สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะไตวาย(Renal failure)

เป็นภาวะที่เนื้อไตทั้ง 2 ข้าง ทำงานไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติจากการถูกทำลาย ทำให้น้ำและของเสียเกิดการคั่งไม่ได้ขับออกมาจนเป็นพิษต่อร่างกาย และเกิดผลกระทบต่อดุลของอิเล็กโทรไลต์และความเป็นกรดด่างในเลือด ฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้างก็เกิดภาวะพร่อง จึงทำให้อวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกายมีอาการผิดปกติไตวาย

ภาวะไตวายแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง พบโรคนี้ได้บ่อยในผู้ใหญ่ คนที่มีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนต่อไต หรือใช้ยาที่มีพิษต่อไตมากขึ้นจึงทำให้เกิดภาวะนี้ได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะไตวายเรื้อรัง

สาเหตุ
ไตวายเฉียบพลัน(acute renal failure) อาจมีสาเหตุโดยตรงจากโรคไตหรือภาวะผิดปกติที่อยู่นอกไต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตก็ได้ เช่น

-ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง เช่น การตกเลือด การสูญเสียน้ำ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้น้อยลง

-โรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงรุนแรง

-การติดเชื้อรุนแรง เช่น มาลาเรีย เล็ปโตสไปโรซิส ภาวะโลหิตเป็นพิษ

-โรคไต เช่น หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

-ความผิดปกติของหลอดเลือดในไต เช่น หลอดเลือดแดงไตตีบ ภาวะมีสิ่งหลุดอุดตันในหลอดเลือดแดงไต

-การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ท่อไตถูกผูกโดยความเผอเรอจากการผ่าตัดในช่องท้อง ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

-งูพิษกัด เช่น งูแมวเซาหรืองูทะเลกัด

-ต่อหรือผึ้งต่อย

-ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือสารเคมี เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาต้านเอช ซัลฟาคาน่าไมซิน เจนตาไมซิน อะมิคาซิน ไซโคลสปอรีน แอมโฟเทอริซินบี สารไอโอดีนที่ใช้ฉีดในการตรวจเอกซเรย์พิเศษ เป็นต้น

-ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด

-ภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ตับวาย

ไตวายเรื้อรัง (chronic renal failure) มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ขาดการรักษาอย่างจริงจังเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง เช่น หน่วยไตอักเสบ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตเนโฟรติก นิ่วไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง และยังอาจเกิดจากโรคเกาต์ เอสแอลอี ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคเอดส์ พิษจากยา พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม เป็นต้น

อาการ
ไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 มล. ในเวลา 24 ชั่วโมง หรือไม่มีปัสสาวะออกเลยอาจจะไม่ปวดปัสสาวะหรือแม้สวนปัสสาวะก็จะมีปริมาณเท่านี้เป็นอาการเด่น และในเวลาต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และในที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการซึม สับสน ชัก และหมดสติหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา

ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บป่วยนำมาก่อน เช่น ไข้ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ งูกัด ต่อต่อย ตกเลือด ภาวะช็อกจากสาเหตุต่างๆ เป็นต้น หรือมีประวัติการใช้ยาที่ทำให้เกิดภาวะนี้มาก่อน

ไตวายเรื้อรัง มักไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจนในระยะแรก มักตรวจพบจากการตรวจเลือดขณะมาตรวจสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ซึ่งอาการมักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

เมื่อเนื้อไตทั้ง 2 ข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของไตปกติผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนขึ้น โดยจะสังเกตเห็นว่าในตอนกลางคืนผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะออกมาก ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า หรืออาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวม มีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ในบางราย และในที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก และหมดสติ

สิ่งตรวจพบ
ไตวายเฉียบพลัน อาจตรวจไม่พบความผิดปกติอะไร เว้นแต่อาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ความดันต่ำและชีพจรเร็วในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก อาการดีซ่านในผู้ป่วยโรคตับ ไข้ในผู้ป่วยมาลาเรียหรือโรคติดเชื้อ เป็นต้น

