สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อุบัติภัยจากมลพิษที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง

สรุปสถานการณ์อุบัติภัยจากมลพิษจากโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

แผนที่จังหวัดลำปาง
แสดง เขตการปกครอง อำเภอ และระยะทางจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ถึง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ

health-0019 - Copy
1. สภาพมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น
ในระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2535 เครื่องดักจับฝุ่น (Electrostatic Precipitation; จากปล่องของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 2 หยุดทำงาน เนื่องจากมีปัญหา เครื่องเก็บขี้เถ้าอุดตัน ทำให้มีฝุ่นขี้เถ้าออกมาจากปล่องมากกว่าปกติ ประจวบกับระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2535 สภาพอากาศในบริเวณแม่เมาะมีสภาพอากาศปิด มีความกดดันอากาศสูง ทำให้ก๊าซและขี้เถ้าไม่สามารถกระจายผ่านสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงและกระจายตัวออกจากแอ่งแม่เมาะได้ดี นอกจากนี้ทิศทางลมในช่วงเวลา 05.00 น.- 07.00 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม 2535 ลมมีทิศทางพัดจากโรงไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านสบป้าด ด้วยความเร็วต่ำ (0.5 เมตร ต่อวินาที) จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านสบป้าด มีอาการแสบจมูก แสบคอ เวียนศีรษะ ไอ จาม หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ตั้งแต่เวลา 05.00 น. วันที่ 3 ตุลาคม 2535 อีกทั้งยังพบว่ามีใบของพืชหลายชนิด เหี่ยว เฉาและบางส่วนมีลักษณะไหม้

2. ผลกระทบที่เกิดขึ้น
2.1 ด้านสุขภาพอนามัย

2.1.1 วันที่ 3-5 ตุลาคม 2535 เกิดเหตุที่หมู่ที่ 1 บ้านสบป้าด ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะประชาชนมารับการรักษาด้วยอาการเจ็บหน้าอก หายใจขัด แสบจมูก ผลการตรวจรักษาของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลแม่เมาะ พบว่าประชาชนมีอาการป่วย ด้วยโรคโพรงจมูกอักเสบ คออักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ และบางส่วนมีอาการหลอดลมอักเสบและหลอดลมตีบ จำนวนรวม 71 ราย ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 40 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลสบป้าดทั้งหมด

2.1.2 วันที่ 20 ตุลาคม 2535 โรงพยาบาลแม่เมาะได้รับแจ้งจากประชาชนบ้านสบป้าดว่ามีผู้เจ็บป่วยด้วยอาการแสบจมูก มีนํ้ามูก เจ็บคอ แน่นหน้าอก จำนวนประมาณ 213 คน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลแม่เมาะให้การรักษาพยาบาลพบผู้ป่วยมีอาการคออักเสบ 157 ราย โพรงจมูกอักเสบ 132 ราย ตาอักเสบ 77 ราย ทอนซิลอักเสบ 32 ราย ปอดอักเสบ 4 ราย และอื่นๆ 3 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการมากกว่า 1 อาการ และมีผู้ป่วยหนัก เข้ารับการรักษาแผนกผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลแม่เมาะ 2 ราย

ผลการตรวจสมรรถภาพของปอดผู้ป่วย จำนวน 47 ราย พบว่ามีสมรรถภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งเพศชายและเพศหญิงทุกกลุ่มอายุ

2.1.3 วันที่ 21-22 ตุลาคม 2535 ประชาชนบ้านแม่จาง หมู่ที่ 1 ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะมีอาการแน่นหน้าอก แสบจมูก หายใจไม่ออกประมาณ 200 คน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลแม่เมาะ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่เมาะ ให้การรักษาพยาบาล พบผู้ป่วยเจ็บป่วยด้วยคออักเสบ 151 ราย ตาอักเสบ 34 ราย โพรงจมูกอักเสบ 53 ราย ทอนซิลอักเสบ 23 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยมีอาการมากกว่า 1 อาการ

