สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย พบเป็นมากในช่วงอายุ 35-60 ปี หรืออาจพบในช่วงอายุอื่นๆ ก็ได้

ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก เช่น การมีเพศสัมพันธุ์ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 17 ปี มีคู่นอนหลายคน หรือสามีสำส่อนทางเพศ เป็นต้น

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอย่างแน่ชัด แต่มักมีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิด 16 และ 18 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับชนิดที่ทำให้เกิดหูดและหงอนไก่ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมะเร็งปากมดลูกยังอาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ด้วย เช่น เอชไอวี เชื้อคลามีเดีย เริม ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น หรืออาจเกิดจากปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การกินยาเม็ดคุมกำเนิดนานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป การมีบุตรหลายคน น้ำหนักเกิน กินผักผลไม้น้อยเกินไป หรือมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มแรก และต่อมาจะพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอด หรือมีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น หรืออาจมีอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือตกขาวมีปริมาณมากในบางราย

ผู้ที่ประจำเดือนหมดไปแล้วนานกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี และกลับมามีประจำเดือนใหม่ ซึ่งจะออกมากและนานกว่าปกติ จึงควรสังเกตอาการนี้ร่วมด้วย

ในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้วก้อนมะเร็งมักไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปวดก้นกบ หรือต้นขา ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด ขาบวม เกิดภาวะไตวาย

การรักษา
แพทย์มักทำการวินิจฉัย ด้วยวิธีที่เรียกว่า แพ็ปสเมียร์ (Pep smear) โดยการขูดเซลล์เยื่อบุปากมดลูกนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ และใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก ตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ และให้การรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีบำบัด และ/หรือเคมีบำบัดร่วมด้วยถ้าพบว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งวิธีการที่ใช้รักษามักขึ้นอยู่กับระยะของโรคด้วย

ส่วนใหญ่การรักษามักจะได้ผลดีหรือหายขาดได้ถ้าพบโรคในระยะแรกๆ ผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่รอดได้เกิน 5 ปีขึ้นไป แต่โอกาสมีชีวิตอยู่รอดได้นานมักมีน้อยลงถ้าพบเป็นมะเร็งในระยะที่ 3 และ 4 แล้ว

ข้อแนะนำ
ผู้หญิงทุกคนควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งระยะแรกด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์ ดังนี้

-ควรเริ่มตรวจตั้งแต่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้ 3 ปี หรือเมื่ออายุได้ 21 ปี หรือหลังแต่งงาน

-ควรตรวจหามะเร็งระยะแรกทุกปี และถ้าตรวจติดต่อกัน 3 ครั้งแล้วผลตรวจเป็นปกติ และเป็นผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจจะตรวจห่างออกไปเป็น 2-3 ปีก็ได้ แต่ควรตรวจทุกปีในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี สูบบุหรี่ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น

-หากเคยมีผลการตรวจเป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้งในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ก็สามารถหยุดทำการตรวจแพ็ปสเมียร์ได้ แต่ควรได้รับการตรวจต่อไปถ้าเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน หรือมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย

-สามารถหยุดการตรวจแพ็ปสเมียร์ได้ในผู้หญิงที่เคยผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมดโดยที่ไม่มีสาเหตุจากมะเร็ง แต่ควรรับการตรวจแพ็ปสเมียร์แบบผู้หญิงทั่วไปถ้าผ่าตัดมดลูกเพียงบางส่วนและยังคงปากมดลูกไว้

การป้องกัน
-หลีกเลี่ยงการสำส่อนทางเพศ เพราะแม้แต่การใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้ถ้ารอยโรคอยู่นอกบริเวณที่ถุงยางครอบคลุมอยู่

-ไม่ควรสูบบุหรี่

-ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

-กินผักผลไม้ให้มากๆ

-ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันและรักษาไม่ให้เป็นมะเร็งปากมดลูกหากพบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกในระยะก่อนเป็นมะเร็ง และเพื่อจะได้รักษาให้หายขาดถ้าพบว่าเริ่มเป็นมะเร็งในระยะแรก

-ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อเอชพีวีได้ โดยฉีด 3 เข็ม เข็มแรกฉีดให้ในเด็กหญิงที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 4 เดือน แต่วัคซีนจะมีราคาแพงและอาจป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ไม่ถึง 100%

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า