สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษเห็ด(Mushroom poisoning)

มีเห็ดอยู่หลายชนิดที่มีพิษอยู่ หรืออาจมีพิษอยู่หลายชนิดซึ่งอยู่ในเห็ดชนิดเดียวก็ได้ อาการแสดงจากภาวะเห็ดพิษจึงมีหลายลักษณะ และมักมีอาการแบบอาหารเป็นพิษ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน แต่เห็ดบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เพราะมีพิษต่ออวัยวะที่สำคัญ เช่นเห็ดพิษ

-พิษต่อตับ เช่น เห็ดตระกูลอะมานิตา มีสารพิษสำคัญที่ร้ายแรงต่อตับ ชื่อ อะมาท็อกซิน ทำให้ตับวาย ไตวาย เห็นนี้เป็นเห็ดขนาดใหญ่ รูปทรงสะดุดตา ขึ้นอยู่ทั่วไปตามเรือกสวนไร่นาและป่าเขา ที่มักเรียกกันว่า เห็ดระโงกหิน หรือชื่ออื่น เช่น เห็ดไข่ห่านตีนตัน เห็ดระโงก เห็ดระงาก เห็ดสะงาก เห็ดไข่ตายซาก เป็นต้น มักเป็นสาเหตุการป่วยและการตายที่สำคัญแก่ผู้ที่กินเห็ดชนิดนี้เข้าไป

-พิษต่อประสาทส่วนกลาง เป็นเห็ดตระกูลไจโรมิทรา(Gyromitra) มีพิษไจโรมิทริน(gyromitrin) หรือเรียกว่า โมโนเมทิลไฮดราซีน(monomethylhydrazine) มักจะทำให้เกิดพิษต่อสมอง และยังทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และภาวะเมตเฮโมโกลบินในเลือด ภาวะตับวาย และไตวาย เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีเห็ดตระกูล ซิโลไซบ์(Psilocybe) มีพิษชื่อ ซิโลไซบิน(psilocybin) และซิโลซิน (psilocin) มีโครงสร้างทางเคมีคล้าย ซีโรโทนิน มีฤทธิ์คล้ายสารเสพติดแอลเอสดี ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน และมีการทำลายประสาทอย่างรุนแรง เห็ดชนิดนี้มักเรียกกันทั่วไปว่า เห็ดขี้ควาย ซึ่งมักขึ้นอยู่ตามกองขี้วัวขี้ควายแห้งทั่วไป

-พิษต่อประสาทอัตโนมัติ เป็นเห็ดตระกูล อิโนไซบ์(Inocybe) และคลิโทไซบ์(Clitocybe) มีพิษมัสคารีน(muscarine) ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทซิมพาเทติก พิษชนิดนี้ถูกทำลายด้วยความร้อนได้ อาการพิษคล้ายพิษยาฆ่าแมลงประเภทออร์แกโนฟอสเฟตแต่รุนแรงน้อยกว่า

นอกจากนี้ก็ยังมีเห็ดพันธุ์ Amanita muscaria มีพิษมัสซิมอล(muscimol) และกรดไอโบเทนิก (ibotenic acid) ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิกคล้ายอะโทรพีน และมีฤทธิ์ทำให้มีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย

-พิษต่อไต เป็นเห็ดตระกูลคอร์ตินาเรียส(Cortinarius) มีพิษออเรลลานีน(orellanine) และออเรลลีน(orelline) หลังจากกินเห็ดเข้าไป 1-3 สัปดาห์จะทำให้เกิดภาวะไตวาย พิษชนิดนี้มักถูกทำลายด้วยความร้อน

-พิษร่วมกับแอลกอฮอล์คล้ายไดซัลฟิแรม เป็นเห็ดตระกูล โคพรินัส(Coprinus) มีพิษ โคพรีน(coprine) ทนต่อความร้อน เมื่อกินเห็นร่วมกับแอลกอฮอล์จึงจะเกิดพิษขึ้น

เห็ดบางชนิดแม้จะปรุงให้สุกแล้วพิษก็ยังไม่ถูกทำลายเพราะมีความทนต่อความร้อน เช่นเห็ดที่มีพิษร้ายแรงอย่างเห็ดระโงกหิน แต่เห็ดบางชนิดก็อาจลดพิษหรือทำลายพิษได้ด้วยการปรุงให้สุก เช่น พิษมัสคารีน พิษไจโรมิทริน เป็นต้น ซึ่งอาการแสดงเมื่อได้รับเห็ดพิษเข้าไปมักขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับเข้าไป

