สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphomas)

เป็นมะเร็งของลิมโฟไซต์ซึ่งเกิดที่ต่อมน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่อน้ำเหลือง ตรงส่วนใดของร่างกาย อาจแพร่ไปยังไขกระดูก ม้าม และที่อวัยวะอื่นๆ ได้มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สามารถแบ่งโรคนี้ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มโรคฮอดคินส์(Hodgkin’s disease) กับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์(non-Hodgkin’s lymphoma/NHL) แต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกหลายชนิด แต่มักพบมากในกลุ่มที่ไม่ใช้ฮอดคินส์

กลุ่มโรคฮอดคินส์ พบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-34 ปีและมากกว่า 60 ปี ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีมักพบได้น้อย

กลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ มีอยู่ถึง 20 ชนิด พบได้บ่อยในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

สาเหตุ
กลุ่มโรคฮอดคินส์ มักไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสอีบีวี(EBV หรือ Epstein-Barr virus) ทำให้ลิมโฟไซต์ชนิดบีกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่มีชื่อว่า Reed-Sternberg cell

กลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ ไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่พบมีหลักฐานความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1 เชื้อไวรัสอีบีวี

อาการ
มีอาการก้อนบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอนานเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนโดยไม่รู้สึกเจ็บเป็นอาการที่สำคัญ อาจมีก้อนที่รักแร้ ขาหนีบ หรืออาจมีเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน

อาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกดถูกอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น

ทำให้ไอ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้าบวม คอบวม แขนบวม ถ้าเกิดในช่องอก

ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก เบื่ออาหาร ดีซ่าน ถ้าเกิดในช่องท้อง

ทำให้มีน้ำหนักลด ท้องเดิน ลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร ถ้าเกิดในลำไส้เล็ก

อาจมีอาการขาบวมจากภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง ถ้าเกิดที่ขาหนีบ

จะทำให้มีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง ถ้าเกิดในสมอง ไขสันหลัง หรือระบบประสาท

ในบางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ แต่อาจมีไข้เรื้อรัง หรือมีไข้สูงอยู่หลายวันสลับกับไม่มีไข้หลายวัน อาจมีน้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกตอนกลางคืน หนาวสั่น หรือคันตามผิวหนัง

เมื่อมะเร็งลุกลามเข้าไปในไขกระดูกทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว และติดเชื้อง่าย ในระยะต่อมา

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ ขาหนีบ มีก้อนบวมแข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. ไม่เจ็บ และอาจพบอาการไข้ ตับโต ม้ามโต ดีซ่าน แขนขาบวม ชาหรืออ่อนแรง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนังในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน

มักเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการมีก้อนของมะเร็งไปกดหรือทำลายอวัยวะต่างๆ เช่น ไปอุดกั้นระบบไหลเวียนเลือดหรือน้ำเหลือง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น อาจทำให้แขนขาชาหรืออ่อนแรงได้ถ้ามะเร็งลุกลามเข้าสมอง ไขสันหลัง หรือกดถูกเส้นประสาทสันหลัง

ทำให้การสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดไม่ได้ถ้ามะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูก ทำให้มีอาการซีด เลือดออกง่าย ติดเชื้อง่าย และอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้ถ้าอาการรุนแรง

อาจเกิดภาวะกระเพาะอาหารอุดกั้น มีเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ถ้ามีก้อนมะเร็งที่กระเพาะอาหาร

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว หากเป็นโรคนี้แพทย์จะพบลักษณะของเซลล์ที่เป็นมะเร็งโดยการตัดต่อมน้ำเหลืองนำไปตรวจชิ้นเนื้อ จะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า Reed-Sternberg cell สำหรับโรคฮอดคินส์

เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนและระยะของโรคอาจทำการตรวจเลือด ตรวจไขกระดูก ถ่ายภาพทรวงอกและช่องท้องด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง หรือตรวจพิเศษอื่นๆ

การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคว่าจะใช้รักษาด้วยรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด หรือใช้ร่วมกันทั้ง 2 อย่าง เช่น สามารถให้รังสีบำบัดเพียงอย่างเดียวในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะแรกและไม่รุนแรง หรือจำเป็นต้องให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีบำบัดในรายที่เป็นชนิดรุนแรงหรือระยะท้ายๆ แล้ว และควรให้ยาอื่นๆ เสริมด้วย เช่น เพร็ดนิโซโลน สารภูมิต้านทานกลุ่ม monoclonal antibody ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น

แพทย์มักจะให้เคมีบำบัดด้วยยาขนาดสูง และทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในรายที่มีการเกิดโรคกลับ อาจทำให้หายจากโรคหรือช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ ผลในการรักษามักขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสภาพของผู้ป่วย ดังนี้

-สำหรับโรคฮอดคินส์ระยะแรกๆ มักทำให้หายจากโรคและมีชีวิตยืนนานเกิน 10 ปี หากเป็นในระยะท้ายๆ โอกาสหายจากโรคและมีชีวิตอยู่รอดได้เกินกว่า 5 ปี ตามลำดับ

-สำหรับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ ชนิดที่ลุกลามช้า สามารถรักษาให้โรคสงบและมีชีวิตอยู่ได้นานแต่มักไม่หายขาดมีโอกาสเกิดโรคกลับได้อีก และการรักษาอย่างจริงจังในชนิดที่รุนแรงจะช่วยให้โรคสงบและมีโอกาสหายได้มากกว่าชนิดที่ลุกลามช้า

ในกลุ่มที่ไม่ใช้ฮอดคินส์ชนิดลุกลามช้า การให้รังสีบำบัดจะช่วยให้โรคสงบและหายได้ถ้าเป็นในระยะแรก และแพทย์จะไม่ให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีบำบัดถ้าเป็นในระยะท้ายๆ เพราะมักไม่ได้ผล เพียงแต่เฝ้าติดตามดูอาการและภาวะแทรกซ้อน หรืออาจให้เคมีบำบัดได้ในกรณีโรคเกิดลุกลามเร็วขึ้นซึ่งอาจทำให้โรคสงบได้นาน 2-4 ปี

สำหรับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ชนิดที่รุนแรง แพทย์จะให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีบำบัดเพื่อช่วยช่วยให้หายจากโรคถ้าเป็นในระยะแรกๆ และถ้าเป็นระยะท้ายๆ อาจให้เคมีบำบัดด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน อาจช่วยให้หายจากโรคได้ แต่ผลข้างเคียงจากยาจะทำให้เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ลดจำนวนลง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยวิธีการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า