สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มาลาเรีย(Malaria)

หรือไข้มาลาเรีย ไข้จับสั่น ไข้ป่า เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมีอยู่หลายชนิด แต่เชื้อสำคัญที่ทำให้เกิดไข้มาลาเรียในบ้านเรามีอยู่ 2 ชนิด คือ พลาสโมเดียมฟาลซิพารัม กับพลาสโมเดียมไวแวกซ์มาลาเรีย

มาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม มักทำให้เกิดการดื้อยาและภาวะแทรกซ้อนได้มาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

มาลาเรียชนิดไวแวกซ์ มีภาวะแทรกซ้อนและการดื้อยาเกิดขึ้นน้อย เชื้อนี้จะหลบซ่อนอยู่ในตับได้นานและกำเริบได้บ่อยโดยไม่ต้องได้รับเชื้อเข้ามาใหม่

มักพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้จากประวัติอยู่ในเขตป่า หรือกลับจากเขตที่มีมาลาเรีย หรือเคยได้รับเลือด หรือเคยเป็นไข้มาลาเรียมาก่อน

สาเหตุ
เกิดจากยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียซึ่งเป็นพาหะนำโรคมากัด ซึ่งเป็นเชื้อมาลาเรียที่เป็นสัตว์เซลล์เดียว หรือโปรโตซัวเช่นเดียวกับบิดอะมีบา

ระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 9-14 วันในชนิดฟาลซิพารัม และประมาณ 12-17 วัน หรืออาจนาน 6-12 เดือน ในชนิดไวแวกซ์

อาจมีระยะฟักตัวสั้นกว่านี้ถ้าเกิดจากการให้เลือด และอาจมีระยะฟักตัวยาวนานกว่านี้ถ้ามีการกินยาป้องกันมาลาเรีย

ส่วนใหญ่โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่อยู่ในเขตป่าเขาแล้วถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเขตป่าอาจรับเชื้อจากการได้รับเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อมาลาเรียมา หรือได้รับโดยบังเอิญจากสนามบินที่มียุงก้นปล่องที่มีเชื้อติดมาในเครื่องบินแต่พบได้น้อยมาก

อาการ
เมื่อยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 9-17 วันจะทำให้เกิดอาการขึ้น ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วยในระยะ 2-3 วันแรก ในเวลาต่อมาจะมีอาการไข้จับสั่นเป็นเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค

อาการจับไข้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะหนาวสั่น ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่นมาก เริ่มมีไข้ขึ้น ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาจคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจกินเวลานาน 20-60 นาทีในระยะนี้

2. ระยะร้อน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะมาก อาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา หน้าแดง ตาแดง กระสับกระส่าย เพ้อ กระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว อาจคลื่นไส้ อาเจียน ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ หรืออาจชักได้ถ้าเป็นกับเด็ก อาจใช้เวลานาน 2 ชั่วโมงในระยะนี้

3. ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกชุ่มทั้งตัว แต่ไข้จะลดลงเป็นปกติ และรู้สึกอ่อนเพลียและหลับไป ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ มักจับไข้วันเว้นวันหรือทุก 48 ชั่วโมง จะรู้สึกสบายดีเมื่อไม่จับไข้ ในปลายสัปดาห์ที่ 2 มักจะคลำได้ม้ามโต และจะมีไข้วันเว้นวันอยู่นาน 6 สัปดาห์หรือ 3 เดือนถ้าไม่ได้รับการรักษาแล้วก็จะหายไปเอง ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้องอาจเป็นใหม่ได้อีกแม้จะหายไปแล้วหลังจาก 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน แต่อาการจะน้อยกว่าครั้งแรก มักมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย แต่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง กว่าจะหายขาดบางคนอาจใช้เวลานานถึง 2-3 ปี จึงเรียกว่า มาลาเรียเรื้อรัง

ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม มักจับไข้ทุกวันหรือทุก 36 ชั่วโมง แต่ไม่เวลา อาจเป็นทั้งวันหรือวันละหลายครั้ง อาจมีไข้ต่ำๆ อยู่เรื่อยแม้ไม่ใช่ระยะจับไข้และรู้สึกไม่สบาย หรืออาจมีอาการปวดท้องท้องเดินร่วมด้วยในบางราย ในวันที่ 7-10 ของไข้จะพบม้ามโต ไข้จะลดลงภายใน 3-5 วันถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงตายได้ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง จึงเรียกว่า มาลาเรียชนิดร้ายแรง

สิ่งตรวจพบ
มักพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้สูงประมาณ 40 องศาเซลเซียส หน้าแดง ตาแดง ม้ามโต หรืออาจมีตับโต มีเริมที่ริมฝีปาก ซีดเหลือง ปัสสาวะแดงเข้ม หรือปัสสาวะดำเหมือนน้ำโคล่า หรืออาจจะพบเพียงอาการไข้อย่างเดียวก็ได้