ผลการตรวจสมรรถภาพของปอด พบว่าสมรรถภาพของปอดต่ำกว่ามาตรฐานทั้งเพศชายและเพศหญิงทุกกลุ่มอายุ

สรุป จำนวนผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการเจ็บป่วยจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2535 – 8 พฤศจิกายน 2535 เวลา 08.30 น. ที่รักษาที่ ร.พ.แม่เมาะ สอ.สบป้าดและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ ร.พ.แม่เมาะ ร.พ ลำปาง มีผู้ป่วยใน 34 คน ผู้ป่วยนอกทั้งหมด 1118 คน

ผู้ป่วยรับการรักษาทั้งหมดกับหน่วยงานสาธารณสุข 1371 ครั้ง
ผู้ป่วยใน จำนวน 34 ราย
ผู้ป่วยนอก จำนวน 747 ราย

ผู้ป่วยรับการรักษาที่สถานีอนามัยบ้านสบป้าด
ผู้ป่วยนอกจำนวน 519 ราย
ผู้ป่วยรับการรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ ร.พ.แม่เมาะ และ ร.พ.ลำปาง จำนวน 9 ครั้ง ดำเนินการที่หมู่ 1 ตำบลสบป้าด และหมู่ 1 ตำบลนาสัก และหมู่ 4 ตำบลนาสัก มีผู้ป่วย 1774 ราย

มีผู้ป่วยส่งรักษาต่อที่ ร.พ.แม่เมาะ 3 ราย ร.พ.ลำปาง 1 ราย

การให้การรักษาพยาบาลโดยกองการแพทย์และอนามัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
-ดำเนินการ ณ สถานพยาบาลจำนวน 20 ราย
-ดำเนินการโดยหน่วยเคลื่อนที่ จำนวน 3 หมู่บ้าน (6 ครั้ง) มีผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัย จำนวน 186 คน/364 ครั้ง
-มีผู้ป่วยสิ่งรักษาต่อที่ ร.พ. เขลางค์ จำนวน 1 ราย

2.2 ด้านเกษตรกรรม

2.2.1 สัตว์ – สัตว์ตาย ได้แก่ โค จำนวน 8 ตัว กระบือ จำนวน 23 ตัว
– สัตว์ป่วย ได้แก่ โค-กระบือจำนวน 87 ตัว มีอาการไอ ซึม กินหญ้าน้อย นํ้าลายไหล มีนํ้ามูก ตาแดง ผิวหนังพอง บวม ลอกเป็นแผล หน้าบวม แก้มบวม มีเม็ดตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นบริเวณขาใน และบางตัว เดินขากระเผลก

2.2.2 พืช
ผลกระทบที่ เกิดขึ้นกับพืชผลทางการเกษตรพบว่า ต้นไม้มีอาการเหี่ยว เฉา ใบไม้มีรอยไหม้ พืชผักสวนครัวเสียหาย สรุปความเสียหายดังนี้
ทำนาปี 516 ไร่ 2 งาน ทำไร่ 67 ไร่ 1 งาน พืชผัก เช่น ผักกาด พริก มะเขือ ฟักทอง ฟักเขียว ชะอม บวบ แมงลัก โหระพา มะรุม กระเจี๊ยบ ขิง เสียหาย 54 ไร่ อ้อยโรงงาน 18 ไร่ ฝ้าย 47 ไร่ ละหุ่ง 2 ไร่ 1 งาน งา 2 ไร่ ถั่วลิสง 3 ไร่ ถั่วเหลือง 6 ไร่ 3 งาน มะขาม 47 ไร่ 2 งาน มะม่วง 36 ไร่ 2 งาน น้อยหน่า 4 ไร่ 3 งาน จามจุรี 692 ต้น พืชผักอื่นๆ 662 ไร่ 2 งาน (พืชอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่ง มะเฟือง ขนุน ลำใย ส้มโอ มะปราง มะพร้าว)