อาการ
1. พิษชนิดอ่อน ไม่มีพิษต่ออวัยวะสำคัญ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน แบบอาการอาหารเป็นพิษทั่วไป หลังจากกินเห็ดเข้าไปประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมงหรืออาจใช้เวลาน้อยหรือมากกว่านี้ก็ได้ แล้วจึงทำให้เกิดอาการขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ถ้าเป็นรุนแรง และภายใน 24 ชั่วโมงก็มักจะหายไปได้เอง

2. พิษต่อตับ (เห็ดระโงกหิน) หลังจากกินเห็นเข้าไปประมาณ 6-24 ชั่วโมง มักทำให้เกิดอาการขึ้น โดยจะมีอาการปวดบิดเกร็งในท้อง อาเจียน ถ่ายท้องรุนแรง เกิดขึ้นในระยะแรก หรืออาจถ่ายมีมูกเลือดปน เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงตายได้ในบางราย แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนดูเหมือนปกติถ้าได้รับสารน้ำและเกลือแร่ทดแทนอย่างเพียงพอ จนกระทั่ง 2-4 วันหลังกินเห็ดจะเกิดภาวะตับวายเนื่องจากเซลล์ตับถูกทำลายรุนแรง และมีภาวะไตวายและหัวใจวายร่วมด้วย ซึ่งมักมีอัตราการตายสูง

3. พิษต่อประสาทส่วนกลาง มักเกิดจากเห็ดตระกูลไจโรมิทรา ที่ทำให้เกิดพิษไจโรมิทริน ถ้าไม่ได้ปรุงให้สุกก็จะมีพิษมาก หลังจากกินเห็นเข้าไป 6-24 ชั่วโมง มักจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน เป็นตะคริวแต่อาการมักจะไม่รุนแรง และจะมีอาการเพ้อ ชัก หมดสติในเวลาต่อมา และอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะเมตเฮโมโกลบินในเลือด ตับวาย ไตวายได้ อัตราการตายสูงพอประมาณ

พิษซิโลไซบินและซิโลซีน (เห็ดขี้ควาย) ประมาณ 30-60 นาทีหลังจากกินเห็ดเข้าไป ผู้ป่วยมักจะมีอาการรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน เดินโซเซ รูม่านตาขยาย ใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิตสูง มีการเคลื่อนไหวมากผิดปกติ หรืออาจมีอาการชักในบางราย หรืออาจตื่นตระหนก กลัวตาย และมักไม่รุนแรงถึงตายจากภาวะพิษชนิดนี้

4. พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ
-พิษมัสคารีน เมื่อไม่ปรุงให้สุกจะทำให้เกิดพิษมาก หลังจากกินเห็นเข้าไปประมาณ 30-60 นาที ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน ท้องเดิน ปัสสาวะราด น้ำตาไหล น้ำลายฟูมปาก เสมหะมาก หลอดลมหดเกร็ง ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาหดเล็ก และมักจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

-พิษมัสซิมอลและกรดไอโบเทนิก ประมาณ 30 นาทีหลังจากกินเห็ดเข้าไปผู้ป่วยมักจะมีอาการเมา เดินโซเซ เคลิ้มฝัน ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า ประสาทหลอน เอะอะโวยวาย ต่อมาจะหลับนานและเมื่อตื่นขึ้นมาอาการก็จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน แต่จะเกิดอาการคล้ายพิษอะโทรพีน ถ้ากินเข้าไปมากๆ เช่น หน้าแดง ตัวแดง ตื่นเต้น เพ้อ กล้ามเนื้อสั่นและกระตุก ชัก รูม่านตาขยาย ชีพจรเต้นช้า มักจะไม่รุนแรงถึงตาย

5. พิษต่อไต อาการของผู้ป่วยหลังจากกินเห็นเข้าไปประมาณ 24-48 ชั่งโมง ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน มักจะเป็นแบบไม่รุนแรง เมื่ออาการทุเลาหรือหายแล้ว หลังจากกินเห็ดเข้าไป 36 ชั่วโมง ถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีภาวะไตวายตามมา โดยมักจะปวดที่เอว กระหายน้ำมาก ปัสสาวะออกมากและบ่อย หรือปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ง่วงนอน และภาวะไตวายมักจะเป็นอยู่อย่างเรื้อรังนานเป็นแรมเดือนแรมปี