ในเด็กที่เป็นเรื้อรัง อาจมีลักษณะพุงโรก้นปอด ขาดอาหาร ซีด ม้ามโต

ในรายที่เป็นมาลาเรียขึ้นสมอง จะมีอาการเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ

ภาวะแทรกซ้อน
มักเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ
-มาลาเรียขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะมาก ซึม สับสน ชักกระตุกทั้งตัว หมดสติ

-อาการชักโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ซึ่งอาจพบได้ในเด็ก

-เนื่องจากการอุดตันหลอดเลือดแดงฝอยที่ไตอาจทำให้มีภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้น ผู้ป่วยมีปัสสาวะออกน้อย หรือไม่ออกเลย มีอัตราการตายสูง มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

-ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืดเป็นลม ใจสั่น เหงื่อออก เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มักพบได้ในเด็กและหญิงมีครรภ์

-ผู้ป่วยจะมีอาการหอบ ฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบเนื่องจากปอดบวมน้ำ

-มักพบอาการดีซ่าน และตับโตร่วมกับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น

-ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักพบร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด

-ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

-ภาวการณ์เสียดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์

-เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกง่าย และไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นไม่ทันจึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง

ผู้ป่วยมักมีอาการซีด เหลือง ปัสสาวะดำ เรียกว่า ไข้ปัสสาวะดำ ในกรณีที่เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกรุนแรง ภาวะนี้อาจทำให้เกิดไตวายแทรกซ้อนได้ มักพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาควินิน

-มักทำให้มีเลือดออกทั่วร่างกายรุนแรงและเป็นอันตรายถึงตายได้ในภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกาย

-มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นมาลาเรีย และยังมีผลต่อทารกในครรภ์ด้วย เช่น อาจเกิดภาวะแท้งบุตร ทารกเสียชีวิต คลอดก่อนกำหนด หรือทารกน้ำหนักน้อย

การรักษา
1. ควรไปเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียถ้าไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค และให้การรักษาไปตามอาการและให้ยารักษามาลาเรียตามชนิดของเชื้อที่พบถ้าเป็นมาลาเรียจริง

ก. สำหรับมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม ให้ยารักษามาลาเรียชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้

-ควินิน ในผู้ใหญ่ให้ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง ร่วมกับเตตราไซคลีน ขนาด 250 มก. ทุก 6 ชั่วโมง หรือร่วมกับดอกซีไซคลีน วันละ 200 มก. เป็นเวลา 7 วัน

-เมโฟลควีน ขนาดปกติ ผู้ใหญ่ 3 เม็ดในครั้งแรก และอีก 2 เม็ดในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา รวม 5 เม็ด

-เมโฟลควีน ขนาดปกติร่วมกับ เตตราไซคลีน ขนาด 250 มก. ทุก 6 ชั่วโมง หรือดอกซีไซคลีน วันละ 200 มก. ทุก 6 ชั่วดมง หรือ ดอกซีไซคลีน วันละ 200 มก. เป็นเวลา 7 วัน

-อาทีซูเนต ขนาดปกติ ผู้ใหญ่ให้ 2 เม็ดในครั้งแรก และอีก 1 เม็ดในครั้งต่อไปทุก 12 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 12 เม็ด แบ่งให้ 5 วัน

-อาร์ทีซูเนต ขนาดปกติ แบ่งให้ 5 วัน หลังจากนั้นให้เมโฟลควินขนาดปกติ

-อาร์ทีซูเนต ขนาดครึ่งหนึ่งของขนาดปกติ ผู้ใหญ่ให้ 6 เม็ด แบ่งให้ใน 2 วันครึ่ง โดยครั้งแรกให้ 2 เม็ด ต่อไปให้ 1 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้ เมโฟลควีน ในผู้หใญ่ให้ 3 เม็ดครั้งเดียว

-อาร์ทีซูเนต ผู้ใหญ่ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด นาน 2 วัน รวม 800 มก. หลังจากนั้นให้ เมโฟลควีนขนาดปกติ

ข. สำหรับมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ให้คลอโรควีน โดยแบ่งให้ 3 วัน หลังจากนั้นให้ ไพรมาควีน วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน เพื่อกำจัดเชื้อมาลาเรียที่หลบซ่อนอยู่ในตับให้หมดไป แต่อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พีดี ควรหยุดยาและดื่มน้ำมากๆ แล้วรีบส่งไปโรงพยาบาลด่วนถ้าพบอาการดังกล่าว

2. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 5 วัน อาจเป็นเพราะมีการดื้อยา หรือมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ปอดอักเสบ วัณโรค ท่อน้ำดีอักเสบ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เป็นต้น อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษอื่นๆ และให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ

3. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด่วนถ้ามีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นมาลาเรียขึ้นสมอง เช่น ซึม เพ้อ ชัก หรือหมดสติ หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ซีดมาก ดีซ่าน ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย หอบ เป็นต้น

แพทย์มักให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ ให้เลือด ล้างไต เป็นต้น อาจต้องให้ควินินหรืออาร์ทีซูเนตฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อรักษามาลาเรียในระยะแรก และค่อยเปลี่ยนเป็นยากินเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยมาลาเรียอาจมีไข้สูงโดยไม่หนาวสั่น หรือหนาวสั่นวันละหลายครั้ง หรือไข้สูงตลอดเวลา อาจมีปวดเมื่อยตามตัวตัวและกล้ามเนื้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจพบได้ในโรคอื่นๆ จึงควรซักประวัติการเข้าป่าหรือประวัติการรับเลือดใน 2 สัปดาห์ถึง 2 ปี หรืออาจติดเชื้อทางอื่น เช่น ลูกที่เกิดจากมารดาที่เป็นมาลาเรีย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ เพื่อจะได้เจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียต่อไป

2. โรคมาลาเรียในระยะแรกในบางรายอาจตรวจไม่พบเชื้อก็ได้ ดังนั้น ภายใน 12-24 ชั่วโมง หรือขณะมีไข้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือดอีกครั้ง เพราะมีโอกาสพบเชื้อได้มากขึ้นจากการตรวจเลือดบ่อยๆ และอาจทำให้ตรวจพบเชื้อไข้มาลาเรียได้ยากขึ้นในผู้ที่กินยาป้องกันหรือกินยารักษามาลาเรียมาบ้างแล้ว แม้จะตรวจเลือดไม่พบเชื้อในผู้ที่มีไข้หรือมีประวัติสงสัยว่าติดเชื้อมาลาเรีย ก็ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ตรวจเลือดบ่อยๆ และอาจตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เพื่อให้พบความชัดเจนยิ่งขึ้น

3. หากผู้ป่วยมีไข้กำเริบภายใน 2 เดือนหลังจากรักษาหายแล้ว โดยไม่มีประวัติการติดเชื้อครั้งใหม่ อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อมาลาเรียทั้งชนิดฟาลซิพารัมและชนิดไวแวกซ์พร้อมกัน แต่ได้รับการรักษาเพียงเชื้อตัวใดตัวหนึ่ง จึงทำให้อีกชนิดหลบซ่อนอยู่ในตับจนทำให้อาการกำเริบขึ้น หรืออาจเพราะได้รับยาไม่ถูกต้องหรือเชื้อดื้อยา ในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องเจาะเลือดตรวจหาเชื้ออีกครั้ง

4. การได้รับยาไม่ครบจะทำให้เกิดมาลาเรียกำเริบได้อีก และขณะจับไข้หนาวสั่นไม่ควรกินยารักษามาลาเรีย เพราะผู้ป่วยอาจได้ยาไม่ครบจากการอาเจียนได้ ควรให้ยาลดไข้หรือแก้อาเจียนนำไปก่อนสัก ½ – 1 ชั่วโมง แล้วจึงให้ยารักษามาลาเรียเมื่อไข้ทุเลาลงแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเวียนหัวและอาเจียนได้จึงไม่ควรลุกหรือเดินทันที

5. อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หนาวสั่นแต่ไม่มีประวัติติดเชื้อมาลาเรีย จึงควรตรวจดูอาการให้ถ้วนถี่ด้วย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ก็ได้ หรืออาจเกิดจากสาเหตุโรคปอดอักเสบระยะ 24 ชั่วโมงแรก ท่อน้ำดีอักเสบ สครับไทฟัส เล็บโตสไปโรซิส โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

การป้องกัน
1. ควรป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องกัดโดยการนอนกางมุ้ง ทายากันยุงเมื่อต้องเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา

2. ในปัจจุบันมักไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรียล่วงหน้าเพราะได้ผลไม่ดีนัก แต่มักจะแนะนำให้มีการตรวจรักษาเมื่อมีอาการที่น่าสงสัยหรือมีประวัติของโรคนี้เกิดขึ้น หรือให้พกยารักษามาลาเรีย เช่น ควินิน เมโฟลควีน หรืออาร์ทีซูเนต ไว้สำรองในยามฉุกเฉินเมื่อไม่สามารถตรวจเลือดได้ หากต้องเข้าไปอยู่ในถิ่นที่มีเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยาหลายชนิดนานเกิน 2 สัปดาห์ โดยใช้ในขนาดที่ใช้รักษามาลาเรีย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า