สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะพร่องแล็กเทส(Lactase deficiency)

แล็กเทสเป็นเอนไซม์ที่สร้างโดยเยื่อบุลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยแล็กโทรส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่มีในน้ำนมให้แตกเป็นกลูโคสและกาแล็กโทสให้มีขนาดเล็กลงเพื่อง่ายต่อการดูดซึม น้ำตาลแล็กโทสจะไม่ย่อยและถูกดูดซึมหากพร่องเอนไซม์ชนิดนี้ ทำให้มีการดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ทำให้ท้องเดิน เมื่อแล็กโทสผ่านลำไส้ใหญ่จะทำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย เกิดแก๊สในลำไส้ กรดแล็กติกและสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะออกมาในอุจจาระทำให้ท้องเดิน พบได้ในคนทุกวัยโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ส่วนในทารกพบได้น้อย อาการท้องเดินที่เกิดจากภาวะนี้ มักเรียกว่า ภาวะไม่ทนต่อแล็กโทส(lactose intolerance)ภาวะพร่องแล็กเทส

สาเหตุ
ส่วนใหญ่เป็นภาวะพร่องแล็กเทสชนิดปฐมภูมิ ไม่มีสาเหตุชักนำเป็นภาวะที่เกิดตามธรรมชาติของลำไส้เล็กที่สร้างเอนไซม์นี้มากในตอนแรกเกิดและจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ มักจะเริ่มเกิดอาการเมื่ออายุประมาณ 3-5 ปี

ในบางรายอาจเป็นภาวะพร่องแล็กเทสชนิดทุติยภูมิ มักเกิดจากการติดเชื้อที่พบบ่อยได้แก่ ท้องเดินจากไวรัสโรตาในทารก ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย การติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์ หรือเกิดจากการผ่าตัดลำไส้ออกไปมากทำให้ลำไส้สร้างเอนไซม์แล็กเทสได้น้อย  มีเป็นส่วนน้อยที่เกิดจากความผิดปกติโดยกำเนิดที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ที่ทำให้พร่องเอนไซม์ชนิดนี้ตั้งแต่แรกเกิดและแสดงอาการไปตลอดชีวิต

อาการ
จะมีอาการผิดปกติของลำไส้หลังบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมไปประมาณ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณแล็กโทสที่บริโภคและความรุนแรงของภาวะพร่องแล็กเทส มักมีอาการลมในลำไส้มาก ท้องอืด คลื่นไส้ ปวดบิดในท้อง โดยไม่มีท้องเดินในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย แต่ในรายที่เป็นมากจะมีอาการท้องเดินถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลว ผู้ป่วยบางคนอาจดื่มนมได้ 1-2 แก้วก็ไม่เกิดอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย แต่บางรายดื่มแค่เพียงเล็กน้อยก็เกิดท้องเดินขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผันแปรของผู้ป่วยแต่ละราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบภาวะผิดปกติและภาวะขาดน้ำชัดเจน
อาจได้ยินเสียงเคลื่อนไหวของลำไส้ หรืออาการท้องอืด

ภาวะแทรกซ้อน
มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงนอกจากความรำคาญ และทารกที่ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวอาจมีท้องเดินเรื้อรังและน้ำหนักตัวไม่เพิ่ม อาจพบการดูดซึมผิดปกติจากสาเหตุอื่น แต่พบน้อยมากที่เกิดอาการรุนแรงขัดขวางการดูดซึมจนทำให้น้ำหนักลดหรือขาดสารอาหาร

การรักษา
1. หากสงสัยว่าจะเกิดจากภาวะนี้ให้งดนมและผลิตภัณฑ์จากนม 2สัปดาห์ ถ้าหายเป็นปกติก็มักจะเป็นโรคนี้ และควรให้การดูแลรักษาดังนี้
-ผู้ป่วยที่เคยดื่มนมได้แต่เกิดภาวะพร่องแล็กเทสหลังเป็นโรคติดเชื้อ เมื่อรักษาหายแล้วเยื่อบุลำไส้จะฟื้นตัวและสร้างแล็กเทสได้เป็นปกติใน 3-4 สัปดาห์ผู้ป่วยจะกลับมาดื่มนมได้เหมือนเดิม
-ผู้ที่มีภาวะพร่องแล็กเทสเรื้อรังอาจเป็นแต่กำเนิดหรือจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ หลังจากดื่มนมทุกครั้งมักมีอาการกำเริบขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้

–ดื่มนมให้น้อยกว่า 200 มล.ต่อครั้ง หรือดื่มพร้อมอาหาร หรือบริโภคโยเกิร์ตซึ่งผ่านการย่อยจากแบคทีเรียมาระดับหนึ่งแล้วก็อาจทำให้มีอาการน้อยลงหรือไม่เกิดอาการก็ได้
–ถ้าวิธีข้างต้นไม่ได้ผลให้ดื่มน้ำเต้าหู้ เต้าหู ถั่วเหลืองแทน ในทารกให้ใช้นมถั่วเหลืองแทน เช่น โพรโซบี ไอโซมิล แนนซอย เป็นต้น
–ในรายที่ต้องงดนมโดยเด็ดขาดให้บริโภคโปรตีน แคลเซียม และสารอาหารอื่นๆที่มีในนมจากแหล่งอื่น เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ งา ถั่วต่างๆ เต้าหู ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง ผักใบเขียว หรือกินยาเสริมแคลเซียมหากจำเป็นเพื่อสร้างกระดูกในเด็ก และป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
–ในรายที่ต้องการบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์นมต่อไปให้กินเอนไซม์แล็กเทสควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันการเกิดอาการ

2. หากสงสัยในอาการแสดงและเป็นเรื้อรังให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมให้แน่ชัด เช่น การตรวจระดับไฮโดรเจนในลมหายใจ ผู้เป็นโรคนี้จะมีค่าสูงกว่าปกติ ในทารกและเด็กหากตรวจระดับความเป็นกรดในอุจจาระแล้วสูงกว่าปกติก็แสดงว่าเป็นโรคนี้

ข้อแนะนำ
1. อาการท้องเดินที่เกิดจากภาวะพร่องแล็กเทสจากการดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมแล้ว ยังอาจเกิดจากการแพ้โปรตีนในนมซึ่งมีอาการภูมิแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หรือเกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน ควรหาสาเหตุที่ชัดเจนเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

2. ภาวะพร่องแล็กเทสมักไม่มีอันตรายร้ายแรง หากลำไส้ติดเชื้อชั่วคราวสามารถหายขาดได้ แต่ถ้าเป็นภาวะพร่องแล็กเทสแบบถาวรก็ควรให้การดูแลรักษาอย่างจริงจัง ควรสังเกตว่าสามารถดื่มนมได้ในปริมาณเท่าไรจึงไม่เกิดอาการขึ้น หากต้องการงดนมโดยเด็ดขาดก็ควรเลือกบริโภคอาหารให้ถูกต้องและเพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า