สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)

พบเป็นได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มักเริ่มพบในวัยหนุ่มสาว และพบบ่อยในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นตื้น(squamous cell carcinoma) ซึ่งพบได้น้อยกว่าชนิดอื่น และมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นฐาน (basal cell carcinoma) เป็นมะเร็งชนิดอ่อน ลุกลามช้า ไม่แพร่กระจาย

ส่วนมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี (melanoma/malignant melanoma) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปทั่วร่างกายซึ่งเป็นมะเร็งชนิดร้ายมักพบได้เป็นส่วนน้อย และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปีหากไม่ได้รับการรักษา

สาเหตุ
การสัมผัสแสงแดดมากๆ เป็นเวลานานมักเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรค แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน เช่น การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ถูกรังสีเอกซเรย์ในปริมาณสูง กินสารหนูที่ผสมอยู่ในยาจีนยาไทย ผิวหนังที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบ โรคผิวหนังอักเสบ การสัก แผลเป็นจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก การสูบบุหรี่ มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว

อาการ
มะเร็งหนังกำพร้าชั้นตื้น มักพบว่าที่ใบหน้า ริมฝีปาก หู คอ มือ หรือแขน มีตุ่มนูนแดงลักษณะหยุ่นๆ อาจแตกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย หรือเป็นปื้นแบนราบ ผิวเป็นขุยหรือตกสะเก็ด เกิดขึ้น

มะเร็งหนังกำพร้าชั้นฐาน มักพบว่าที่ใบหน้า หู คอ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนใส ขอบม้วน สีคล้ายขี้ผึ้งหรือไข่มุก อาจแตกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย หรืออาจมีอาการเป็นปื้นแบนราบแข็งติดกับผิวหนัง สีเดียวกับสีผิวหรือสีน้ำตาล มักพบที่หน้าอกหรือหลังในบางราย

มะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี มักพบว่าบนผิวหนังจะมีลักษณะเป็นไฝ ขี้แมลงวันหรือจุดดำที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น มีสีคล้ำมากขึ้น หรือบางจุดในเม็ดไฝมีสีแตกต่างจากจุดอื่น อาจมีอาการปวดหรือคัน หรือลอกเป็นเกล็ดขุย มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหล มีขนาดโตขึ้นมากว่า 6 มม. มีการกระจายของเม็ดสีไปรอบๆ เม็ดไฝ ไฝจะกลายเป็นแผลหรือมีเลือดออก หรือกลายเป็นก้อนแข็ง ผิวหยาบ

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจชิ้นเนื้อ และทำการผ่าตัดเพื่อรักษา หรืออาจจี้ด้วยความเย็นในรายที่พบระยะแรกและมีขนาดเล็ก หรือใช้แสงเลเซอร์รักษาถ้าเป็นที่ส่วนผิวหนัง หรืออาจใช้รังสีบำบัดถ้าเป็นที่ติ่งหู หนังตา หรือปลายจมูก หรืออาจต้องทำการปลูกถ่ายผิวหนังถ้าเป็นแผลลึก

แพทย์มักจะให้รังสีบำบัดร่วมกับเคมีบำบัดในรายที่เป็นมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสีและมีการแพร่กระจายไปแล้ว

เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องมักจะได้ผลดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายขาดได้

ข้อแนะนำ
ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วหากพบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง เช่น หูด ไฝ ขี้แมลงวัน ปาน แผลเป็น ควรตรวจดูผิวหนังทั่วร่างกายเป็นระยะๆ และควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละครั้งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทำงานอยู่กลางแดด มีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว เป็นต้น

การป้องกัน
-ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกแสงแดด หากจำเป็นควรทายากันแดด สวมหมวก ใส่แว่นตาเพื่อกันแสงอัลตราไวโอเลต

-ไม่ควรสัมผัสถูกสารก่อมะเร็ง หรือกินยาที่มีส่วนผสมของสารหนู

-ไม่ควรสูบบุหรี่

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า