สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)

พบมะเร็งชนิดนี้ได้มากในผู้หญิงที่มีอายุ 40-60 ปี แต่อาจพบในเด็กก่อนหรือหลังอายุ 10 ปีก็ได้ในมะเร็งรังไข่บางชนิด

สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันนานเกิน 5 ปี การมีภาวะอ้วนตั้งแต่วัย 18 ปี การมีประวัติโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในครอบครัวก็อาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น

อาการ
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ในระยะเริ่มแรก แต่ต่อมามักจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ มากขึ้นทีละน้อยด้วยอาการแน่นท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง คลื่นไส้ รู้สึกปวดปัสสาวะที่ต้องรีบเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิมอาจมีท้องผูก หรือท้องเดินเกิดขึ้นได้ มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลดหรือขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหลังตอนล่าง เจ็บปวดขณะร่วมเพศ เป็นต้น ซึ่งอาการจะคล้ายโรคของกระเพาะปัสสาวะและทางเดินอาหารทั่วไป หรืออาจมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น ปวดประจำเดือน หรือเลือดออกกะปริดกะปรอย หรืออาจมีอาการปวดท้องเฉียบพลันแบบถุงน้ำรังไข่ที่มีขั้วบิดในบางราย

ผู้ป่วยมักมีอาการคลำได้ก้อนในท้อง ท้องมาน และอาการของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง และ/หรือไปยังปอดและตับ เช่น ดีซ่าน ตับโต ไอเรื้อรัง หายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เป็นต้น ถ้าเข้าสู่ระยะท้ายของโรคแล้ว

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที แพทย์มักจะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจภายในช่องคลอดและมักคลำได้ก้อนรังไข่ และอาจตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องส่องเข้าช่องท้องเพื่อตรวจดูรังไข่และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ และแพทย์มักให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัด และ/หรือเคมีบำบัดถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคนี้

การรักษาโรคนี้มักได้ผลไม่สู้ดีนัก เนื่องจากมะเร็งรังไข่มักตรวจพบในระยะท้ายที่มะเร็งลุกลามไปไกลแล้ว แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้าตรวจพบในระยะแรกๆ

ข้อแนะนำ
1. ควรได้รับการตรวจภายในช่องคลอดและตรวจอัลตราซาวนด์ปีละครั้ง พร้อมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะหากตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะแรกก็จะได้รักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

2. ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันโรคนี้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติมะเร็งรังไข่ในครอบครัว และแพทย์อาจจะแนะนำให้ผ่าตัดรังไข่ออกไปในรายที่มีอายุมากกว่า 35 ปีและมีบุตรแล้ว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า