สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ทั้งแม่และลูก จะเรียนรู้การให้นมแม่มากขึ้นกว่าเดิมเมื่อวันเวลาผ่านไป การดูดของลูก จะทำให้ปริมาณน้ำนมมีมากขึ้น แต่คุณแม่ก็อาจมีข้อสงสัยในบางครั้งว่า วันนี้ทำไมลูกร้องกวนมากจะมีน้ำนมพอหรือเปล่า หรือคุณแม่อาจเกิดความไม่มั่นใจ ที่ไปได้ยินคำพูดของเพื่อนหรือญาติๆ น้ำนมจะผลิตได้น้อยลงเพราะความเครียดที่เริ่มขึ้นนี้

คำแนะนำเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจ
-จะทำให้คุณแม่มีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากขึ้น หากได้พูดคุยกับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาแล้ว ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ หรือพูดคุยกับหมอ พยาบาล เป็นต้น

-ให้คุณแม่ลองฟังเสียงลูกเวลาดูดนมดูว่ามีเสียงดังเวลากลืนนม และตามด้วยเสียงผ่อนลมหายใจออกหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจว่าลูกจะได้รับนมเข้าไปมากพอ ถ้ามีเสียงดังกล่าวแสดงว่าน้ำนมไหลพุ่งดี หรืออาจลองบีบน้ำนมออกมาให้เห็นกับตา ถ้ายังไม่เชื่อว่ามีน้ำนมให้ลูกเพียงพอ

-บางคนคิดว่า คุณค่าของนมแม่สู้นมผสมไม่ได้ เพราะจะดูใสกว่า แต่ความจริงแล้ว นมแม่ 2 ออนซ์ มีสารอาหารเท่ากับนมผสมถึง 4 ออนซ์ ในนมแม่ส่วนท้ายจะมีไขมันสูง ใน 1 ออนซ์จะให้พลังงานพอๆ กับครีมเลยทีเดียว นมแม่เป็นแหล่งอาหารที่อุดมเพียบพร้อมสำหรับลูก ลูกจะได้รับสารอาหารและพลังงานมากมายถ้าได้กินนมแม่ แม้ปริมาณที่กินเข้าไปจะน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม

-เต้านมที่คัดมากหรือน้อยไม่ได้หมายความว่าจะมีน้ำนมมากหรือน้อย เมื่ออยู่โรงพยาบาลในระยะแรกอาจจะรู้สึกคัดตึงเต้านม เพราะมีจะมีน้ำนมและเลือดมาเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้น แต่ต่อมาเมื่อร่างกายปรับตัวเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น เต้านมก็จะคัดตึงน้อยลง เมื่อลูกดูดนมอย่างสม่ำเสมอ น้ำนมก็จะผลิตออกมาตลอดเวลาทำให้มีน้ำนมสำหรับลูกอยู่เสมอ

-คุณแม่ต้องพักผ่อนให้มากขึ้นถ้าลูกร้องกวนมาก คุณแม่จะต้องการพลังงานในการสร้างน้ำนมและปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่ในระยะเริ่มต้นของการให้นม จึงต้องนอนหลังพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนแต่หัวค่ำ และลดการทำงานอย่างอื่นลงไป

-ถ้าลูกร้องมาก บางครั้งเป็นเพราะต้องการให้คุณอุ้ม คุณแม่ควรอุ้มลูกให้ผิวหนังของลูกกับคุณแม่สัมผัสกันมากที่สุด ลูกจะสงบลงได้เพราะไออุ่นจากผิวกายแม่ แต่บางครั้งก็ร้องเพราะง่วงนอน หรือถูกกระตุ้นด้วยการมีคนเล่นมากเกินไป ลูกจะรู้สึกผ่อนคลายและหลับลงได้เพราะการโอบกอดของคุณแม่

-ลักษณะเฉพาะตัวของทารกแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจร้องมาก แม้แต่ฝาแฝด คนหนึ่งอาจจะร้องมาก และอีกคนอาจจะกินนมแล้วนอนก็ได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันก็ตาม

