สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง(Colorectal cancer)

พบมะเร็งชนิดนี้ได้บ่อยในคนช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป

สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังทราบได้ไม่แน่ชัด แต่มักพบผู้ป่วยโรคนี้ได้จากผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

-มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งในบางชนิดสามารถถ่ายทอดกันได้ทางกรรมพันธุ์ และติ่งเนื้อจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เมื่ออายุมากขึ้น

-มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว อาจเป็นผลจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หรือคนในครอบครัวอาจมีการสัมผัสสารก่อมะเร็งร่วมกันก็ได้

-เคยมีประวัติมาก่อนว่าเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก หรือเต้านม

-เคยมีประวัติรักษามะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณท้องด้วยการฉายรังสีมาก่อน

-เคยมีประวัติผ่าตัดถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีไหลลงลำไส้ตลอดเวลาเนื่องจากไม่มีถุงพัก จนทำให้เกิดความระคายเคืองจนกลายเป็นมะเร็ง

-มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบหรือเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล หรือโรคครอห์น

-มีอาการท้องผูก อุจจาระคั่งค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่เนื่องจากการกินอาหารพวกเนื้อสัตว์ใหญ่ แป้ง และไขมันสูง และมีเส้นใยอาหารน้อย ทำให้เยื่อบุลำไส้มีโอกาสสัมผัสกับสารก่อมะเร็งนานมากขึ้น

-มีโอกาสทำให้เป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูงขึ้นหากมีการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด ขาดการออกกำลังกาย อ้วนหรือเป็นเบาหวาน

อาการ
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ให้เห็นในระยะเริ่มแรก แต่ต่อมาจะมีอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของมะเร็งเมื่อมะเร็งมีการลุกลามมากขึ้น เช่น อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดินแบบเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดแบบเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือดสดๆ จนอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจจาระมักมีขนาดเล็กกว่าแท่งดินสด ปวดท้องมีลมในท้องเรื้อรัง ปวดเบ่งคล้ายปวดถ่ายอยู่ตลอดเวลา หรืออาจคลำได้ก้อนในท้องบริเวณด้านขวาตอนล่าง หรืออาจมีอาการลำไส้อุดกั้น เช่น ปวดบิดในท้อง ท้องผูก ไม่ผายลม ซึ่งมักจะเป็นอยู่เพียงชั่วครู่แล้วจะทุเลาไปเอง และอาจมีอาการกำเริบใหม่เป็นครั้งคราว หรืออาจมีอาการซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดในบางราย

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน แพทย์มักวินิจฉัยโรคจากการตรวจพบเลือดในอุจจาระ หรืออาจพบก้อนมะเร็งที่ทวารหนักเมื่อใช้นิ้วตรวจดูทางทวารหนัก หรือแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ การตรวจหาระดับสารซีอีเอ(carcinoembryonic antigen/CEA) กับผู้ป่วยบางรายเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และมักทำการผ่าตัดเพื่อรักษา ร่วมกับรังสีบำบัด และ/หรือเคมีบำบัด หรืออาจต้องผ่าตัดเปิดรูถ่ายอุจจาระที่หน้าท้องกับผู้ป่วยบางราย

การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้หายขาดจากโรคได้ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกที่เป็น และการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัด ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุอยู่ได้นานหลายปีในรายที่มีการลุกลามทะลุผนังลำไส้และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้แค่ประมาณ 6-12 เดือน ถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปไกลแล้ว เพราะการรักษามักจะได้ผลไม่สู้ดีนัก

ข้อแนะนำ
1. ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

-ทุกปีควรตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ และทุก 5 ปีควรตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคดด้วยกล้องส่องร่วมด้วย

-ทุก 5 ปี ควรเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียม

-ทุก 10 ปี ควรตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องส่อง หรือถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การตรวจทวารหนักด้วยนิ้วเพื่อตรวจกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ควรใช้อย่างโดดๆ ควรทำร่วมกับการตรวจเช็กร่างกายเป็นระยะๆ

ควรได้รับการตรวจเช็กโรคนี้ในช่วงอายุน้อยกว่า 50 ปี และตรวจถี่กว่าคนปกติทั่วไปในรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก หรือมะเร็งเต้านมมาก่อน

2. อย่าคิดว่าเป็นเพียงริดสีดวงทวารเมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจทางทวารหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือถ่ายเป็นเลือดมากและนาน

การป้องกัน
-ควรกินผักและผลไม้ให้มากๆ
-ลดอาหารพวกไขมันและเนื้อแดง
-ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด
-ออกกำลังกายเป็นประจำ
-ควบคุมไม่ให้มีน้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นเบาหวาน
ซึ่งเหล่านี้อาจลดความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า