สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็ง(Cancer)

มะเร็งเป็นเนื้องอกชนิดร้าย ที่กลายมาจากเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย โดยที่เนื้อร้ายนี้จะมีการเจริญเติบโตแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเหนือการควบคุมของร่างกาย มีการทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่างๆ ขึ้น

อาจมีการกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้จากเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่มักพบได้บ่อย คือ ตับ ปอด ปาก มดลูก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ช่องปาก ผิวหนัง รังไข่ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร เม็ดเลือดขา ต่อมน้ำเหลือง ไทรอยด์ พบเป็นมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในคนหนุ่มสาวหรือเด็กก็อาจพบได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายในอันดับแรกๆ ของคนไทย

สาเหตุ
เซลล์มะเร็งเกิดจากเซลล์ปกติของเนื้อเยื่อในร่างกายที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในเซลล์ ทำให้มีการกลายพันธุ์เป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายได้รวดเร็ว

ยังไม่ทราบแน่ชัดของสาเหตุการเกิดเซลล์มะเร็ง แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติมาแต่กำเนิดที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดา หรืออาจเกิดจากการกลายพันธุ์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งเนื่องจากได้รับสารก่อมะเร็งหรือสิ่งระคายเคืองเรื้อรังนานเป็นสิบๆ ปี หรืออาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความบกพร่องในการทำหน้าที่ตรวจสอบและกำจัดเซลล์มะเร็งทำให้มีการแบ่งตัวเจริญเติบโตกลายเป็นก้อนมะเร็งขึ้นในที่สุด

การเกิดมะเร็งมีความสัมพันธ์อยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ
1. ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น
-ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ที่มีอายุมากขึ้น หรือผู้ป่วยเอดส์มักมีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันลง จึงเป็นผู้ที่มักมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็ง

-เชื้อชาติ เช่น มักเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารกันมากในชาวญี่ปุ่น หรือเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูกและหลอดอาหารมากในชาวจีน

-เพศ เช่น ในผู้ชายมักเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอดกันมาก ส่วนในผู้หญิงมักพบเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น

-อายุ ส่วนใหญ่ในวัยกลางคนและวัยสูงอายุมักจะเกิดมะเร็งขึ้น แต่ก็มีบางชนิดที่พบมากในเด็ก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมองบางชนิด มะเร็งลูกตา มะเร็งไตชนิดเนื้องอกวิล์มส์ หรือที่พบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เช่น มะเร็งกระดูก

-กรรมพันธุ์ มะเร็งบางชนิดพบว่ามีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ คือมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันด้วย เช่น มะเร็งเต้านมบางชนิด มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งลูกตาในเด็ก เป็นต้น

2. ปัจจัยภายนอกร่างกาย
ก. ปัจจัยทางกายภาพต่างๆ เช่น
-ฟันปลอมที่ไม่กระชับ อาจทำให้เกิดมะเร็งของเหงือกหรือเพดานปากได้ เนื่องจากเวลาเคี้ยวอาหารจะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก เป็นเวลานานๆ

-การกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเป็นประจำ อาจทำให้เป็นมะเร็งของหลอดอาหารได้ เนื่องจากจะมีการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหารเป็นเวลานานๆ

-รังสีต่างๆ อาจทำให้เกิดมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ได้ถ้าร่างกายได้รับรังสีเป็นระยะเวลานานๆ

-แสงอัลตราไวโอเลต หรือแสงแดด อาจทำให้เกิดมะเร็งริมฝีปากหรือมะเร็งผิวหนังได้

ข. สารเคมี สารก่อมะเร็งมากกว่า 450 ชนิด ปัจจุบันพบว่าอยู่ในรูปของอาหาร พืช และสารเคมีต่างๆ เช่น

-สารหนู ที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังได้

-สารใยหิน สามารถทำให้เกิดมะเร็งไต และมะเร็งปอดได้

-สารนิกเกิล ทำให้เกิดเป็นมะเร็งโพรงไซนัส หรือมะเร็งปอดได้

-บุหรี่ มักทำให้เกิดมะเร็งปอด กล่องเสียง ช่องปาก ทอนซิล ผิวหนัง เต้านม ปากมดลูก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากในบุหรี่จะมีสารน้ำมันดินหรือทาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยสารในกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่มีชื่อว่า เบนซ์ไพรีน (benzpyrene) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในที่ต่างๆ ขึ้น