การทำให้น้ำนมแม่มีมากพอกับความต้องการของลูก มีปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการคือ
1. ฮอร์โมนโปรแลกตินจากร่างกายคุณแม่จะทำให้มีการผลิตและหลั่งน้ำนม เมื่อลูกดูดนมแม่มากขึ้น โปรแลกตินก็จะถูกกระตุ้นให้ผลิตออกมามากเช่นกัน

2. การดูดของทารกจะทำให้น้ำนมหลั่งออกมาจนหมดเต้า ด้วยกลไกน้ำนมพุ่ง

กลไกสำคัญจากกลไกน้ำนมพุ่ง จะทำหน้าที่ในการบีบน้ำนมในท่อน้ำนมฝอย และเนื้อต่อมนมให้พุ่งออกมาจนหมด ทำให้ทารกได้รับนมส่วนท้ายที่มีปริมาณไขมันมาก เมื่อน้ำนมหลั่งจนหมดก็จะมีการสร้างน้ำนมใหม่ขึ้นมาแทน

กลไกน้ำนมพุ่งยังอาจทำงานได้ไม่ดีในช่วงแรกๆ อาจมีนมหยดเปื้อนเสื้อผ้า หรือนมไหลไม่ทันใจจึงทำให้ลูกร้อง คุณแม่สามารถทำให้กลไกนี้ทำงานดีขึ้นได้ โดยในสัปดาห์แรกควรปฏิบัติดังนี้

-ควรให้ความสนใจทั้งหมดอยู่ที่ตัวลูกในขณะที่ให้ลูกดูดนมแม่ ไม่มีการสนทนา หรือคุยโทรศัพท์ อยู่ในห้องที่สงบ ทำจิตใจให้ผ่อนคลายและสบายมากที่สุด ให้มองหน้าลูกและคิดว่าการที่คุณและลูกได้มีโอกาสใกล้ชิด และมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่กัน เป็นเรื่องที่โชคดีเพียงใด

-ไม่ควรออกไปทำธุระนอกบ้านเป็นเวลานานๆ ไม่ควรเดินทางไกลๆ ในช่วงนี้ไม่ควรอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ให้รับประทานอาหารให้เพียงพอ เพื่อชดเชยกับเวลาที่ต้องตื่นในตอนกลางคืน คุณแม่ควรหาเวลาพักผ่อนนอนหลับในเวลากลางวันบ้าง

-เพื่อเป็นการควบคุมกลไกน้ำนมพุ่งให้ทำงานได้ดี ควรมีการกระตุ้นเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ในตอนกลางวันถ้าลูกนอนหลับยาว ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง คุณแม่ควรปลุกลูกขึ้นมาดูดนมแม่ด้วย และถ้ารู้สึกคัดเต้านมในตอนกลางคืน ก็ให้อุ้มลูกขึ้นมาดูดนมทันที

-การที่น้ำนมหยดหลังจากให้นมไปแล้ว แสดงว่ากลไกน้ำนมพุ่งเริ่มทำงานมากขึ้นทั้งในช่วงที่ลูกกำลังดูด และหลังจากนั้น ถ้าน้ำนมเกิดไหลหยดออกมาให้อุ้มลูกขึ้นมาดูดนมทันที แม้เพิ่งจะดูดเสร็จไปก็ตาม ลักษณะเช่นนี้เป็นการบอกให้รู้ว่า การดูดของลูกสัมพันธ์กับการไหลของน้ำนม เมื่อลูกดูดในครั้งต่อไปก็จะมีน้ำนมไหลพุ่งออกมาเอง

-5 นาที ก่อนให้นมลูก ถ้ามีโอกาสควรทำจิตใจให้สงบ โดยนั่งนิ่งๆ หลับตา ปล่อยสมองให้ว่างเปล่าสบาย และไม่คิดอะไรเลย

