สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มลพิษที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยุคนี้และยุคหน้า

บทเรียนจากอดีต
การมองย้อนกลับไปในอดีต มีความสำคัญเพื่อศึกษาบทเรียนที่ผ่านมา ให้เราสามารถไปในอนาคตด้วยสายตาที่กว้างไกลขึ้น

มนุษย์เรา เคยใช้และยังคงใช้สารพิษมากมายหลายชนิดในชีวิตประจำวันด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความประมาทต่ออันตรายที่อาจ เกิดขึ้น

ตัวอย่างในอดีตที่ชัดเจนที่สุดคือ การใช้ตะกั่วซึ่งเป็นโลหะอ่อนขึ้นรูปได้ง่าย ในการทำถ้วยนํ้าดื่ม ภาชนะต่างๆ ท่อน้ำ และสิ่งของอื่นๆ มีหลักฐานปรากฏว่าอาณาจักรโรมันซึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีต มีการใช้ตะกั่วปริมาณมากและเกิดอาการโรคประสาท เนื่องจากพิษตะกั่วต่อประชาชน และเจ้าผู้ครองนคร จนนำไปสู่การสลายของกรุงโรมในเวลาต่อมา

ในปัจจุบัน เรามีการใช้สารเคมีต่างๆ มากมายหลายพันชนิด สารพิษบางอย่าง เช่น ตะกั่ว เราใช้เวลานับร้อยปีในการเรียนรู้ถึงพิษของมัน แม้ในปัจจุบัน เรายังไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากพิษของตะกั่วได้ เรายังไม่ทราบถึงพิษและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีจำนวน มากที่เสนอต่อผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตลอดเวลา กว่าที่เราจะเรียนรู้ถึงผลร้ายจากสารเคมีเหล่านี้อาจจะสายไปเสียแล้ว การแก้ไขผลร้ายหรือกำจัดสารเคมีเหล่านี้ออกจากสิ่งแวดล้อม อาจเป็นสิ่งที่ยากแสนเข็ญ หากเราจะดูจากประสบการณ์ในอดีต เป็นเครื่องชี้

มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษในคริสศตวรรษที่ 17 การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานและบ้านเรือนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงโดยทั่วไป ในปี ค.ศ. 1950 เกิดมลพิษทางอากาศในกรุงลอนดอนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน หลังจากนั้น 40 ปี ประเทศไทย ได้รับบทเรียน เรื่องมลพิษทางอากาศ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งใช้ถ่านหินลิกไนท์ เป็นเชื้อเพลิง เป็นผลให้มีผู้ป่วยเจ็บนับจำนวนพันคน

มลพิษในยุคนี้
มลพิษมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในอากาศ ดิน และน้ำ ซึ่งเป็นวงจรการแพร่กระจายของมลพิษ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าต่อประชาชน อาจทำได้โดยการต่อปล่องให้สูงขึ้นปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลอยสูงฟุ้งกระจายออกไปไกล แต่ในที่สุดก๊าซนี้จะถูกฝนชะล้างตกลงสู่พื้นดิน เป็นฝนกรด เป็นอันตรายต่อป่าไม้และพันธุ์พืชต่างๆ น้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเลสาป หนอง บึง ทำให้แหล่งนํ้าเหล่านั้นมีสภาพเป็นกรด สัตว์น้ำต่างๆ ตาย เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

มลพิษทางอากาศ เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการจราจรโดย เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีการจราจรติดขัด เนื่องจากการเพิ่มปริมาณยานยนต์อย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2535 ปริมาณการขายยานยนต์เพิ่มขึ้นถึง 35% ปริมาณยานยนต์สภาพการจราจรติดขัด และตึกสูงซึ่งกีดขวางทางลม ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศ เพิ่มสูงถึงขีดอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้ถนนโดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ขับรถและตำรวจจราจร มลพิษจากยานยนต์มีหลายชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันดำ ไฮโดรคาร์บอน ตะกั่ว และเสียงดัง

มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมของประเทศอย่างรวดเร็ว และการเพิ่มจำนวนประชากรโดยรอบโรงงาน มลพิษจากโรงงาน ได้แก่ สารเคมีทำละลาย (โซลเวนต์) กลิ่น ฝุ่นควัน โลหะหนัก สารพิษ เป็นต้น อันตรายอันดับแรกจะเกิดกับคนงานในโรงงานเหล่านั้น ประชาชนโดยรอบโรงงานจะได้รับอันตรายในอันดับต่อไป

ดิน เป็นที่รองรับของมลพิษ จากการใช้ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และการทิ้งขยะมูลฝอย และกากอุตสาหกรรม ขยะมูลฝอยจากบ้านเรือนมีทั้งโลหะหนักและสารพิษ เช่น ปรอทในหลอดไฟนีออน แมงกานีส แคดเมียม นิเกิ้ลในถ่านไฟฉาย กระป๋องยาฆ่าแมลง เป็นต้น นํ้าเสียจากกองขยะมีสารพิษและโลหะหนักปริมาณสูงมาก เมื่อสารพิษจากดินดูดซึมลงสู่แหล่งนํ้าใต้ดิน คูคลอง แม่นํ้า จะทำให้แหล่งน้ำนั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้นํ้า

