สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยากระษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อยและยาขับปัสสาวะ

ยากระษัยเส้น หรือยาแก้ปวดเมื่อย
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณตัวยาสมุนไพรแก้ปวดเมื่อย ได้แก่

เถาวัลย์เปรียง(Derris scandens)
เมื่อสกัดเถาวัลย์เปรียงด้วยน้ำแล้วฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาว จะมีฤทธิ์ต้านอักเสบที่อุ้งเท้า ลดสารลิวโคไทยอิน บี(leukotriene B)ที่ทำให้เกิดการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น(antioxidant effect)

เถาโคคลาน(Anamirta cocculus)
สารสกัดจากเถาโคคลานมีฤทธิ์ต้านอักเสบ และลดการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบได้

ดองดึง(Gloriosa superba)
มีสารสำคัญที่เป็นอัลคาลอยด์ ชื่อ โคลชิซีน ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของข้อที่มีอาการปวด บวม แดง ร้อน เนื่องจากโรคเกาท์ที่มีระดับของกรดยูริกในข้อและเลือดสูง แต่โคลชิซีนไม่สามารถเร่งการขับยูริกออกจากร่างกายได้ ในหัวของดองดึงจะมีความเป็นพิษสูง อาจทำให้ถึงตายได้ถ้าใช้ในขนาดที่สูง ดังนั้นจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

ยาขับปัสสาวะ
ในตำรับยาสามัญประจำบ้าน มีสมุนไพรหลายชนิดที่ใช้เป็นตัวยาขับปัสสาวะ เช่นใน หญ้าหนวดแมว ขลู่ รากมะละกอ เหง้าสับปะรด โคกกระสุน กระเจี๊ยบ สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะในสมุนไพรเหล่านี้ยังไม่ทราบว่าเป็นสารใด แต่สมุนไพรบางชนิด เช่น รากมะละกอ หญ้าหนวดแมว ขลู่ จะมีปริมาณของเกลือแร่ โซเดียม และโพแทสเซียมที่สูง เมื่อกินเข้าไปจะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ โดยเกลือแร่จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และโมเลกุลของโซเดียม และโพแทสเซียมที่ถูกขับออกทางไต ก็จะช่วยดึงน้ำออกมาทางปัสสาวะ จึงออกฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ในผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรที่มีเกลือแร่สูง และสารเมธิลริพาริโอโครมีน เอ(methylripariochromene A) ที่อยู่ในสมุนไพรหญ้าหนวดแมว ก็มีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วยเช่นกัน สมุนไพรหญ้าหนวดแมวในประเทศทางยุโรปก็มีเช่นกัน แต่เป็นชนิด Orthosiphon spicatus หรือ O. stamineus จะใช้ใบและยอดเพื่อรักษาโรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย อักเสบ ขับนิ่ว ส่วนกระเจี๊ยบแดง (Hibiscus sabdariffa) จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ด้วย

การแพทย์แผนไทยจะใช้สมุนไพรขับปัสสาวะในการรักษาอาการขัดเบา ช่วยให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น แต่แพทย์แผนปัจจุบันจะใช้ยาขับปัสสาวะเป็นยากลุ่มแรกในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง เพื่อให้ขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกายให้มาก ทำให้ความดันลดลง เมื่อใช้ยาขับปัสสาวะไม่ได้ผล จึงค่อยเพิ่มยาที่มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า