สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach/Gastric cancer)

มักพบมะเร็งชนิดนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุ 60-80 ปี

สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ทราบได้แน่ชัด แต่มักพบโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กรรมพันธุ์ กระเพาะอาหารติดเชื้อเอชไพโลไร เคยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดเอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด การบริโภคเนื้อสัตว์ที่หมักเกลือ ผักดอง เนื้อสัตว์รมควันหรือที่ใส่ดินประสิว การกินเนื้อที่ปิ้งย่าง การกินผักผลไม้น้อย เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี ภาวะน้ำหนักเกิน การทำงานที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน โลหะและยางพารา เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ในระยะเริ่มแรก แต่ต่อมาจะมีอาการปวดท้อง รู้สึกหิวง่าย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือคล้ายโรคกระเพาะเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น การกินยารักษาโรคกระเพาะอาหารในช่วงแรกของโรคอาจทำให้อาการทุเลาลงได้ แต่ต่อมามักจะไม่ได้ผลและมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บริเวณเหนือสะดือหรือใต้ชายโครงซ้ายมักคลำได้ก้อนแข็ง และมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน ตับโต ท้องมาน ถ้าปล่อยให้มะเร็งลุกลามไปที่ตับ หรือมีมีอาการหอบเหนื่อย ไอ เจ็บหน้าอกถ้าลามไปที่ปอด หรือปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อยถ้าลุกลามไปที่ทางเดินปัสสาวะ

การรักษา
แพทย์มักให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม และเอกซเรย์กระเพาะอาหาร ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร และตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ เพื่อเป็นการวินิจฉัยโรค หากพบว่าเป็นโรคนี้มักทำการผ่าตัด และให้เคมีบำบัดเพื่อการรักษา หรืออาจให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีบำบัดในรายที่เป็นมากๆ

การรักษามักจะได้ผลดีและผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้ถ้าให้การรักษาเสียตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกที่เป็น แต่การรักษามักจะไม่ได้ผลหากมาพบแพทย์ในระยะท้ายของโรคซึ่งมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปทั่วแล้ว และผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้เพียงประมาณ 6-12 เดือน แล้วจึงเสียชีวิตลง

ข้อแนะนำ
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะก่อนมีอาการในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว

การป้องกัน
ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือบริโภคปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักดอง เนื้อสัตว์รวมควันหรือใส่ดินประสิว เนื้อแดงที่ปิ้งย่าง ซึ่งเหล่านี้มักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กินผักผลไม้ให้มากๆ และควรรักษาให้หายขาดถ้าพบว่ามีการติดเชื้อเอชไพโรไลของกระเพาะอาหารขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า