น้ำจืด น้ำทะเล และชายฝั่ง เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของมนุษย์อารยธรรมของโลกเกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำ ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 2 ใน 3 อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า เมื่อโรคห่าระบาด ( เนื่องจากเชื้อโรคในน้ำ ) พระเจ้าอู่ทองต้องย้ายเมืองหลวงมาตั้งใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา เราใช้นํ้าเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การคมนาคม ตลอดจนเพื่อสันทนาการ การขาดแคลนน้ำทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เป็นปัญหาสำคัญยิ่งที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข

แม่น้ำ คูคลองในเมืองล้วนเน่าเสียใช้ประโยชน์ไม่ได้ เนื่องจากชุมชนทิ้งน้ำเสีย ขยะมูลฝอย รวมทั้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม แม้ว่ากรุง เทพมหานครจะมีแม่นํ้าเจ้าพระยาไหลผ่านมีคูคลองมากมาย แต่ไม่สามารถใช้แหล่งน้ำเหล่านี้ได้ต้องใช้นํ้าประปาอย่างเดียว จึงอาจนำไปสู่วิกฤติการณ์ขาดแคลนนํ้าประปาในอนาคตอันใกล้นี้

ขยะมูลฝอยจากชุมชน และของเสียจากอุตสาหกรรมปนเปื้อนด้วยสารพิษและโลหะหนัก ไม่มีการคัดแยก เพื่อการกำจัดที่ถูกวิธี กองขยะจะมีสารพิษถูกฝังทับถมรอวันที่สารพิษจะกระจายสู่สิ่งแวดล้อม โรงงานต่างๆ อาจทิ้งขยะรวมกับเทศบาล หรือซื้อที่ เพื่อฝังกลบขยะของตนเอง เมื่อวันเวลาผ่านไปที่ฝังกลบขยะนั้นก็ถูกลืม มีการขุดปลูกสิ่งก่อสร้าง นำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ และทำให้ประชาชนสัมผัสกับสารพิษเหล่านั้น

มลพิษในยุคหน้า
ชนิดและปริมาณมลพิษมีการเพิ่มขึ้นทุกขณะ ทุกวันมีสารเคมีใหม่ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นนับร้อยชนิด บางชนิดที่มีประโยชน์ทางอุตสาหกรรมจะถูกผลิตเพื่อใช้งานอย่างกว้างขวางแต่ไม่มีการพิสูจน์ให้แน่ใจได้ว่าไม่มีอันตรายจากสารเคมีเหล่านี้    ตัวอย่างเช่น สารซีเอฟซี
(Chlorofluoro carbons) มีการใช้งานกว้างขวางในการทำความเย็น ฉีดโฟม ฉีดสเปรย์ และอื่นๆ และกลับพบว่าสารซีเอฟซี เป็นอันตรายต่อบรรยากาศชั้นโอโซนของโลก ปัจจุบันมีการผลิตสารทดแทนสารซีเอฟซีแต่สารทดแทนเหล่านี้ก็เชื่อว่ามีอันตรายเช่นเดียวกัน

สารเคมีอันตรายที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับ ยกเลิกการนำเข้า และห้ามจำหน่าย โดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 2535 ยังคงวางจำหน่ายโดยทั่วไปรวมทั้งสิ้น 9 ชนิดคือ เฮตาคลอร์ เคมฟิคอล (ท๊อกซาฟิน) บีเอชซี 2,4,5 ที, ดีดีที, พาราไรออน, คลอดีมีฟอร์ม, เอ็นดริน, อัลดริน และ เดลดริน

มลพิษโดยทั่วไปจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มของประชากรทำให้มีความต้องการใช้วัสดุและพลังงานเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นปีละสิบกว่าเปอร์เซนต์ มีจำนวนขายยานยนต์เพิ่มขึ้น 35% ในปี 2535 มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมกว่าสิบเปอร์เซนต์

แนวทางควบคุมมลพิษ
การควบคุมมลพิษที่ได้ผลคือการควบคุมแหล่งกำเนิดตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การลดปริมาณตะกั่วในน้ำมันเบนซิน เริ่ม มกราคม 2535 ลดตะกั่วในน้ำมันเบนซินจาก 0.40 กรัม/ลิตร เหลือ 0.15 กรัม/ลิตร ยังผลให้ระดับตะกั่วในบรรยากาศลดจากประมาณ 0.19-0.53 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เหลือ 0.12-0.24 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

การควบคุมผลกระทบทำได้โดยการแยกแหล่งกำเนิดมลพิษให้ห่างไกลจากประชาชน การวางผังเมืองอย่างเหมาะสม เป็นความจำเป็น เบื้องต้น ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ คือ การกำหนดเขตอุตสาหกรรม การกำหนดเขตกันชน (BUFFER ZONE) การจำแนกประเภทโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประเภทมีมลพิษสูง ปานกลาง ต่ำ และการกำหนดมาตรฐานมลพิษ

ที่มา: รศ. วงศ์พันธ์  ลิมปเสนีย์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า