สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งปอด (Lung cancer)

มะเร็งปอดมีอยู่หลายชนิด ชนิดที่ร้ายแรงแพร่กระจายเร็ว คือ small cell carcinoma มะเร็งปอดพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในช่วงอายุ 50-75 ปี

สาเหตุ
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้สูงคือผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากและนานก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น และพบได้เป็นส่วนน้อยในผู้ที่สูดควันบุหรี่จากผู้อื่น

ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร งานผ้าเบรก คลัตช์ ฉนวนกันความร้อน อุตสาหกรรม สิ่งทอ เหมืองแร่ ที่มีการสัมผัสสารใยหินหรือแอสเบสตอส เป็นเวลานานประมาณ 15-35 ปี ก็อาจเป็นมะเร็งปอดได้ และยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นถ้ามีการสูบบุหรี่ด้วย

โรคนี้ยังอาจเกิดจากการสัมผัสสารเรดอน มลพิษทางอากาศ โรงงานถลุงเหล็กนิเกิล โครเมียม แคดเมียม โรงงานน้ำมัน ดินน้ำมัน เขม่าจากโรงงาน การดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปน หรือการกินผักผลไม้น้อยเกินไป

ในผู้ที่เป็นวัณโรค ถุงลมปอดโป่งพอง ภาวะเยื่อพังผืดในปอด ที่มีแผลเป็นในปอดก็อาจพบเป็นมะเร็งปอดได้ในบางครั้ง ในผู้หญิงและผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มักพบเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ต่อมเมือก(adenocarcinoma) และบางรายอาจเป็นมะเร็งปอดโดยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่หรือการสัมผัสสารก่อมะเร็งมาก่อนก็ได้

อาการ
ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการใดๆ ในระยะเริ่มแรก แต่ต่อมาจะมีอาการที่อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ด้วยอาการไอเรื้อรัง อาจไอมีเลือดปนเสมหะ หรือหากมะเร็งลามถูกหลอดเลือดอาจทำให้ไอออกเป็นเลือดสดจำนวนมาก และเมื่อหลอดลมถูกอุดกั้นด้วยก้อนมะเร็งก็จะทำให้หายใจมีเสียงดังวี้ด หรือถ้ามะเร็งลามไปที่เยื่อหุ้มปอด หรือกระดูกซี่โครงผู้ป่วยก็จะเจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

และต่อมาผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อยจากภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากปอดอักเสบเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก ปวดแขน แขนชาและอ่อนแรง หนังตาตกและรูม่านตาหดเล็กข้างหนึ่ง มีอาการบวมที่ใบหน้า คอ และหน้าอกส่วนบน หัวใจเต้นผิดจังหะเมื่อมะเร็งมีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงนี้แล้ว

มะเร็งมักจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือแอ่งไหปลาร้า และอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ตับ ไขสันหลัง กระดูก ในระยะท้ายของโรค และผู้ป่วยอาจมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะเหล่านี้มากกว่าอาการของมะเร็งปอดโดยตรงที่มีอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือดแล้วในบางครั้ง

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์มักจะทำการวินิจฉัยโรคด้วยการเอกซเรย์ปอด ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ ใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม ใช้เข็มเจาะเนื้อปอดนำไปตรวจชิ้นเนื้อ การให้การรักษาของแพทย์มักขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งที่พบ ซึ่งอาจจะเป็นการผ่าตัด รังสีบำบัด และ/หรือเคมีบำบัด ก็ได้

การรักษามะเร็งปอด โดยเฉพาะชนิดที่เรียกว่า small cell carcinoma มักเป็นเพียงการประทังและรักษาไปตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงระยะหนึ่ง ประมาณ 6-12 เดือน เนื่องจากมะเร็งปอดมักจะลุกลามเร็วและวินิจฉัยได้ในระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกปอดแล้ว แต่บางรายก็อาจอยู่ได้นาน 2-3 ปี แต่ถ้าตรวจพบในระยะแรกๆ หรือเป็นชนิดที่ลุกลามช้าหรือตอบสนองต่อการรักษาได้ดีก็อาจทำให้มีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี

การป้องกัน
ไม่ควรสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่จากผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารใยหิน และมลพิษในอากาศ กินผักและผลไม้ให้มากๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า