สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งช่องปาก(Oral cancer

เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณริมฝีผาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้นไก่ เพดานแข็ง พื้นปากหรือใต้ลิ้น พบได้บ่อย มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงมะเร็งช่องปาก

สาเหตุ
พบว่าการเกิดโรคมีสาเหตุส่วนใหญ่จากความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด ถูกแสงแดดเป็นเวลายาวนาน

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับโรค เช่น
-การติดเชื้อเอชพีวีชนิด 16 และ 18 เป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
-การกินผักและผลไม้น้อย
-ฟันปลอมที่ไม่กระชับอาจกักสารก่อมะเร็งเช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ ทำให้ระคายเคืองเรื้อรังและสัมผัสกับเยื่อบุภายในช่องปากนานขึ้น
-การเคยได้รับรังสีเอกซ์
-การใช้ยากดภูมิคุ้มกันในการปลูกถ่ายอวัยวะ
-การเคี้ยวหมาก การใช้ยานัตถุ์ การเคี้ยวหรือจุกยาฉุนซึ่งมีสารก่อมะเร็ง
-การระคายเคืองเรื้อรังจากแผลฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คม เป็นต้น

อาการ
อาการแสดงมีหลายลักษณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งของโรค เช่น
-มีฝ้าขาวหรือฝ้าแดงบนเยื่อบุภายในช่องปาก
-เป็นแผลเล็กๆ คล้ายแผลแอฟทัส ไม่รู้สึกเจ็บ เป็นนานเกิน 3 เดือน มีเลือดออกง่าย
-คลำได้ก้อนที่ข้างคอหรือในช่องปาก
-มีความลำบากในการกลืน พูด เคี้ยว รู้สึกเจ็บ
-ใส่ฟันปลอมที่เคยใช้ไม่ได้
-ฟันโยก ฟันหลุดเนื่องจากเนื้องอก
-เสียงแหบเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์
-ชาบริเวณปากหรือใบหน้า

การรักษา
เพื่อประเมินความรุนแรงหรือระยะของโรคหากมีความสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน เช่น การตรวจชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่สงสัย ตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดหรือฉายรังสีร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง หรืออาจให้เคมีบำบัดก่อนผ่าตัดหรือฉายรังสีในกรณีที่เป็นมะเร็งขนาดใหญ่หรือเป็นระยะแพร่กระจาย ผลการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง ถ้าพบมะเร็งในระยะแรกส่วนใหญ่การรักษามักจะได้ผลดี

ข้อแนะนำ
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีที่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรหมั่นตรวจช่องปากตัวเองขณะแปรงฟันเสมอ และควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุถ้าพบฝ้าขาว ฝ้าแดง เป็นแผลในช่องปากนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือคลำได้ก้อนในช่องปากหรือข้างคอ

การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์จัด การถูกแสงแดดเป็นเวลานาน การเคี้ยวหมาก ยาฉุน และยานัตถุ์ เป็นต้น
2. กินผักและผลไม้ให้มากๆ
3. รักษาสุขภาพช่องปากและฟัน หลังกินอาหารควรบ้วนปากหรือแปรงฟันอย่างถูกวิธีทันที
4. ควรแก้ไขฟันเก ฟันบิ่น ขอบฟันคม ฟันปลอมที่หลวม อย่าปล่อยให้ครูดถูกเยื่อบุในช่องปาก
5. ถ้ามีฟันปลอม หลังกินอาหารทุกครั้งควรถอดมาล้างให้สะอาด และควรถอดฟันปลอมทุกครั้งเมื่อเข้านอน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า