6. พิษร่วมกับแอลกอฮอล์ ประมาณ 10-30 นาที หลังจากกินเห็นแกล้มแอลกอฮอล์ หรือเมื่อดื่มแอลกอฮอล์หลังจากกินเห็ดแล้วถึง 1 สัปดาห์ มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ หน้าแดง ตัวแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหงื่อแตก ชาตามตัว รูม่านตาขยาย ความดันโลหิตสูง หรืออาจมีความดันโลหิตต่ำในบางราย

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำในระยะแรก โดยเฉพาะในรายที่อาเจียนและถ่ายท้องมากๆ และในระยะต่อมาอาจพบอาการอื่นๆ เช่น ดีซ่าน อาการทางระบบประสาท ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำหรือสูง รูม่านตาขยายหรือหดเล็ก

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตลงได้ ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะตับวายจนทำให้มีอาการซึม ชัก หมดสติ ดีซ่าน จ้ำเขียวตามตัว ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดภาวะไตวายทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย มีปัสสาวะออกมากและบ่อย หรืออาจจะปัสสาวะออกน้อย ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ

การรักษา
ควรให้การปฐมพยาบาลแล้วรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วถ้าพบผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการทางระบบประสาทหรือทางจิต หลังจากที่กินเห็นเข้าไป โดยเฉพาะเห็ดที่ไม่รู้จัก หรือพบมีอาการพร้อมๆ กันหลายคนจากการกินเห็ด

ลักษณะอาการและประวัติการกินเห็ด ซึ่งแพทย์มักจะใช้เพื่อการวินิจฉัยภาวะพิษเห็ดที่เกิดกับผู้ป่วย หรือตรวจตัวอย่างเห็ดที่เป็นสาเหตุด้วย และอาจมีประโยชน์ในการแยกแยะสาเหตุ จากการซักถามช่วงเวลาที่กินเห็ดกับช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการจากผู้ป่วย ซึ่งมักเกิดจากพิษชนิดอ่อนและไม่ร้ายแรงนักถ้าเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดเข้าไปน้อยกว่า 6 ชั่วโมง อาจเป็นพิษพวก ซิโลไซบินและซิโลซิน พิษต่อประสาทอัตโนมัติ เช่น พิษจากมัสคารีน มัสซิมอล และกรดไอโบเทนิก แต่มักจะเกิดจากพิษที่ร้ายแรง ได้แก่ พิษต่อตับที่เกิดจากเห็ดระโงกหิน พิษต่อไตหรือพิษไจโรมิทริน หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังจากกินเห็ดเข้าไปมากกว่า 6 ชั่วโมง หรือมักจะเกิดจากพิษโคพรีน ถ้าเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์ 2-72 ชั่วโมง

ให้การรักษาขั้นพื้นฐาน เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ประเมินการทำงานของตับและไตด้วยการตรวจเลือด และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ปรับดุลสารน้ำและเกลือแร่ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยากล่อมประสาท ให้ยากันชัก ให้กลูโคส เป็นต้น

ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบเมื่อทราบว่าเป็นเห็ดพิษชนิดใด หรือผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดเจนว่าเป็นจากพิษชนิดใด
-พิษต่อตับ (เห็ดระโงกหิน) ทุก 4 ชั่วโมงให้ผงถ่านกัมมันต์ และให้ยาต้านพิษ เช่น เพนิซิลลินจี ขนาด 300,000-1,000,000 ยูนิต/กก./วัน เข้าหลอดเลือดดำร่วมกับให้กิน ไซลิบินิน ขนาด 20-50 มก./กก./วัน หรือให้กรดไทโอเอติก หยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 75-500 มก./วัน หรือไซเมทิดีน 10 กรัม/วัน เป็นต้น หรืออาจทำการล้างไตโดยวิธีฟอกเลือด ถ่ายพลาสมา hemofiltration หรือ hemoperfusion หรืออาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในกรณีที่มีภาวะตับวายรุนแรง

-พิษไจโรมิทริน ทุก 4 ชั่วโมงให้ผงถ่านกัมมันต์และยาระบาย ให้ยาต้านพิษ ได้แก่ ไพริดอกซีน เข้าหลอดเลือดดำ ในขนาด 25 มก./กก.