3. ความคืบหน้าของการช่วยเหลือ
3.1  รมว. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.สาวิตต์ โพธิวิหก) ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ปลัดจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและคณะประชุมร่วมกันที่ศาลากลางได้ข้อสรุปว่า

1. กฟผ. จะติดตั้งเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ หากพบว่ามีมลพิษจากก๊าซและฝุ่นเพิ่มขึ้น จะทำการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลง (อำนาจในการลดการผลิตได้มอบให้ผู้อำนวยการโรงจักรแม่ เมาะแล้ว)

2. ในระยะเวลายาว กฟผ. จะทำการติดตั้งเครื่องดักsulphurdioxide ในโรงจักรที่ 8-11 และโรงจักรที่จะสร้างใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

3. กฟผ.ยินดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ประชาชนที่เจ็บป่วย สูญเสียสัตว์เลี้ยงและพืช โดยราคายุติธรรม

4. กฟผ.ยินดีให้ข้อมูลผลการตรวจอากาศ และนํ้าและดิน ให้แก่หน่วยงานที่สนใจ

3.2 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากมลพิษ มีการประชุม เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2535 มีมติดังนี้

1. ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และจ่ายค่าเสียเวลาให้ผู้ป่วยวันละ 100 บาท/คน ค่าทำขวัญผู้ป่วยนอก 2000 บาท/คน ผู้ป่วยใน 5000 บาท/คน

2. สัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิต จะจ่ายค่าชดเชยให้เท่าราคาที่ซื้อขายจริง สัตว์เลี้ยงที่เจ็บป่วยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้

3. พืชผลทางการเกษตร จะได้รับค่าชดเชยตามเกษตรและสหกรณ์กำหนด ต้นไม้ที่เสียหายจะตั้งคณะทำงานไปตรวจสอบและชดใช้ค่าเสียหาย

โดยทั้งหมดนี้จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

3.3 สถานการณ์หลังอุบัติภัยครั้งที่ 3 (22 ตุลาคม 2535)
หลังวันที่ 22 ตุลาคม 2535 มีประชาชนเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 180 รายและจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยเก่าครั้งก่อนๆ ด้วย และมีทยอยมารับการรักษาที่ สอ.สบป้าด ร.พ.แม่เมาะ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สำหรับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ สอ.สบป้าด จำนวน 30 คน

3.4 ผลการตรวจอากาศ อุบัติภัยวันที่ 3-5 ตุลาคม 2535 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางไม่ทราบผลการตรวจคุณภาพอากาศ วันที่ 5 ตุลาคม 2535 ผู้อำนวยการกองอนามัยสิ่งแวดล้อมและคณะได้มาช่วยให้คำแนะนำ และได้ส่งรถตรวจอากาศ มาตั้งที่โรงเรียนบ้านสบป้าดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2535 จึงทำให้ทราบผลการตรวจคุณภาพอากาศ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2535 ซึ่งพบว่าสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยของประชาชน ผลการตรวจอากาศวันที่ 20 ตุลาคม 2535 SO สูง เป็น 7 เท่าของค่ามาตรฐาน (พบ 2122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เวลา 10.00 น.) และลดต่ำลงเหลือ 384 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ เมื่อ เวลา 15.00 น.

ผลการตรวจอากาศหลังจาก 20 ตุลาคม 2535 อยู่ในเกณฑ์ปกติมาโดยตลอด ยกเว้นวันที่ 27 และ 29 ตุลาคม มีค่า NO2สูง 380.04 และ 220.12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเวลา 17.00 น. และ 19.00 น. ตามลำดับ (ผลการตรวจ NO2 สูงแต่ค่า NO ไม่สูง แต่เชื่อว่า NO2ถูกต้อง เพราะมีเซนเซอร์ N ซึ่งเป็นผลรวม อาจจะมีการบกพร่องของเครื่องมือในการรวม) และในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 ค่า SO2 เริ่มสูงเวลา 10.00 น. = 102.09 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงสุด เวลา 11.00 น. = 1206.71 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หลังจากนั้นค่า SO2 ยังคงสูงเวลา 12.00น. ,13.00 น., 14.00 น. มีค่า 625.50,421.43,342.90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

