol) ในน้ำมันเขียว ที่เป็นสีเขียวเพราะจะมีทองแดงปนอยู่ด้วยเล็กน้อย ส่วนสารสำคัญที่มีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบในน้ำมันระกำ คือ เมธิล ซาลิซัยเลท(methyl salicylate)

ยาสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการทางผิวหนังภายนอก ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนสรรพคุณอยู่ด้วย เช่น

ขมิ้นชัน(Curcuma longa) ขมิ้นอ้อย(Curcuma zedoaria)
ขมิ้นเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นเครื่องสำอาง บำรุงผิวพรรณ และใช้รักษาอาการผื่นคัน รักษาแผล ฝี หนอง และสิวมาช้านาน ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขมิ้นชันที่สนับสนุนสรรพคุณในการบำรุงผิวและรักษาโรคผิวหนังมีหลายอย่างดังนี้

1. มีรายงานการวิจัยทางคลินิกพบว่า สารสีเหลืองกลุ่มเคอร์คูมินอยด์(curcuminoids) ทั้งเคอร์คูมิน(curcumin) และอนุพันธ์ของเคอร์คูมิน รวมทั้งน้ำมันขมิ้น มีฤทธิ์ต้านอักเสบ สามารถลดการอักเสบของแผลหลังผ่าตัดได้

2. ในน้ำมันขมิ้นมีฤทธิ์ต้านฮีตามีน(antihistamine) ช่วยบรรเทาอาการแพ้และผื่นคันได้

3. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองจะมีอยู่ในสารเคอร์คูมิน พารา-โทลิลเมธิลคาร์บินอล(p-tolylmethylcarbinol) และในน้ำมันระเหยง่าย จึงสามารถรักษาแผล ฝี หนองได้

4. เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง สามารถฆ่าได้ด้วยฤทธิ์ของสารสกัดขมิ้นกับแอลกอฮอล์หรือคลอโรฟอร์ม เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ได้แก่ เชื้อ Microsporum, Trichophyton, Epidermophyton สามารถยังยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อนี้ได้ด้วยฤทธิ์ของผงขมิ้น น้ำมันระเหยง่าย

5.สารเคอร์คูมิน และอนุพันธ์ของเคอร์คูมิน จะช่วยชะลอการเหี่ยวย่นของผิวหนังได้เพราะมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและต้านอนุมูลอิสระ

ข่า(Alpinia galangal หรือ Languas galangal)
เชื้อรา Microsporum gypseum, Trichophyton rubrum, Epidermophyton floccosum ที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก และเชื้อรา Candida albicans ที่เป็นสาเหตุของตกขาว ลิ้นเป็นฝ้า สามารถใช้สารสกัดข่ากับแอลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์ม กำจัดได้ผลดี แต่จะได้ผลเพียงเล็กน้อยถ้าสกัดด้วยน้ำ และจะไม่มีผลกับเชื้อราเลยถ้าใช้น้ำคั้นสดจากข่า สารออกฤทธิ์ต้านเชื้อราที่สำคัญคือ 1’-acetoxychavicol acetate และ 1’-acetoxyeugenol acetate นอกจากนี้ สารยูจินอล(eugenol) และสารสองชนิดนี้ยังมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบด้วย

กระเทียม(Allium sativum)
น้ำมันระเหยง่าย สารสกัดจากน้ำ สารสกัดจากแอลกอฮอล์ และน้ำคั้นจากกระเทียม มีสารสำคัญคือ allicin, ajoene และ diallyl trisulfide มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด เช่นยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Bacilus sp., Staphylococcus aureus, E. coli, Pseudomonas aeruginosa ยั้บยั้งเชื้อรา Candida sp., Cryptococcus sp. และเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก

ใบทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus)
มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก คือ Trichophyton rubrum โดยสกัดจากใบและกิ่งกับน้ำ แอลกอฮอล์ หรือคลอโรฟอร์ม พบว่าได้ผลน้อยมากเมื่อใช้สารสกัดจากน้ำ และสามารถต้านเชื้อราได้พอควรเมื่อใช้สารที่สกัดจากแอลกอฮอล์หรือคลอโรฟอร์ม เมื่อเทียบกับยามาตรฐานพวก กริซีโอฟูลวิน(griseofulvin) และนิสตาติน(nystatin)

ใบเหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus และ Acanthus ilicifolius)
ใบเหงือกปลาหมอชนิด A. ebracteatus ที่สกัดด้วยน้ำ สามารถลดการสร้างสารพวก ecosanoid ที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ ซึ่งในสมัยโบราณได้ใช้เหงือกปลาหมอต้มน้ำอาบเพื่อรักษาอาการผื่นคันตามผิวหนัง

ลูกกระเบา(Hydnocarpus anthelminthicus)
น้ำมันกระเบาที่ได้จากการบีบเมล็ดของกระเบาใหญ่ องค์ประกอบส่วนใหญ่ทางเคมีจะเป็น chaulmoogric acid และ hydnocarpic acid สามารถใช้รักษาโรคเรื้อน เรื้อนกว้าง และหิดได้

ว่านหางจระเข้(Aloe vera)
ในวุ้นว่านหางจระเข้มีสารออกฤทธิ์คือ แมนโนสฟอสเฟต(mannose-6-phosphate) ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการอักเสบ ลดการสร้างสาร thromboxane B2 และ prostaglandin F2 ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาส(fibroblast) ให้สร้างคอลลาเจน และโปรตีโอไกลแคน(proteoglycan) กระตุ้นไฟโบบลาสและสารอะซีแมนแนน(acemannan) ให้ออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์แมกโครฟาจ(macrophage) เพื่อเร่งกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่จึงทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ต้อยติ่ง(Hygrophila erecta หรือ Hydrophila Quadrivalvis)
เมื่อเมล็ดต้อยติ่งถูกน้ำจะมีสารพองตัวเป็นเมือกออกมา ในสมัยโบราณมักใช้เมล็ดต้อยติ่งที่แช่น้ำจนพองแล้วมาพอกปิดแผล ฝี ให้ดูดซับหนองจากแผลให้หายเร็วขึ้น

หมากดิบ สีเสียด ลูกเบญกานี
มีแทนนินเป็นสารสำคัญ สามารถนำมาล้างแผล รักษาแผล หรือใช้กวาดลิ้นที่เป็นฝ้าได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ฝาดสมาน

กำมะถันเหลือง(sulfur)
มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด หรือใช้รักษาสิว หิด ผิวหนังที่อักเสบเนื่องจากมีการผลิตต่อมไขมันมากเกินไปจนทำให้มีอาการคันและแสบร้อน และรักษาโรคผิวหนังเรื้อรังที่เรียกว่า โรซาซี่(rosacea) ซึ่งที่ผิวหนังบริเวณจมูก หน้าผาก และแก้มจะมีสีแดง เนื่องจากหลอดเลือดฝอยมีการขยายตัว และมีตุ่มที่เป็นหนองคล้ายสิวขึ้นมา ต่อมาบริเวณจมูกผิวหนังจะหยาบและหนาขึ้น

ดินสอพอง(marl)
เป็นสารแคลเซียม คาร์บอเนต(calcium carbonate) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช้ทาบรรเทาอาการผื่นคันบนผิวหนัง เพราะเมื่อทาจะทำให้รู้สึกเย็นที่ผิวหนัง

ลิ้นทะเล(cuttle-fish bone, sea biscuit)
เป็นกระดองที่อยู่กลางลำตัวของหมึกกระดอง ลักษณะจะแข็ง หนา และพรุน องค์ประกอบทางเคมีส่วนใหญ่จะเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูน ในสมัยโบราณใช้เป็นยากวาดคอเด็กแก้เม็ดที่เกิดในปากและคอได้ดี โดยนำลิ้นทะเลมาปิ้งไฟพอเป็นสีเหลืองแก่แล้วนำมาผสมกับยา

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า