-พิษซิโลไซบินและซิโลซิน(เห็ดขี้ควาย) ควรแยกผู้ป่วยอยู่ในที่สงบ และให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพมในรายที่มีอาการตื่นตระหนก ประสาทหลอน กลัวตาย

-พิษมัสคารีน ให้อะโทรพีน เข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 1-2 มก. ให้ซ้ำได้จนกระทั่งเสมหะแห้ง ภายใน 24 ชั่วโมงอาการมักจะดีขึ้น

-พิษมัสซิมอลและกรดไอโบเทนิก ให้ไดอะซีแพม ขนาด 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำ ถ้ามีอาการชัก

-พิษต่อไต ควรตรวจเลือดดูการทำงานของไตเป็นระยะๆ ปรับดุลสารน้ำและเกลือแร่ หรืออาจล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือด หรือทำ hemoperfusion และอาจต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพราะไม่มียาต้านพิษ

-พิษร่วมกับแอลกอฮอล์ อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำถ้ามีความดันโลหิตต่ำ หรือถ้ายังไม่ได้ผล ให้นอร์เอพิเนฟรีนแทน หรืออาจต้องทำการฟอกล้างของเสียทางเลือดถ้าอาการรุนแรงมาก

ข้อแนะนำ
1. ควรให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นและส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลถ้าพบผู้ป่วยมีอาการเป็นพิษจากเห็ด ผู้ป่วยไม่ควรวางใจแม้จะดูเป็นปกติแล้ว เนื่องจากพิษต่อตับและไตอาจค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจกินเวลาเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ก็ได้ จึงควรตรวจเลือดประเมินการทำงานของตับและไตเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่กินเห็ดระโงกหินเข้าไป จนกว่าจะตรวจเลือดแล้วไม่พบความผิดปกติของตับหลังเกิดอาการ 7 วันไปแล้ว

2. ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายของเห็ดพิษ วิธีป้องกัน อาการแสดง และการปฐมพยาบาล รวมทั้งการเก็บเศษอาหารที่อาเจียนและชิ้นส่วนเห็ดส่งไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลด้วย

3. มักเป็นพิษที่ไม่ร้ายแรงหากผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากกินเห็ดเข้าไป แต่ถ้าหลังจาก 6 ชั่วโมงไปแล้วก็มักจะเป็นพิษชนิดร้ายแรง แต่ถ้ากินเห็ดพิษหลายชนิดพร้อมกันการเกิดอาการเร็วก็อาจไม่ได้ประกันว่าจะไม่เป็นพิษร้ายแรง ซึ่งอาจมีตามมาภายหลังก็เป็นได้

4. ผู้ป่วยที่เกิดจากพิษต่อตับหรือไต อาจมาพบแพทย์ในช่วงที่มีอาการของตับวายแล้ว เช่น ดีซ่าน จ้ำเขียวตามตัว ซึม เพ้อ ชัก หรือมีภาวะไตวาย เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ง่วงนอน เบื่ออาหาร ปัสสาวะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ จึงควรคิดถึงภาวะพิษจากเห็ดไว้เสมอถ้าพบอาการดังกล่าว

การป้องกัน
1. ห้ามกินเห็ดระโงกหินเป็นอันขาดไม่ว่าจะปรุงสุกหรือไม่ก็ตาม เพราะมักจะทำให้เกิดพิษต่อตับ

2. ไม่ควรบริโภคเห็ดป่าหรือเห็ดที่ไม่รู้จัก หรือเห็ดที่เก็บมาจากบริเวณที่เคยมีเห็ดพิษขึ้นมาก่อน

3. ควรมีผู้ร่วมตรวจสอบด้วยเสมอในการเก็บเห็ดมาบริโภค และไม่ควรเก็บในบริเวณที่มีสารพิษตกค้าง

4. ในการบริโภคเห็ดธรรมชาติหรือเห็ดป่าควรปฏิบัติดังนี้
-เห็ดบางชนิดพิษจะถูกทำลายได้เมื่อถูกความร้อน จึงควรปรุงให้สุกเสียก่อน ไม่ควรกินแบบสดๆ

-ไม่ควรนำเห็ดหลายชนิดมาปรุงรวมกัน ควรแยกจากกันเพื่อง่ายต่อการวินิจฉัยถ้าเกิดพิษขึ้น

-ควรเก็บดอกเห็ดที่อ่อนและแก่ไว้อย่างละดอกเป็นอย่างน้อย ไม่ควรนำไปปรุงจนหมด เพราะหากเกิดการเป็นพิษขึ้นมาจะได้นำส่งไปวิเคราะห์ได้

5. ไม่ควรนำเห็ดที่ผ่านการพิสูจน์โดยวิธีพื้นบ้านมาบริโภค เช่น ใช้ช้อนเงิน งาช้าง ข้าวสาร หัวหอม หรือใช้ร่องรอยการทำลายจากหนอน แมลง และสัตว์ รวมทั้งการสังเกตลักษณะรูปทรง สีสันของเห็ด หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรนำมาบริโภค

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า