4. การช่วยเหลือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
4.1 ดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบ ตั้งแต่ปี 2532 – ปัจจุบัน
4.2 ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง
ผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม (พบว่าประชากรอำเภอแม่เมาะป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ มากกว่าอัตราเฉลี่ยของจังหวัด 3 เท่า)

สภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารและหายใจ (พบว่านักเรียนอายุ 10-15 ปี อำเภอแม่เมาะป่วยบ่อยกว่าเด็กนักเรียนอำเภอแจ้ห่ม 0.5 ครั้ง และเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ 3 เท่า)

4.3 ส่งใบไม้ ฝุ่น และน้ำ ตรวจเพื่อหาปริมาณสารเคมี
4.4 ประสานแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จังหวัดลำปาง และดำเนินการตามแผน
4.5 ดำเนินการสอบสวนโรคโดยทีมสอบสวนโรคของจังหวัดและอำเภอ ให้การสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า
4.6 เตรียมสถานบริการทุกแห่งพร้อมสนับสนุนตามแผนรับอุบัติภัยและจัดตั้ง

1. ทีมรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลลำปาง 2 ทีม
2. ทีมสอบสวนโรคของสำนักงานสาสารณสุขจังหวัด 2 ทีม
3. ทีมให้สุขศึกษาแก่ประชาชน

4.7 ประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการช่วยเหลือผู้ป่วยและหาแนวทางการดำเนินการป้องกันการเกิดมลพิษ
4.8  รายงานกระทรวงสาธารณสุขทราบ เป็นระยะๆ
4.9 ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาจากส่วนกลาง
4.10ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ

5 ข้อเสนอแนะ
5. 1 ทำการศึกษาการรักษาและดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษนี้ พร้อมจัดทำคู่มือการรักษา

5.2 ทำการศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคจิตและโรคประสาท ที่เกิดขึ้นจากความเครียด วิตกกังวลจากผลกระทบของมลพิษนี้

5.3 ทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากมลพิษนี้ เพื่อหาเกณฑ์มลภาวะของ SO2 NO2.NO และ ฝุ่น ที่จะทำให้ประชาชนเจ็บป่วย (สมมติฐานขณะนี้ว่า เกณฑ์ที่ใช้อยู่ขณะนี้สูงเกินไป)

5.4 ทำการศึกษาพื้นที่ปลอดภัย เพื่อวางแผนย้ายประชาชน (ถ้าจำเป็น) โดยหาทิศเหนือลมและระยะทางห่างจากโรงไฟฟ้า

5. 5 จัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัด และประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความสนใจและช่วยเหลือแก้ปัญหารวดเร็วขึ้น หรือเป็นคณะวิจัยร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล และดำเนินการวิจัยร่วมกัน

5.6 จัดตั้งสถานีตรวจมลพิษทางอากาศให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าอุบัติภัยมลพิษจะเกิด ณ บริเวณใด

5.7 ศึกษาค้นหาบริเวณที่ปลอดภัยเตรียมไว้สำหรับย้ายประชากรแบบชั่วคราวหรือถาวร หากจำเป็น

5.8 ปรับ/พัฒนาขบวนการผลิตไฟฟ้า ด้วยถ่านหินลิกไนต์ให้มีปริมาณ SO2 , NO2 และฝุ่นลดลง

5.9 ค้นหาพลังงานอย่างอื่นทดแทนที่มีและพิษน้อยกว่า

ที่มา : นายแพทย์ไชยนันท์  ทยาวิวัฒน์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่เมาะ จ.ลำปาง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า