สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะขาดไทรอยด์/ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย(Hypothyroidism)

เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ จึงขาดฮอร์โมนไปกระตุ้นร่างกายทำให้ทำงานได้ช้า เกิดอาการไม่สบายต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน พบได้ในคนทุกวัย มักพบมากในผู้หญิงวัยกลางคน แต่พบโรคนี้ได้ไม่บ่อยนักภาวะขาดไทรอยด์

สาเหตุ
อาจมีสาเหตุการเกิดโรคได้หลายอย่าง หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแต่เชื่อกันว่าอาจเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง ที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง บางรายอาจเกิดจากการใช้ยา เช่น ลิเทียม อะมิโอดาโรน เป็นต้น หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งที่บริเวณคอ บางรายอาจเกิดจากสาเหตุความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคชีแฮน เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกสมอง เป็นต้น ในเด็กเล็กอาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในมารดาระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือต่อมไทรอยด์เจริญได้ไม่เต็มที่มาแต่กำเนิด

อาการ
ในผู้ใหญ่ จะค่อยๆ เกิดอาการอย่างช้าๆ เป็นเวลานานนับเดือน หรือแรมปี ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เกิดอาการท้องผูกเป็นประจำจากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยมักมีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้งๆ ที่กินไม่มากเนื่องจากร่างกายทำงานช้าทำให้มีการใช้พลังงานน้อย รู้สึกหนาวมากกว่าคนปกติ อาจมีอาการเสียงแหบ หูตึง เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่นทำให้ปวดชาปลายมือ เนื่องจากสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์สะสมที่กล่องเสียง ประสาทหู และช่องที่เส้นประสาทมือผ่าน อาจไม่มีความรู้สึกทางเพศในบางราย ในผู้หญิงประจำเดือนอาจไม่มาหรือมีประจำเดือนออกมาก

ผู้ป่วยมักมีอาการซึมลงจนหมดสติ เรียกว่า “Myxedema coma” ถ้าเป็นรุนแรง ซึ่งมักมีสาเหตุกระตุ้นจาก ถูกความเย็นมากๆ ได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนาร์โคติก เป็นต้น

ในทารกแรกเกิด มักมีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม เสียงแหบ ท้องผูกบ่อย มีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ เด็กจะมีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว กินไม่เก่ง เฉื่อยชา หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้องเด็กมักจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ เรียกว่า สภาพแคระโง่(cretinism) หรือเด็กเครติน(cretin) หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า โรคเอ๋อ

สิ่งตรวจพบ
มักจะพบอาการหน้าและหนังตาบวมฉุๆ ผิวหนังหยาบ แห้ง และเย็นในผู้ใหญ่ เนื่องจากมีการสะสมของสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์อยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ขนคิ้วร่วง ผมร่วง ผมบางและหยาบ ชีพจรเต้นช้าอาจต่ำกว่า 50 ครั้ง/นาที ซีด มือเท้าเย็น ลิ้นโตคับปาก มักพบว่ารีเฟล็กซ์ของข้อมีระยะคลายหรือคืนตัวช้ากว่าปกติ อาจตรวจพบอาการคอพอก หรือไม่ก็ได้ ในทารกอาจตรวจพบอาการตัวอ่อนปวกเปียก ผิวหยาบแห้ง ลิ้นโตคับปาก ท้องป่อง สะดือจุ่น ซีด ดีซ่าน

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจโต หัวใจวาย ติดเชื้อง่าย เป็นหมัน แท้งบุตรง่าย เป็นโรคจิต ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ หรืออาจเกิดภาวะหมดสติ เรียกว่า “Myxedema coma” ในรายที่เป็นรุนแรง อาจทำให้ตัวเตี้ยแคระ ปัญญาอ่อนได้ในทารก

การรักษา
ควรรีบส่งโรงพยาบาลหากสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าจะเกิดโรค แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดพบว่ามีระดับฮอร์โมนไทร็อกซีนต่ำกว่าปกติ ระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ หรือ TSH มักจะสูง ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับน้ำตาลและโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นต้น อาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ อาจพบภาวะหัวใจโต เนื่องจากภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ

แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยกินฮอร์โมนไทร็อกซีน เช่น เอลทร็อกซิน วันละ 1-3 เม็ดทุกวัน เพียงไม่กี่วันผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น และร่างกายจะเป็นปกติได้ภายในไม่กี่เดือน หากขาดยาอาการจะกำเริบขึ้นมาใหม่ได้ ผู้ป่วยจึงต้องกินยานี้ไปตลอดชีวิต

ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุ 1 เดือนในทารกแรกเกิด โดยจะต้องกินยาทุกวันห้ามหยุดยาจะทำให้เด็กสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมอง

การป้องกัน
การตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์และฮอร์โมนไทร็อกซีนในเลือดของทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาพแคระโง่ หากพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์จะได้รีบรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยให้เด็กเติบโตได้ตามปกติ ดังนั้นจึงควรตรวจเลือดทารกแรกเกิดทุกคนแม้จะมีอาการหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงที่อยู่ในพื้นที่ขาดสารไอโอดีน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า