อาจพบอาการซีด หายใจหอบลึก ความดันโลหิตสูง มือจีบเกร็งหรือเป็นตะคริว ใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ ในบางราย

อาจพบอาการซึม ชัก และหมดสติในระยะสุดท้าย

ไตวายเรื้อรัง มักจะตรวจพบอาการซีด ความดันโลหิตสูง ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ จุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง เมื่อเป็นโรคในระยะรุนแรงมากแล้ว

อาจพบอาการเท้าบวม ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ ในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
ไตวายเฉียบพลัน เกิดการคั่งของน้ำในกระแสเลือดเนื่องจากไตขับน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะที่ตามมาคือ ความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวาย

อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้นได้ จากภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีอาการหายใจหอบลึกจากภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากภาวะยูรีเมียทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เนื่องจากเกล็ดเลือดไม่จับตัวจึงทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย เกิดการคั่งของสารบียูเอ็นทำให้อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด มีเลือดออกง่าย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำจะทำให้มีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอก ภาวะติดเชื้อง่าย และอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษตามมา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่มีความรุนแรงไม่มาก ได้แก่ ภาวะซีดเนื่องจากไตสร้างสารอีริโทรพอยเอทินไม่ได้ เมื่อขาดสารนี้จะทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดี ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้มือจีบเกร็ง เป็นตะคริว ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง ภาวะยูริกในเลือดสูง

ไตวายเรื้อรัง อาจพบปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ โรคกระเพาะ ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน ภาวะกระดูกอ่อน ต่อมอัณฑะทำงานน้อย ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย ประจำเดือนผิดปกติหรือประจำเดือนขาด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบนอกเหนือจากแบบเดียวกับไตวายเฉียบพลันแล้ว

การรักษา
1. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หากสงสัยว่าเป็นไตวายเฉียบพลัน แพทย์มักจะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล และทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดผู้ที่เป็นโรคไตวายเฉียบพลันมักตรวจพบว่าระดับบียูเอ็นและครีอะตินีนสูงกว่าปกติ ยิ่งสูงมากก็แสดงว่าโรคยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น พบระดับโพแทสเซียมฟอสเฟตและแมกนีเซียมสูง ระดับแคลเซียมต่ำ เลือดมีภาวะเป็นกรด ระดับเฮโมโกลบินต่ำ หรือพบสารไข่ขาว น้ำตาลเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เมื่อตรวจปัสสาวะ ถ้าจำเป็นอาจต้องเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ และตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม

ให้การรักษาโดยการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุและแก้ไขภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น จำกัดปริมาณน้ำ โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม โปรตีน ฉีดยาขับปัสสาวะ-ฟูโรซีไมด์ ให้โซเดียมไบคาร์บอเนต แก้ภาวะเลือดเป็นกรด และให้เลือดในรายที่ตกเลือด เป็นต้น หรืออาจต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือล้างไตถ้าจำเป็น

ผลการรักษามักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ อาจมีทางรักษาให้หายขาดได้ถ้าเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง โรคติดเชื้อ พิษจากยาบางชนิด ผู้เป็นไตวายเฉียบพลันมีโอกาสเป็นอันตรายถึงตายได้ค่อนข้างสูงเพราะมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

2. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากสงสัยว่าเป็นไตวายเรื้อรัง เพื่อทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ หรืออาจต้องทำการเจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ในบางราย

ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังยังอาจตรวจพบจากการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ว่า ไตทั้ง 2 ข้างฝ่อ นอกจากจะตรวจพบระดับบียูเอ็นและครีอะตินีนในเลือดสูงรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ในเลือดแบบเดียวกับที่พบในภาวะไตวายเฉียบพลันแล้ว