– แอลกอฮอล์ มักทำให้เกิดมะเร็งตับ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ กล่องเสียง ช่องปาก ทอนซิล เต้านม

-สารฟอร์มาลดีไฮด์ มักทำให้เกิดมะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งจมูก

-เบนซิน มักทำให้เกิดมะเร็งตับอ่อน และมะเร็งเม็ดเลือดขาว

-การเคี้ยวหมากหรือการจุกยาฉุน สารเคมีที่อยู่ในหมากหรือยาฉุนมักก่อให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรังและทำให้เป็นมะเร็งช่องปากได้

-สารไนโตรซามีน มักทำให้เกิดมะเร็งตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก โพรงหลังจมูก สารนี้มักอยู่ในอาหารโปรตีนหมัก หรือเนื้อสัตว์หมักเกลือ หรือดินประสิว หรือรมควัน

-ดีดีที สารนี้จะมีฤทธิ์เหมือนไนโตรซามีนถ้าเข้าไปในร่างกาย และมักก่อให้เกิดมะเร็งเช่นเดียวกับที่พบในการได้รับสารไนโตรซามีน
-สีย้อมผ้าที่ใช้แต่งสีในอาหารหรือขนม มักทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งทางเดินน้ำดี

ค. ฮอร์โมน การเกิดมะเร็งเต้านม รังไข่ เยื่อบุมดลูก มักมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโทรเจน ส่วนมะเร็งต่อมลูกหมากมักมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนแอนโดรเจน หรือเทสโทสเทอโรน

ง. การติดเชื้อ เช่น
-การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี มักมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเซลล์ตับ

-การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี(human papilloma virus/HPV) มักมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งช่องปาก องคชาต ปากมดลูก
-การติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1 (human T-cell leukemia virus/HTLV-1) มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และเม็ดเลือดขาว

-การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มักมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดเบอร์กิต (Burkitt’s lymphoma)

-การติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งของหลอดเลือด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

-การติดาเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori/H.pylori) มักมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

จ. สารพิษ มักทำให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับ เมื่อกินอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซินจากเชื้อราปนเปื้อนอยู่ ซึ่งสารนี้มักจะไม่ถูกทำลายแม้จะใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร

ฉ. พยาธิ มักทำให้เกิดมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดีที่เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ

ช. อาหาร
-ภาวะขาดอาหาร การขาดสารโปรตีนมักทำให้เป็นโรคตับแข็งและอาจทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่ายขึ้น

-การบริโภคอาหารพวกเนื้อแดงและไขมันสัตว์มาก มักจะทำให้กลายเป็นมะเร็งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน และต่อมลูกหมาก

-การบริโภคเนื้อเค็ม ปลาเค็มหรือหมักเกลือ มักจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก โพรงหลังจมูก

-การบริโภคผักดอง หรือเนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่มีสารเบนซ์ไพรีนผสมอยู่ มักทำให้เกิดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
การกินผักผลไม้น้อย มักมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปากมดลูก

ซ. ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน มักมีความสัมพันธ์กับการเกิดเป็นมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ เต้านม ตับอ่อน รังไข่ เยื่อบุมดลูก ต่อมลูกหมาก ไต

อาการ
ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ในระยะแรกที่เซลล์มะเร็งเริ่มก่อตัวหรือเป็นก้อนเนื้องอกขนาดเล็ก และยังคงแข็งแรงเป็นปกติ ซึ่งอาจกินเวลานานเป็นแรมเดือนหรือแรมปี และต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเฉพาะที่เกิดขึ้นเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือลุกลามมากขึ้น ซึ่งเกิดจากก้อนมะเร็งโตเป็นก้อนบวมให้เห็นจากภายนอกและไปกดเบียดหรือทำลายอวัยวะที่เป็นหรือเนื้อเยื่อช่องปากข้างเคียง หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ซีด เป็นลม ใจหวิวคล้ายหิวข้าวบ่อย หรือมีไข้เรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการแสดงแบบทั่วไปร่วมด้วยและมักพบร่วมกันได้ในมะเร็งทุกชนิด และเมื่อมะเร็งมีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ปอด ตับ กระดูก ไขสันหลัง ก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หอบเหนื่อย ดีซ่าน ปวดหลัง ปวดศีรษะ เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรงซีกหนึ่ง ชัก เป็นต้น และอาจมีอาการเจ็บปวดรุนแรงร่วมด้วยในระยะสุดท้าย

