สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษหอยทะเล(Shellfish poisoning)

บางครั้งอาจมีพิษอยู่หลายชนิดในหอยทะเล เช่น หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม เป็น ทำให้เกิดอาการเป็นพิษเมื่อบริโภคเข้าไป อาการส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง และที่รุนแรงถึงตายพบได้เป็นส่วนน้อย โดยเฉพาะถ้าเกิดจากพิษที่มีชื่อว่า แซกซิท็อกซิน ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายพิษของปลาปักเป้าและแมงดาถ้วย และพิษของหอยทะเลทุกชนิดมักจะมีความทนต่อความร้อนพิษหอยทะเล

อาการ
อาการส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณพิษที่ได้รับเข้าไป เช่น
1. ถ้าเกิดจากพิษตับอ่อน ได้แก่ กรดโอคาแดอิก จะไม่มีพิษต่อประสาท แต่จะทำให้มีอาการปวดท้อง อาเจียนและท้องเดินแบบอาการอาหารเป็นพิษทั่วไป เรียกว่า “Diarrheal shellfish poisoning/DSP”

2. ถ้าเกิดจากพิษต่อประสาทร้ายแรง ได้แก่ แซกซิท็อกซิน มักเกิดอาการขึ้นหลังจากกินหอยทะเลเข้าไปประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยอาจมีอาการชาและรู้สึกเสียวแปลบๆ ที่ริมฝีปาก ลิ้นหน้า แล้วลุกลามไปที่แขนขาอย่างรวดเร็วในระยะแรก และต่อมาอาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน หรืออาจมีอาการปวดหัว รู้สึกตัวลอย เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดลำบาก กลืนลำบาก ชีพจรเต้นช้า ถ้าเป็นมาก และเนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตอาจทำให้หายใจไม่ได้และเสียชีวิตภายใน 2-24 ชั่วโมง แต่มักจะฟื้นตัวและหายเป็นปกติดีถ้ามีชีวิตรอดเกิน 24 ชั่วโมงหลังจากมีอาการเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการอยู่นาน 3-5 วัน ถ้าพบในเด็กอาการจะรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งอาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า “Paralytic shellfish poisoning/PSP”

3. ถ้าเกิดจากพิษกรดโดโมอิก ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ภายหลังจากกินหอยทะเลไปไม่นาน และต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะ อาจมีอาการหลงลืมชั่วคราว หรืออาจมีอาการชัก หมดสติ แขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงในรายที่เป็นรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาก็อสจเสียชีวิตได้ อาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า “Amnestic shellfish poisoning/ASP”

4. ถ้าเกิดจากพิษเบรเวท็อกซิน หลังจากกินหอยทะเลเข้าไป 15 นาที ถึง 18 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน แสบก้น และรู้สึกเสียวแปลบๆ ที่หน้า ลำตัว และแขนขา การรับรู้อุณหภูมิจะตรงข้ามกับความเป็นจริง ปวดกล้ามเนื้อ เดินเซ บ้านหมุน ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทคล้ายพิษปลาทะเล หรืออาจมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้เช่นกัน คือ อาการสั่น กลืนลำบาก ชีพจรเต้นช้า รูม่านตาขยาย แต่กล้ามเนื้อจะไม่เป็นอัมพาต มักมีอาการอยู่นาน 1-72 ชั่วโมงแล้วจึงฟื้นเป็นปกติ อาการเป็นพิษชนิดนี้เรียกว่า “Neurologic shellfish poisoning/NSP”

สิ่งตรวจพบ
ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ และจะพบอาการเสียวแปลบๆ ที่ปาก ลิ้น หน้า แขนขา การรับรู้อุณหภูมิตรงข้ามกับความเป็นจริง มีอาการหลงลืม ในรายที่รับพิษต่อประสาท

อาจพบกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาขยาย ชัก หมดสติ ในรายที่เป็นรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
มักทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอาจช็อกได้ หรืออาจเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยถ้าเป็นจากพิษที่ร้ายแรง

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรให้การปฐมพยาบาลแล้วรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจก็ควรทำการช่วยหายใจโดยการเป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

แพทย์มักจะให้การรักษาขั้นพื้นฐานและแก้ไขไปตามอาการที่พบเช่นเดียวกับพิษของปลาปักเป้า และพิษปลาทะเล เช่น ในรายที่ชีพจรเต้นช้า อาจใช้เครื่องช่วยหายใจและให้อะโทรพีน เป็นต้น

ข้อแนะนำ
ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปให้ทราบถึงพิษภัยของหอยทะเล และควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วถ้าหลังจากกินหอยทะเลเข้าไปแล้วมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการของระบบประสาท เช่น ชา และเสียวแปลบๆ ที่ปาก ลิ้น หน้า แขนขา การรับรู้อุณหภูมิตรงข้ามกับความเป็นจริง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีอาการหลงลืมเกิดขึ้น

การป้องกัน
1. ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมมีการแพร่พันธุ์ของสาหร่ายแดงทำให้หอยมีพิษมากจึงไม่ควรบริโภคหอยทะเลในช่วงนี้

2. เพื่อลดปริมาณพิษที่อาจจะได้รับเข้าไปโดยบังเอิญ จึงควรบริโภคหอยทะเลในปริมาณที่พอดีไม่มากจนเกินไป

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า