การรักษา ให้การรักษาตามสาเหตุของโรคที่พบได้ชัดเจน เช่น การให้ยาควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดนิ่วในไต เป็นต้น และอาจต้องรักษาภาวะผิดปกติต่างๆ ที่เป็นผลมาจาไตวาย เช่น

-จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่ให้เกินวันละ 40 กรัม

-จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะ 600 มล./วัน น้ำที่ควรได้รับเท่ากับ 600 มล.+800 มล. เป็นต้น

-จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ควรงดอาหารเค็ม เครื่องปรุง ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู อาหารกระป๋อง น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี้ยบ ถ้ามีอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อกว่า 800 มล./วัน

-จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มล./วัน และหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เช่น อะมิโลไรด์ ไตรแอมเทอรีน สไปโรโนแล็กโทน ยาต้านเอช ยาที่เข้าสารโพแทสเซียม เป็นต้น

-จำกัดปริมาณแมกนีเซียมที่กิน ด้วยการงดยาลดกรดที่มีเกลือแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

-ถ้ามีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง หรือภาวะเลือดเป็นกรด ให้กินยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนตครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

-ถ้ามีอาการบวม ให้ยาขับปัสสาวะ-ฟูโรซีไมด์

-ถ้ามีความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย ก็ให้ยาเพื่อรักษาภาวะนั้น

-ถ้ามีอาการซีด อาจต้องให้เลือด หรือเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงอาจต้องฉีดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทินให้กับผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องทำการฟอกล้างของเสีย หรือล้างไต เพราะการรักษาทางยาอาจไม่ได้ผล ซึ่งวิธีการล้างไตมีดังนี้

-การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นวิธีที่สะดวกผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องเปลี่ยนถุงน้ำยาวันละ 4 ครั้ง ทุกวันตลอดไป ทุก 1 เดือน แพทย์จะนัดมาเปลี่ยนสายน้ำยาที่ใช้ฟอกล้างของเสีย ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป

-การล้างไตโดยการฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องไปทำที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งนิยมเรียกกันว่า การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม หรือการทำไตเทียม

การล้างไตแม้ค่าใช้จ่ายจะค่อยข้างแพงแต่ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และอาจอยู่ได้นานมากกว่า 10 ปีขึ้นไปในบางราย

แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเปลี่ยนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายบางราย จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ และมีอายุยืนยาวซึ่งนับเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายในการปลูกถ่ายไตเพราะเป็นวิธีรักษาที่ยุ่งยาก ราคาแพง และต้องหาไตจากญาติสายตรงหรือผู้บริจาคที่มีไตเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจต้องล้างไตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาไตที่เข้ากันได้ และหลังจากปลูกถ่ายไตแล้วผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกันทุกวันตลอดไป เพื่อป้องกันมิให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรติดต่อกับแพทย์สม่ำเสมอ ให้กินยาและปฏิบัติตัว ควบคุมอาหาร ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวได้

2. การใช้ยาอย่างผิดๆ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยามากินเอง หรือปรับขนาดยาเอง รวมทั้งไม่ควรกินยาหม้อยาต้มเพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงได้

3. ควรหาทางป้องกันมิให้เป็นโรคไตวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง เพราะมักจะมีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อร่างกาย ถ้าเป็นเรื้อรังมักจะมีความยุ่งยากและสิ้นเปลืองในการรักษา ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการรักษาเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นไตวายแทรกซ้อน

4. ในปัจจุบันการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้ายได้ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติ จึงควรรณรงค์ให้มีการบริจาคไตกันให้มากขึ้น

การป้องกัน
1. หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเกาต์ ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. จะต้องทำการรักษาให้หายขาดเมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

3. ผู้ป่วยควรรีบรักษาเมื่อป่วยเป็นโรคติดเชื้อ งูกัด หรือท้องเดิน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและทำให้ไตวายตามมาได้

4. ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีเลือดไปเลี้ยงไตไม่ดี เช่น ตับแข็ง หัวใจวาย หลอดเลือดแดงไตตีบ ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อไต

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า