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค โดยเฉพาะถ้าพบผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดรวดเร็ว ซีด หรือมีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน หรือมีอาการเฉพาะที่ของมะเร็ง หรือสัญญาณอันตรายของมะเร็งเกิดขึ้น แพทย์มักจะทำการตรวจวินิจฉัยโรคและยืนยันการเกิดโรคให้แน่ชัด รวมทั้งสามารถระบุชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรคซึ่งมีผลต่อการทำนายโรคว่ามีความรุนแรงเพียงใด เพื่อจะได้วางแผนการรักษาต่อไป เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ สแกน ใช้กล้องส่องตรวจ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และทำการตรวจทางพยาธิวิทยา คือ การตรวจหาเซลล์มะเร็งและตรวจชิ้นเนื้อ

การผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปให้มากที่สุดถือเป็นหลักในการรักษา แต่มักจะไม่ทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกในรายที่เป็นระยะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว การผ่าตัดอาจทำเพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานเท่านั้น หรืออาจใช้วิธีอื่นในการรักษากับรายที่เป็นมะเร็งตรงตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้

การรักษาด้วยวิธีอื่นที่แพทย์อาจเลือกใช้กับผู้ป่วย เช่น
-รังสีรักษาหรือรังสีบำบัด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ทำให้ก้อนมะเร็งยุบตัวลง และป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย โดยการฉายรังสี หรือใส่แร่เรเดียมซึ่งเป็นกัมมันตรังสีตรงบริเวณที่เป็นมะเร็ง ซึ่งนิยมใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรืออาจใช้เป็นวิธีหลักแทนการผ่าตัดในบางครั้ง

-เคมีบำบัด มักใช้ร่วมกับการผ่าตัดหรือรังสีรักษาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้ยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดมากกว่าจะใช้ชนิดกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายหรือเป็นก้อนโต หรืออาจใช้เป็นวิธีหลักในการรักษาแทนวิธีอื่นๆ ในกรณีที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น แต่เมื่อหยุดยาอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเอง

-ฮอร์โมนบำบัด มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมากมักจะใช้ฮอร์โมนในการรักษา

-อิมมูนบำบัด เป็นการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยการให้สารเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย เช่น ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มักจะใช้สารภูมิต้านทานกลุ่ม monoclonal antibody หรือในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CML มะเร็งเซลล์ไต มะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสีชนิดร้าย มักจะใช้สารอินเตอร์เฟอรอน(interferon) ในการรักษา เป็นต้น

-การปลูกถ่ายไขกระดูก/เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด มักใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ส่วนใหญ่แพทย์มักจะใช้วิธีบำบัดเหลานี้ร่วมกันหลายๆ วิธี มากกว่าใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ชนิดของมะเร็ง ระยะความรุนแรงของโรค และสภาพของผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการรักษา การปฏิบัติตน ความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย กำลังใจของผู้ป่วย มักเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาว่าจะได้ผลดีหรือไม่

มะเร็งบางชนิดหากได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก็อาจทำให้มีชีวิตอยู่ได้นาน หรือหายขาดจากโรคได้ เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งช่องปาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งกระดูก เป็นต้น

ส่วนมะเร็งชนิดที่มักตรวจพบระยะท้ายเมื่อมีอาการชัดเจนแล้ว และการรักษามักจะได้ผลไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเพื่อประทังอาการและเพื่อลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้นานประมาน 6-12 เดือน แต่ก็อาจอยู่ได้นานหลายปีในบางราย เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. วิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน มักมีวิธีใหม่ๆ ที่อาจช่วยให้โรคทุเลาลงหรือหายขาดได้ หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง อดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีขึ้นได้ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย และไม่ควรรักษาด้วยวิธีแบบชาวบ้านอย่างผิดๆ ซึ่งในบางครั้งการรักษาด้วยยาหม้อหรือพิธีทางไสยศาสตร์อาจช่วยให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าจะรักษาให้โรคหายขาดได้หรือไม่

