สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemias)

ลิวคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาววัยอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ กลายเป็นเซลล์ผิดปกติและแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม กระดูก สมอง อัณฑะ ผิวหนัง ไขกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้มะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด โดยหลักๆ แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง

ชนิดเฉียบพลัน เกิดจากเซลล์วัยอ่อน อาการจะเกิดขึ้นฉับพลัน มีการลุกลามรวดเร็วและรุนแรง

ชนิดเรื้อรัง เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เริ่มเป็นตัวแก่ ลุมลามช้า มีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป

สามารถแบ่งเป็นเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ และเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นรวมทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดหากแบ่งตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดของโรค

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ๆ คือ
acute lymphocytic(lymphoblastic) leukemia(ALL),
acute myelogenous (myeloblastic) leukemia(AML),
chronic lymphocytic leukemia(CLL) และ
chronic myelocytic (myelogenous) leukemia(CML)

พบทุกชนิดได้ในคนทุกวัย จะพบแตกต่างกันไปทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ดังนี้
-ชนิด ALL พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี หรือในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป
-ชนิด AML พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและเป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบได้มากที่สุด
-ชนิด CLL พบบ่อยในผู้ใหญ่และพบมากขึ้นตามอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
-ชนิด CML พบได้ไม่บ่อยนัก พบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 40-60 ปี ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีพบได้เป็นส่วนน้อย

สาเหตุ
สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น

-การมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ เช่น มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL และ AML มากกว่าคนปกติในผู้ที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ พบว่ามีโครโมโซมผิดปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CML หรือในผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL ก็อาจเป็นโรคนี้ร่วมด้วย

-อาจพบเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหลายปีต่อมาจากผู้ที่มีประวัติได้รับรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัดมะเร็งชนิดอื่นมาก่อน

-พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไปในผู้ที่มีประวัติสัมผัสรังสีนิวเคลียร์ หรือสารเบนซิน

-พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด adult T-cell leukemia และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1

อาการ
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน(ALL และ AML) มักมีอาการไข้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซีด มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมากผิดปกติ ถ่ายเป็นเลือด อาจมีอาการปวดเมื่อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้เรื้อรังเป็นแรมเดือน หนาวสั่น เกิดแผลเปื่อยในปาก ทอนซิลอักเสบ ภูมิคุ้มกันต่ำทำให้เกิดปอดอักเสบ ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการมีจ้ำเขียวตามตัว หรือเลือดกำเดาไหลและหยุดยากจากเกล็ดเลือดต่ำลง และในเวลาต่อมาจะมีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน ชัก ตามัว แน่นท้อง ปวดท้อง เนื่องจากตับและม้ามโต หรืออาจมีอาการเฉพาะที่ เช่น ปวดกระดูกและข้อ ตาโปน เหงือกบวม เป็นต้น

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง(CLL และ CML) ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก อาจเป็นมานานแรมปีและมักตรวจเลือดพบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญ

ในผู้ป่วยที่มีอาการจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน รู้สึกแน่นท้องเนื่องจากม้ามโต ในเวลาต่อมาจะมีอาการซีด มีจ้ำเขียวตามตัวหรือเลือดออกง่าย ปวดกระดูกและข้อแบบเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

มักจะเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายในระยะท้ายๆ ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น งูสวัด เชื้อแบคทีเรีย เช่น สูโดโมแนสเคลบซิลลา หรือเชื้อรา เช่น แคนดิดา แอสเปอร์จิลลัส เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มักตรวจพบอาการไข้ ซีด จุดแดงจ้ำเขียว เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง เช่น บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในระยะแรกๆ และอาจมีไข้ ม้ามโต และอาการอื่นแบบเดียวกับชนิดเฉียบพลันในเวลาต่อมา

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิต คือ ภาวะโลหิตเป็นพิษ เลือดออกในสมอง ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ การตกเลือด และการติดเชื้อ

อาจเกิดภาวะเลือดจับเป็นลิ่มทั่วร่างกายเป็นอันตรายร้ายแรงได้ในรายที่เป็น AML และ acute promyelocytic leukemia

อาจมีต่อมไทมัสโตกดท่อลมทำให้หายใจลำบากหรือท่อเลือดดำส่วนบนหรือ superior vena cava ทำให้คอและแขนบวมในรายที่เป็นชนิด ALL

อาจกลายเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดร้ายแรง หรือมีโรคมะเร็งปอดหรือผิวหนังเกิดตามมาในรายที่เป็นชนิด CLL

