สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะตั้งครรภ์(Pregnancy) แพ้ท้อง(Morning sickness)

ภาวะตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างมากมาย ต้องดูแลรักษา ป้องกันภาวะเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อน เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกภาวะตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้องอาจมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่แต่ละบุคคล ซึ่งมักพบอาการมากในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 ของการตั้งครรภ์ และจะมีอาการอยู่จนถึงสัปดาห์ที่ 14-16 แล้วค่อยๆ ทุเลาลงหลังจากนี้

สาเหตุ
ภาวะตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเกิดขึ้น เช่น การโตของมดลูกตามอายุของครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ หลายชนิดที่รกสร้าง การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ ภาวะเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ และบางรายอาจทำให้เกิดโรคและภาวะผิดปกติขึ้นได้

แพ้ท้อง สาเหตุของการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเป็นผลมากจากร่างกายมีระดับเอสโทรเจนและฮอร์โมนเอชซีจีสูง และมีความสัมพันธ์กับภาวะจิตใจและอารมณ์ ซึ่งจะพบอาการแพ้ท้องได้มากในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอารมณ์อ่อนไหว เครียด วิตกกังวล เป็นต้น

อาจมีอาการแพ้ท้องได้มากในหญิงที่มีครรภ์แฝด หรือครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งเชื่อว่าสัมพันธ์กับระดับเอชซีจีที่สูง

อาการ
มักมีอาการอ่อนเพลีย เต้านมคัดและเจ็บ ปัสสาวะบ่อย อาจมีอาการเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น ร่วมกับประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนเลยกำหนดเป็นสัปดาห์ในระยะแรกเริ่ม

ส่วนใหญ่มักพบอาการแพ้ท้องมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรืออาจมีอาการในตอนกลางวันหรือตอนเย็นก็ได้ ด้วยอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม หรืออาเจียนในบางครั้ง มักไม่ชอบกลิ่นอาหาร หรือกลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบ มีความอยากกินของเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะกอก มะดัน เป็นต้น ท้องจะโตขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในระยะเริ่มแรก ควรตรวจปัสสาวะหากมีความสงสัย โดยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปมักจะให้ผลบวกหากมีการตั้งครรภ์ เช่น พลาโนเซก เพรกคัลเลอร์ อีเวนต์เทสต์ เป็นต้น ควรตรวจซ้ำอีกครั้งใน 1 สัปดาห์หากตรวจครั้งแรกให้ผลลบ

จะมีอาการท้องป่อง เต้านมคัด ลานหัวนมมีสีคล้ำ หน้าท้องออกแดงและแตกเป็นลาย จุดแดงรูปแมงมุม เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขา ตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก คลำได้ส่วนต่างๆ ของทารก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนจากสาเหตุต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้ในการตั้งครรภ์

ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องอย่างแรง อาจกินได้น้อย อาเจียนรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด น้ำหนักลด ภาวะขาดสารอาหาร ทากรคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร มารดามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ในบางรายอาจทำให้เซลล์ตับตาย มีภาวะไขมันสะสมในตับของมารดาจนเกิดอาการดีซ่าน ภาวะหลอดอาหารทะลุ ปอดทะลุ ไตวาย ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด หรือภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด

อาจทำให้จอตาอักเสบและมีเลือดออกทำให้ตาบอดได้ในรายที่มีอาการแพ้ท้องอย่างแรงซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงผู้ป่วยควรรีบยุติการตั้งครรภ์

การรักษา
ควรทำการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปถ้าสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือแพ้ท้อง การตรวจอาจได้ผลลบทั้งสองครั้งจากการตรวจด้วยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป ซึ่งถ้าต้องการตรวจให้ได้ผลแน่นอนตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ควรส่งตรวจหาระดับฮอร์โมนเอชซีจีในเลือด ซึ่งจะให้ผลที่แน่นอนกว่า

ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรไปตรวจและฝากครรภ์กับสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลครรภ์ ดังนี้

1. แพทย์จะซักประวัติเพื่อตรวจเช็กสุขภาพทั่วไปของมารดาและทารกในครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ และความเสี่ยง และจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจระดับความเข้มข้นของเลือดรวมทั้งขนาดและลักษณะของเม็ดเลือดแดง กลุ่มเลือด ตรวจกรองโรคเบาหวาน โรคติดเชื้อ ทาลัสซีเมีย

เพื่อดูลักษณะความผิดปกติของทารกในครรภ์แพทย์อาจทำการตรวจอัลตราซาวนด์ในบางราย

2. ให้การดูแลภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ในรายที่มีภาวะโลหิตจางก็ให้ยาบำรุงโลหิต ในรายที่ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เอดส์ก็ให้ยาเพื่อควบคุม ถ้าพบมีภาวะรุนแรงก็ให้การดูแลรักษาให้ปลอดภัย เช่น แท้งบุตร มีการเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น หรืออาจต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลในกรณีที่มีความจำเป็น

3. แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังนี้ ในรายที่มีอาการแพ้ท้อง
-หลังตื่นนอนให้ดื่มนมหรือเครื่องดื่มร้อนๆ
-หลีกเลี่ยงอาหารมันหรือรสจัด ให้กินอาการอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย และกินอาหารที่ยังอุ่นๆ แบ่งเป็นมื้อย่อยๆ วันละ 5-6 มื้อ
-ให้จิบน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำขิงอุ่นๆ หากรู้สึกคลื่นไส้
-ให้อมลูกอมบ่อยๆ จิบน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ทีละน้อยบ่อยๆ เพื่อให้พลังงานและป้องกันป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในรายที่แพ้ท้องมาก กินอะไรก็อาเจียนออกหมด
-ควรดื่มน้ำอุ่นๆ และกลั้วคอล้างกลิ่นที่อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้พะอืดพะอมหลังจากอาเจียนแล้ว
-เพื่อคลายความเครียดและลดความรู้สึกคลื่นไส้พะอืดพะอมควรหาอะไรทำเพลินๆ ไปด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการอยู่นาน 14-16 สัปดาห์แล้วจะทุเลาไปได้เอง

แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อาเจียน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน ไดเมนไฮดริเนต หรือดอมเพอริโดน ครั้งละ 1เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหาร ½ ชั่วโมงในรายที่มีอาการอาเจียนมากจนกินอาหารไม่ได้

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลในรายที่มีอาการอาเจียนรุนแรงและต่อเนื่อง มีภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด ขาดสารอาหาร ตาพร่ามัวซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หรือดีซ่านหรือสงสัยเป็นอาการแพ้ท้องอย่างแรง มักต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และให้อาหารทางสายยางหรือหลอดเลือด หรืออาจต้อทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันมิให้มารดาได้รับอันตรายในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

4. เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางอาจให้ยาบำรุงโลหิต เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรต 200 มก./วัน ควรให้วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ เสริมในรายที่กินอาหารได้น้อย

5. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

6. หญิงตั้งครรภ์ควรปฏิบัติ ดังนี้
-ควรกินอาหารประเภทโปรตีน อาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ผักและผลไม้ให้มากๆ

-ควรงดแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะอาจทำให้ทารกพิการ ปัญญาอ่อน ทารกตัวเล็ก คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้

-ไม่ซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

-สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรทำงานหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป

-ควรพักผ่อนนอนหลับให้มากขึ้น ควรนอนตะแคงเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น ไม่ควรนอนหงายเพราะมดลูกอาจไปกดหลอดเลือดใหญ่และท่อเลือดดำได้

-ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ควรใส่เสื้อชั้นในที่สามารถประคองเต้านมได้ในรายที่เต้านมใหญ่

-ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเพราะอาจทำให้ปวดหลังได้ง่าย

-มีเพศสัมพันธ์ได้จนถึง 4 สัปดาห์ก่อนคลอด ควรหลีกเลี่ยงท่าที่ฝ่ายชายทับบริเวณท้อง และควรงดการร่วมเพศถ้ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

-ควรฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอจนคลอด โดยทั่วไปก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์จะนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ อายุครรภ์ 28-38 สัปดาห์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ และอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ขึ้นไปจะนัดตรวจทุก 1 สัปดาห์

-ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบถ้าหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

-ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ในระยะก่อนคลอด เพราะอาจไม่มีแรงเบ่งคลอด คลอดยาก จากการที่มดลูกไม่บีบตัว

ข้อแนะนำ
1. ควรให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน การดูแลรักษาครรภ์ การปฏิบัติตัว การเตรียมตัวเตรียมใจในการคลอด การเลี้ยงดูทารก รวมทั้งการเตรียมตัวเลี้ยงทารกด้วยนมมารดาและประโยชน์

2. ควรแนะนำให้สามีและญาติเห็นใจ ให้กำลังใจ ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง ควรให้ความมั่นใจว่าอาการจะสามารถหายไปได้เองหลังตั้งครรภ์ได้ 14-16 สัปดาห์

3. การอาเจียนนอกจากจะเกิดจากการแพ้ท้องแล้วยังอาจมีสาเหตุจากโรคตับ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะลำไส้อุดกั้น โรคทางกระเพาะลำไส้ โรคทางสมอง เป็นต้น จึงควรตรวจหาสาเหตุดังกล่าวหากผู้ป่วยมีอาการอาเจียนรุนแรงหรือต่อเนื่อง

4. มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่ายในหญิงตั้งครรภ์ และบางครั้งก็ไม่มีอาการแสดง ขณะฝากครรภ์จึงควรตรวจปัสสาวะเป็นครั้งคราว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน

5. ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบถ้าสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหัดเยอรมันหรืออีสุกอีใส เพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้หรือไม่ เพราะอาจทำให้ทารกเกิดความพิการได้

6. โรคบางชนิด เช่น ไมเกรน เยื่อบุมดลูกต่างที่ อาการมักจะทุเลาลงขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่จะกำเริบขึ้นได้ใหม่หลังคลอด

7. ปัจจุบันมีวิธีตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอดได้ เช่น
-การเจาะเลือดมารดาตรวจระดับ alpha-fetoprotein(AFP), beta-HCG และ unconjugated estriol เทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อตรวจกรองความผิดปกติของโครโมโซมและระบบประสาทของทารก เช่น กลุ่มอาการดาวน์ ภาวะไม่มีสมอง ความผิดปกติของไขสันหลัง

-มีภาวะเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นกลุ่มอาการดาวน์ในมารดาอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมารดาเคยคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ มีประวัติการแท้งบ่อย บิดามารดาเป็นโรคหรือมียีนแฝงของทาลัสซีเมีย พบความผิดปกติของโครโมโซมจากการตรวจกรองเลือด การเจาะดูดน้ำคร่ำ หรือเก็บตัวอย่างเนื้อรกจากมารดา พบความพิการจากการตรวจอัลตราซาวนด์

8. ควรป้องกันความผิดปกติของทารก ซึ่งในบางรายควรทำตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น
-ควรฉีดวัคซีนป้องกันในรายที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน และอีสุกอีใส

-การกินกรดโฟลิก 4 มก. วันละครั้ง ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ จนกระทั่งพ้นระยะตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เพื่อช่วยป้องกันไม่ใช้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท เช่น spida bifida เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า