สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งกล่องเสียง(Laryngeal cancer)

พบมะเร็งชนิดนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบบ่อยในผู้สูงอายุ ที่มีอายุประมาณ 60-70 ปี

สาเหตุ
สาเหตุการเกิดโรคส่วนใหญ่มักเกิดจากการสูบบุหรี่ และพบได้มากขึ้นในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และยังอาจพบได้ในผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวี การสัมผัสสารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ สี และสารเคมีบางชนิด การระคายเคืองเรื้อรังจากโรคกรดไหลย้อน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ภาวะขาดสารอาหารซึ่งมักพบร่วมกับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด

อาการ
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บคอ แต่เสียงจะแหบเรื้อรังติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ หรืออาจมีอาการกลืนลำบากหรือสำลักร่วมด้วยในบางครั้ง และอาจพบมีเลือดออกปนกับเสมหะ หายใจลำบาก มีก้อนแข็งที่ข้างคอในเวลาต่อมา

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียงหรือไม่ด้วยการใช้กระจกส่องตรวจพบเนื้องอกที่กล่องเสียง ใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ และแพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการฉายรังสี หรือผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ ถ้าเป็นมะเร็งในระยะแรกเริ่มจะช่วยรักษากล่องเสียงและผู้ป่วยจะพูดอย่างเป็นปกติได้ แต่บางรายอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงร่วมกับการฉายรังสี หรืออาจให้เคมีบำบัดร่วมด้วยถ้าเป็นในระยะลุกลามแล้ว

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงในระยะเริ่มแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดและพูดได้อย่างเป็นปกติ แต่ในรายที่เป็นระยะลุกลามการผ่าตัดกล่องเสียงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวเท่านั้น แต่ผู้ป่วยจะพูดไม่ได้และต้องฝึกพูดด้วยการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหาร หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด

การป้องกัน
-ไม่ควรสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารใยหิน หรือฝุ่นไม้

-กินผักผลไม้ให้มากๆ เพื่อให้ได้รับสารอาการที่ครบถ้วนและมีความสมดุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า