การรักษา
ควรรีบส่งโรงพยาบาลด่วนหากมีความสงสัยหรือเมื่อมีอาการดังนี้ มีไข้เรื้อรัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยาก ถ้าเกิดจากโรคนี้แพทย์มักตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวมีจำนวนมากหลายหมื่นหลายแสนตัวต่อเลือด 1 ลบ.มม. ซึ่งปกติจะมีเพียง 5,000-10,000 ตัว/ลบ.มม) และมักพบเป็นเซลล์วัยอ่อนมากกว่าปกติ และยังอาจพบว่าจำนวนเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติด้วย แพทย์พบเซลล์วัยอ่อนจำนวนมากได้จากการตรวจไขกระดูก

แพทย์อาจทำการตรวจวิเคราะห์ทางกรรมพันธุ์ซึ่งสามารถนำไปพยากรณ์โรคในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน และตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรค

การรักษาที่จำเป็นและมีผลต่อการควบคุมโรคนอกเหนือจากการรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนแล้ว คือ การให้ยารักษามะเร็งหรือเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกราย ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดของโรคและความรุนแรง โดยมักใช้ร่วมกันอย่างน้อย 2 กลุ่มขึ้นไป และมีการใช้ยาอื่นร่วมกับเคมีบำบัด เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่ม monoclonal antibody ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง เพร็ดนิโซโลน สำหรับผู้ป่วยชนิด ALL และสำหรับผู้ป่วยชนิด CLL ใช้สารอินเตอร์เฟอรอน

แพทย์จะให้ยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เช่น ยาอิมาทินิบ ในรายที่เป็นชนิด CML และตรวจพบ Philadelphia chromosome ทำให้การรักษาได้ผลดีมากยิ่งขึ้นจากฤทธิ์ของยาที่เข้าไปยังยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

อาจจำเป็นต้องทำการฉายรังสีร่วมด้วยในรายที่มีก้อนบวมมากเพราะเซลล์มะเร็งสะสม เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต้ ก้อนที่อัณฑะ เป็นต้น

ในผู้ที่มีการเกิดโรคกลับ(relapse) หลังจากให้เคมีบำบัดจนโรคสงบไประยะหนึ่งแล้วแพทย์อาจพิจารณาทำการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือเซลล์ต้นกำเนิด

การรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคและสภาพของผู้ป่วย คือ

-สำหรับผู้ป่วยที่เป็น ALL สามารถทำลายเซลล์มะเร็งจนโรคสงบได้ด้วยการให้เคมีบำบัดครบคอร์สแรกเป็นส่วนใหญ่ การรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้หายจากโรคได้ การรักษาจะตอบสนองได้ดีที่สุดโดยเฉพาะในเด็กวัย 3-7 ปี ในเด็กต่ำกว่า 2 ปีและผู้ใหญ่อาจมีการเกิดโรคกลับ ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้เคมีบำบัด รังสีบำบัด ปลูกถ่ายไข
กระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด

-สำหรับผู้ป่วยที่เป็น AML ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปีการรักษาสามารถทำให้โรคสงบได้ดี รองลงมาคือทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปี โดยไม่มีโรคกลับ ตามลำดับ แต่ในรายที่อายุมากกว่า 65 ปี หรือเป็นโรคนี้หลังจากได้รับเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดในการรักษามะเร็งอื่นๆ ผลการรักษามักจะไม่สู้ดีนัก

-สำหรับผู้ป่วยที่เป็น CLL ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 10-20 ปี โดยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติถ้าพบโรคในระยะแรก แต่ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3-4 ปีถ้าพบในระยะท้ายแล้ว

-สำหรับผู้ป่วยที่เป็น CML ส่วนใหญ่มักมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 4-5 ปี และส่วนน้อยที่เสียชีวิตภายใน 2 ปี ผู้ป่วยที่ตรวจพบ Philadelphia chromosome มักมีผลการรักษาดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่พบโครโมโซมชนิดนี้ และผู้ที่สามารถหายจากโรคได้มักเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด ในรายที่กลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด AML มักเสียชีวิตภายใน 2 เดือน ถ้าไม่ได้รับการรักษา และจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 8-12 เดือนถ้าได้รับการรักษา

ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือเป็นญาติพี่น้องกับผู้ป่วยไม่ต้องกลัวว่าจะติดโรคจากผู้ป่วยเพราะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคทางกรรมพันธุ์

2. ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรืออาจหายขาดได้ด้วยการใช้เคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรอดทนต่อผลข้างเคียงของยา เช่น อาการผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งมักเป็นเพียงชั่วคราว ผู้ป่วยจึงควรมีกำลังใจและเข้ารับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า