2. ระหว่างที่รับการรักษากับแพทย์ถ้าผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีก็ควรทำหน้าที่การงานไปตามปกติ ทั้งผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจด้วยการยอมรับความจริง ทำใจให้อยู่กับปัจจุบันและใช้เวลาในปัจจุบันให้มีค่าที่สุด

ผู้ป่วยควรหาเวลาทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ หาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น ทำสมาธิหรือเจริญสติ สวดมนต์ภาวนา เจริญมรณสติและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิต เข้ากลุ่มพูดคุยปรับทุกข์และให้กำลังใจซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง

3. ควรแนะนำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงอาการแสดงของโรคนี้ หากสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าตรวจพบมะเร็งและให้การรักษาเสียตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ จึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป

4. ควรหมั่นปรึกษาและตรวจเช็กมะเร็งในระยะแรกเริ่มก่อนปรากฏอาการกับแพทย์เสมอ ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใดเกิดขึ้น ซึ่งมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้ เมื่อตรวจพบในระยะแรกๆ เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งช่องปาก เป็นต้น

การป้องกัน
-ไม่สูบบุหรี่ สัมผัสควันบุหรี่ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์จัด หลีกเลี่ยงการใช้ยาฉุนและหมากพลู

-ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ หากทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ

-ไม่ควรอยู่ในที่ที่มีมลพิษหรืออากาศไม่บริสุทธิ์ หรือควรใช้อุปกรณ์ป้องกันหากต้องทำงานเกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง

-ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยคิดจากดัชนีมวลกาย ตามสูตร ดังนี้

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว(กก.)/ส่วนสูง(ม.)2

ปกติจะอยู่ในช่วง 18.5-22.9 กก./ม.2 ถ้าต่ำกว่า 18.5 กก./ม.2 แสดงว่าน้ำหนักน้อยเกินไป แต่ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 23 กก./ม.2 ก็แสดงว่าน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งคนอ้วนมักจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดขึ้น จึงควรปฏิบัติดังนี้

-หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนๆ

-ไม่ควรกินอาหารที่ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีเชื้อราซึ่งมีสารอะฟลาท็อกซินอยู่เพราะสารนี้จะไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน เช่น ถั่วลิสงบด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นรา เป็นต้น

-ไม่ควรกินอาหารพวกโปรตีนหมัก เนื้อสัตว์ที่หมักด้วยดินประสิว หากจำเป็นต้องกินควรทำลายสารไนโตรซามีนเสียก่อนด้วยการทำให้สุก

-ไม่ควรกินอาหาร หรือขนมที่มีสีย้อมผ้า ยาฆ่าแมลง หรือดีดีทีเจือปนอยู่

-ลดอาหารที่มีไขมัน เช่น ของทอด ของผัดน้ำมัน หรืออาหารกะทิ หรืออาหารที่มีน้ำตาล

-ควรกินโปรตีนจากถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองแทนเนื้อสัตว์ให้มากๆ ควรบริโภคเนื้อสัตว์ไม่เกินวันละ 80 กรัม และเลือกกินปลาและสัตว์เล็กแทน

-ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงจนไหม้ และไม่ไม่ควรกินเนื้อสัตว์หรือปลาที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง รมควัน หมักเกลือ ควรใช้วิธีการทำให้สุกด้วยการ นึ่ง ต้ม อบ หรือทอดในน้ำ เป็นต้น

-หลีกเลี่ยงการบริโภคผักดอง

-ในทุกๆ วัน ควรบริโภคผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช หัวพืชต่างๆ และกล้วยให้มากๆ เพราะอาหารเหล่านี้จะมีเส้นใย สารฟีนอล สารฟลาโวน สารฟลาโวนอยด์ สารไลโคพีน สารแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันมะเร็ง ควรกินผักผลไม้วันละ 400-800 กรัมหรือมากกว่านี้ก็ได้ และกินให้ได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี ส่วนเมล็ดธัญพืช หัวพืชต่างๆ และพวกกล้วย ควรกินวันละ 600-800 กรัม หรือมากกว่า และควรกินอาหารที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป

-ไม่ควรอยู่กลางแดดจัดๆ เป็นเวลานานๆ หรือควรมีอุปกรณ์ป้องกันมิให้ผิวหนังถูกแดด หรือใช้ยาทากันแดดหากจำเป็นต้องออกไปในกลางแดด

-ไม่ควรกินยาจีน ยาไทย ที่มีส่วนผสมของสารหนู

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า