-ก่อนให้ลูกดูดนมควรดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนเสมอ ทุกมื้อที่ให้นมลูกควรนั่งในที่สบายที่เดิมเป็นประจำ การกระทำกิจวัตรที่ซ้ำๆ กัน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อการกระทำ ต่อมาทุกครั้งที่นั่งลงให้นมในที่เดิมร่างกายก็จะควบคุมให้เกิดกลไกน้ำนมพุ่งขึ้นมา

-ในขณะที่ให้นมลูกในช่วงแรก ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังฝึกหัดให้นม ควรหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนจากภายนอกให้มากที่สุด เช่น การยกหูโทรศัพท์ออกจากเครื่องชั่วคราว

พยายามทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะลูกต้องการแม่ที่ไม่เคร่งเครียด แม้ว่าบ้านจะดูไม่สะอาดเหมือนก่อนก็ไม่ควรเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นอารมณ์ ภาระงานต่างๆ ในบ้านควรให้คนอื่นทำแทนไปก่อนในระยะนี้ การให้นมแม่จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เมื่อกลไกน้ำนมพุ่งทำงานได้ดี

การเปลี่ยนแปลงในสัปดาห์ที่ 4-6
ทารกบางรายอาจหันไปกินนมจากขวดในช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 นี้ เพราะคุณแม่คิดว่านมของตัวเองมีไม่พอ เนื่องจาก
1. ทารกจะร้องกวนมากขึ้นในช่วงอายุ 4-6 สัปดาห์ ไม่ว่าจะกินนมแม่หรือนมผสม เพราะมีความรู้สึกไวต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น ทั้งเวลาที่รู้สึกร้อน เย็น หรือเหงา จึงทำให้แม่เข้าใจว่านมไม่พอทุกครั้งที่ลูกร้องกวน

2. คุณแม่จะรู้สึกแข็งแรงขึ้น หลังจากคลอดได้ 4-6 สัปดาห์ สามารถทำอะไรได้มากขึ้น และพักผ่อนน้อยลง บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยเพราะต้องไปทำงานนอกบ้านด้วย ดังนั้น ลูกจะร้องกวนมากขึ้นได้ถ้าแม่เหนื่อยและพักผ่อนไม่เพียงพอ

คุณแม่ต้องพักให้มากขึ้นถ้าลูกร้องกวนมาก ไม่เครียด ในการให้นมลูกแต่ละครั้งควรให้นานขึ้นเล็กน้อยและต้องเป็นที่สงบๆ

คุณแม่บางรายเกิดความท้อใจและเลิกให้นมแม่ไปในช่วงนี้ เพราะอาจรู้สึกว่าไม่มีเวลาพักผ่อน ทำอะไรที่เป็นส่วนตัวก็ไม่ได้ ต้องตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนบ่อยๆ ต้องใช้เวลาไปกับการอุ้มลูกให้ดูดนมตลอดไป

แต่ถ้าคุณแม่ลองคิดให้ดีจะรู้ว่าช่วงเวลาการให้นมในชีวิตลูกเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ช่วงเวลาเช่นนี้จะไม่หวนกลับมาอีกถ้าปล่อยให้ผ่านไปแล้ว การให้นมแม่จะง่ายขึ้นหลังจากผ่านสัปดาห์ที่ 4-6 ไปแล้ว แทนที่ลูกจะกินนม 10-12 มื้อต่อวัน ก็จะลดเหลือเพียง 8 มื้อต่อวัน และลูกจะนอนได้นานขึ้นในช่วงกลางคืน การทำงานของกลไกน้ำนมพุ่งก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ บางมื้อแค่ 5-10 นาทีที่ลูกดูดนมก็ทำให้เขาอิ่มแล้ว เรื่องเจ็บหัวนม เต้านมคัด นมไหลเปื้อนเสื้อผ้า ที่เป็นปัญหาเล็กน้อยก็จะค่อยๆ หมดไป

ทั้งแม่และลูกจะได้เรียนรู้ ฝึกหัด ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในช่วงหกสัปดาห์แรกนี้ แม่ก็จะฟื้นตัวจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร เหมาะสมที่ทำหน้าที่แม่ได้มากขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำไปสู่การให้นมลูกได้ง่ายขึ้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า