สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ(hypoglycemia)

เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลหรือกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยต่ำกว่าปกติหรือต่ำกว่า 50 มก./ดล. ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรง อาจเป็นอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

สาเหตุ
1. อาจพบหลังจากดื่มแอลกอฮอล์จัด อดอาหาร มีไข้สูง หรือออกกำลังมากเกินไป

2. ผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังรักษาด้วยยาเบาหวาน อาจกินอาหารน้อยไป กินผิดเวลา ออกแรงมากไป ใช้ยาเกินขนาด อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ผู้ป่วยที่กินยาเม็ดรักษาเบาหวานในตอนเช้ามักจะมีอาการตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น ส่วนผู้ที่ฉีดอินซูลินตอนเช้ามักจะมีอาการตอนบ่ายๆ

3. มักพบในทารกที่มีน้ำหนักน้อยหรือทารกแรกคลอดที่มารดาเป็นเบาหวาน

4. หญิงตั้งครรภ์ร่างกายมีการใช้น้ำตาลมากขึ้นอาจทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นครั้งคราวได้

5. อาจเกิดภาวะนี้ได้บ่อยๆ ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกไปแล้ว และมักเกิดหลังจากกินอาหารประมาณ 2-4 ชั่วโมง เนื่องจากลำไส้ดูดซึมน้ำตาลเร็วเกินไปแล้วไปกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินออกมามากทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง เรียกว่า “Dumping syndrome”

6. อาจมีสาเหตุจากเบาหวานในระยะเริ่มแรก โรคตับเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อนชนิดอินซูลิโนมา มะเร็งต่างๆ โรคแอดดิสัน เป็นต้น ถ้ามีภาวะนี้อยู่บ่อยๆ

อาการ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก รู้สึกหิว หรืออาจมีปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย พูดอ้อแอ้ แขนขาอ่อนแรง ปากชา มือชา พูดเพ้อ เอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ลืมตัว หรือทำอะไรแปลกคล้ายคนเมาเหล้า ในบางราย

อาจมีอาการชัก หมดสติหากเป็นรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเย็นซีด แขนขาเกร็ง ขากรรไกรแข็ง ในรายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น ชัก หมดสติ ชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันเลือดต่ำหรือปกติก็ได้ รูม่านตามักจะหดลงเมื่อถูกแสงแต่มีขนาดปกติ

ภาวะแทรกซ้อน
อาจจะทำให้สมองพิการ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม หรือวิกลจริต หากปล่อยให้หมดสติอยู่นานหรือเป็นอยู่ซ้ำๆ

การรักษา
ให้ฉีดกลูโคสขนาด 50% จำนวน 50-100 มล. เข้าทางหลอดเลือดดำหากมีความสงสัยว่าจะเกิดภาวะนี้ เมื่อผู้ป่วยฟื้นแล้วแต่ยังกินไม่ค่อยได้ให้เดกซ์โทรส 5% จำนวน 500-1,000 มล.เข้าทางหลอดเลือดดำ

ควรเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลก่อนฉีดกลูโคส ซึ่งมักจะพบว่าต่ำกว่า 50 มก./ดล. หรืออาจจะต่ำกว่า 20 มก./ดล. ในรายที่เป็นมาก

ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้าฉีดกลูโคสแล้วภายใน 30 นาทีอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบต่อไป

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยารักษาเบาหวานอยู่ ควรพกน้ำตาลติดตัวไว้กินทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกมีอาการ หรือผู้ที่มีอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรรีบกินน้ำตาล น้ำหวาน หรือของหวานๆ ทันทีถ้ายังรู้สึกตัวดีอยู่ ซึ่งอาการมักจะทุเลาลงได้ในทันที หากผู้ป่วยหมดสติควรรีบนำไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดเพื่อฉีดกลูโคสเข้าหลอดเลือดดำห้ามกรอกน้ำตาลหรือน้ำหวานเข้าปากผู้ป่วยเพราะอาจทำให้สำลักลงปอดได้

2. ควรบอกให้ญาติและผู้ใกล้ชิดทราบถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะนี้บ่อยๆ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขให้ได้ทันท่วงที เพราะอาจทำให้สมองพิการได้หากปล่อยให้หมดสติหรือชักนานๆ

3. ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดในรายที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ

การป้องกัน
ต้องปรับอาหารการกินและการออกกำลังกายให้พอเหมาะ ไม่อดอาหาร หรือกินอาหารผิดเวลา ไม่ใช้แรงอย่างหักโหมหรือหนักเกินไป และไม่ใช้ยาเกินขนาดที่แพทย์สั่งในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาเบาหวานรักษา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า