สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งเต้านม (Breast cancer)

พบว่ามะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโทรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน พบโรคนี้ได้มากในผู้หญิง มักเริ่มพบตั้งแต่วัยสาว และพบได้มากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุ
ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอย่างแน่ชัด แต่พบว่าผู้ที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ในครอบครัว ภาวะน้ำหนักเกิน มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี มีภาวะหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี มีบุตรคนแรกหลังจากอายุ 30 ปี การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด การได้รับรังสีตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว มักเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้

อาการ
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรกๆ แต่ระยะต่อมาจะคลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากหัวนม ผิวหนังตรงหัวนมมีสีแดงและขรุขระคล้ายผิวส้ม และในระยะท้ายจะคลำได้ก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลด่วน แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพรังสีเต้านม และตรวจชิ้นเนื้อ หรืออาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ตับ เอกซเรย์ปอด ตรวจสแกนกระดูกและให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม และเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก หรืออาจให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยรังสีบำบัด เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด และ/หรืออิมมูนบำบัด เป็นต้น

ถ้าเป็นระยะแรกการรักษามักได้ผลดี ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือหายขาดได้ แต่การรักษามักไม่ค่อยได้ผลถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว

 

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

1. การคลำเต้านมในท่ายืน  ใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง สังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่

2. การดูเต้านมตรงหน้ากระจกเงา  ในท่ามือเท้าเอวและท่าชูมือขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตดูลักษณะเต้านมทั้งสองข้างโดยละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทุกส่วนของเต้านม เช่น รอยนูน รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมไม่เท่ากัน

3. การคลำเต้านมในท่านอน  ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบัก ให้อกด้านที่จะตรวจแอ่นขึ้น ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ

4. ใช้ฝ่ามือข้างซ้ายคลำเต้านมข้างขวาโดยคลำไปรอบๆ หัวนมเป็นรูปวงกลม ไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม

5. แล้วใช้นิ้วบีบหัวนม สังเกตดูว่ามีน้ำเหลือง หรือเลือด ออกจากหัวนมหรือไม่ ส่วนเต้านมอีกข้างก็ตรวจด้วยวิธีนี้เช่นกัน

ข้อแนะนำ
ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ และควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมหรือถ่ายภาพรังสีเต้านมตามเกณฑ์อายุ ดังนี้

-อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมอย่างน้อยเดือนละครั้งด้วยตนเอง

-อายุ 20-40 ปี ทุก 3 ปี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านม และควรตรวจปีละครั้งในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

-อายุ 35-40 ปี ควรตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่มไว้เป็นพื้นฐานครั้งแรกด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม และควรทำซ้ำทุก 1-2 ปีเมื่อมีอายุ 40-49 ปี และควรตรวจซ้ำทุกปีหลังจากมีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรืออาจต้องตรวจถี่กว่าปกติในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว เป็นต้น

การป้องกัน
-ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด และการใช้เอสโทรเจนเป็นเวลานาน

-ออกกำลังกายเป็นประจำ

-กินผักและผลไม้ให้มากๆ

-ลดการบริโภคเนื้อแดง
-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
-เลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่

-ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้กินยาป้องกัน ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้สูง เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว โดยการให้แอสไพริน หรือยาต้านเอสโทรเจน เช่น tamoxifen, raloxifene เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า