สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(Sleep apnea)

หมายถึงการหยุดหายใจ หรือการหายใจแผ่วสั้นๆ บ่อยระหว่างนอนหลับ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยและส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ปอดทำงานผิดปกติอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ภาวะเช่นนี้พบได้บ่อยในคนอ้วน เพศชาย ผู้สูงอายุ ผู้มีความดันโลหิตสูงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สาเหตุ
เกิดจากภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

-อายุ  เมื่อมีอายุมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อก็จะหย่อนยานทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง ลิ้นไก่และลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 40-70 ปี

-เพศ  พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงช่วยให้กล้ามเนื้อทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจและมีความตึงตัวดีกว่า จึงเกิดภาวะนี้ได้น้อยกว่าผู้ชาย แต่จะพบมากขึ้นจากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

-ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า  คนที่กระดูกใบหน้าแบน คางสั้น จะมีช่องทางเดินหายใจส่วนต้นแคบกว่าปกติ

-ความอ้วน คนอ้วนจะมีไขมันสะสมบริเวณลำคอและทรวงอกมาก ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง การเคลื่อนไหวของหน้าอกน้อยกว่าปกติ

-การบริโภคแอลกอฮอล์ ยากลุ่มประสาทและยานอนหลับ ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ และบริเวณลำคออ่อนแรง จึงทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจได้ง่าย

-การสูบบุหรี่  ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพลดลง

-กรรมพันธุ์  อาจพบคนในครอบครัวหรือเครือญาติเกิดภาวะนี้มาก่อน

-ในเด็ก อาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ใบหน้าเล็ก ลิ้นใหญ่ หรือมีเหตุจากทอนซิลโต ต่อมอะดีนอยด์โต เป็นต้น

เมื่อทางเดินหายใจส่วนต้นถูกอุดกั้นขณะนอนหลับภาวะหยุดหายใจก็จะตามมา อาการที่แสดงมี 2 ลักษณะ คือ

1. การหยุดหายใจ ไม่มีลมหายใจเข้าออกทางจมูกและปากอย่างน้อย 10 วินาที
2. การหายใจแผ่ว  มีลมหายใจเข้าออกทางจมูกและปากลดลง 50% 10 วินาที ให้สังเกตจากการกระเพื่อมของหน้าอกและท้องลดลง

ขณะหยุดหายใจระดับออกซิเจนในเลือดจะต่ำ และเมื่อต่ำถึงระดับหนึ่งสมองจะมีกลไกอัตโนมัติปลุกให้ตื่นทำให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นตึงตัว เปิดช่องทางเดินหายใจให้โล่ง ผู้ป่วยอาจสะดุ้ง สำลักน้ำลาย หรือหายใจเฮือกดังและแรง แล้วจึงจะหายใจได้ปกติต่อไป และจะเกิดภาวะนี้ไปตลอดทั้งคืนอาจมากกว่า 10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่โดยผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวในบางครั้ง

อาการ
ผู้ป่วยจะกรนเสียงดังน่ารำคาญ ร่วมกับการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเป็นช่วงๆ นานอย่างน้อย 10 วินาที หรืออาจนานถึง 1 นาทีในบางครั้ง

ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะหลังตื่นนอน เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยจะง่วงบ่อย นั่งสัปหงก หลับง่ายในช่วงกลางวันขณะทำงาน เรียนหนังสือ นั่งคุยกับผู้อื่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หลังอาหารกลางวัน หรือหลับในในขณะขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรจนได้รับอุบัติเหตุ

ผู้ป่วยมักหลงลืมง่าย เสียสมาธิ หงุดหงิดอารมณ์เสียได้ง่าย

ในเด็กอาจมีร่างกายอ่อนแอ นอนดิ้น หลับไม่สนิท ฝันร้านนอนผวา ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน

สิ่งตรวจพบ
ขณะหลับจะมีภาวะหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเป็นช่วงๆ กรนเสียงดัง
มักไม่พบสิ่งผิดปกติหากตรวจร่างกายขณะตื่นนอนตอนกลางวัน เว้นแต่ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและอ้วน

ภาวะแทรกซ้อน
อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ความดันในปอดสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง โรคซึมเศร้าและความผิดปกติทางจิต อุบัติเหตุจากการขับรถหรือการทำงานกับเครื่องจักร หากปล่อยไว้เรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง

ผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อน ภาวะนี้อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิตได้

อาการนอนกรนเสียงดังอาจสร้างปัญหาในครอบครัวระหว่างสามีภรรยาได้เช่นกัน

ในเด็ก ร่างกายจะพัฒนาได้ช้าลง ฮอร์โมนเจริญเติบโตลดลงทำให้ตัวเตี้ย ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน ไม่มีสมาธิในการเรียนจากการง่วงนอนและพักผ่อนไม่เพียงพอ

การรักษา
หากสงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะตรวจความผิดปกติขณะนอนหลับด้วยวิธีที่เรียกว่า Polysomnography(PSG) โดยผู้ป่วยต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลเพื่อแพทย์จะได้ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดลักษณะการหายใจ การเปลี่ยนแปลงของหัวใจ ปอด สมอง การเคลื่อนไหวของแขนขา ระดับออกซิเจนในเลือด

การรักษาโดยทั่วไปจะให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมเสี่ยงได้แก่
-การลดน้ำหนักตัวให้ได้มากกว่าร้อยละ 10 อาจทำให้หายขาดได้
-ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่กินยานอนหลับ เพื่อลดการอุดกั้นของทางเดินหายใจจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
-ให้นอนในท่าตะแคง หรือท่าที่ทำให้อาการลดลง
-งดสูบบุหรี่

หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผลหรือมีอาการรุนแรง อาจให้การรักษาเพิ่มเติมดังนี้

1. การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรมเพื่อเพิ่มขนาดทางเดินหายใจในขณะหลับ พบว่าใช้ได้ผลในรายที่อาการไม่รุนแรง

2. การใช้เครื่องอัดอากาศเพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ(continuous positive airway pressure/CPAP) เป็นหน้ากากสวมจมูกเวลานอน ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

3. การผ่าตัดขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้นแพทย์จะเลือกใช้วิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายไป ส่วนในเด็กหากมีการหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทอนซิลโตหรือต่อมอะดีนอยด์โต ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน

ข้อแนะนำ
1. การกรนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดที่ไม่อันตรายจะเกิดเสียงดังน่ารำคาญแก่ผู้ใกล้เคียงเท่านั้น แต่ชนิดที่อันตรายจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมาก หากสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

2. ผู้ป่วยควรดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจัง เช่น การลดน้ำหนัก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่กินยานอนหลับ งดบุหรี่ ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้น  การใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับอาการมักกำเริบได้อีกหากหยุดใช้

3. การรักษาอย่างจริงจังจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้เช่น ความดันโลหิตสูงที่พบร่วมด้วยก็จะหายและควรได้รับยาลดความดันในช่วงที่มีความดันโลหิตสูงด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า