สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษปลาปักเป้า(Puffer fish poisoning)

พิษปลาปักเป้า(Puffer fish poisoning)
พิษแมงดาถ้วย(Horseshoe crab poisoning)

สารเทโทรโดท็อกซิน คือสารพิษที่มักจะมีสะสมอยู่ในตัวของปลาปักเป้าและแมงดาถ้วย หากได้รับพิษจากสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ มักจะมีอาการแสดงและวิธีการดูแลรักษาที่เหมือนๆ กัน

พบภาวะนี้ได้ในคนทุกวัย มักพบเป็นพร้อมกันหลายคนจากการกินสัตว์น้ำชนิดนี้ และพบมีผู้ป่วยที่ตายจากภาวะนี้ได้เป็นครั้งคราว

ปลาปักเป้า พบปลาชนิดนี้ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล จะมีลักษณะเหมือนปลาทั่วไปแต่รอบตัวจะมีหนามสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด และมักจะพองตัวออกคล้ายลูกโป่งหรือทุเรียนที่มีหนามแหลมเมื่อถูกรบกวน ปลาปักเป้ามีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า puffer fish, globe fish, balloon fish, swell fish, toad fish เป็นต้น หรือชื่อญี่ปุ่นว่า ฟูหงุปลาปักเป้า

ปลาปักเป้าทะเลจะมีพิษมากในไข่ ตับ ลำไส้ หนัง แต่มีพิษน้อยในเนื้อปลา ส่วนปลาปักเป้าน้ำจืด จะมีพิษมากสุดที่หนัง ไข่ เนื้อปลา ตับ ลำไส้ ตามลำดับ และในฤดูวางไข่พิษก็จะมีมากขึ้น

แมงดาถ้วย ชนิดที่ชอบอยู่ตามป่าชายเลน ลักษณะตัวเล็ก หางกลมเรียว ไม่มีหนาม มีพิษเช่นเดียวกับปลาปักเป้า ในไข่แมงดาจะมีพิษมากกว่าในเนื้อ ส่วนแมงดาทะเล หรือ แมงดาจาน จะไม่มีพิษ ลักษณะตัวจะใหญ่ หางเหลี่ยม มีหนามเล็กน้อย มักอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกแมงดาถ้วย

อาการ
อาการจะแสดงขึ้นหลังจากกินปลาปักเป้าหรือแมงดาถ้วยไปประมาณ 10-45 นาที หรืออาจถึง 4 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 12-20 ชั่วโมงในบางราย ซึ่งถ้ากินพิษเข้าไปมากอาการก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่ริมฝีปากและลิ้นของผู้ป่วยจะรู้สึกชาและเสียวแปลบๆ ในระยะแรก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ตัวลอยๆ หรืออาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วยในบางราย

อาการชาจะลุกลามไปที่ใบหน้า แขน ขา และปลายมือปลายเท้าในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเปลี้ยกล้ามเนื้อ ไม่ค่อยมีแรง จนลุกขึ้นยืนหรือเดินไม่ได้ และอาจรู้สึกแน่นอึดอัดหายใจไม่ค่อยออก

อาการจะรุนแรงมากขึ้น กล้ามเนื้อจะมีอาการอ่อนแรงมากขึ้นถ้ารับพิษเข้าไปมาก ผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้ตามต้องการ และต่อมาจะมีอาการกลืนลำบาก พูดลำบาก พูดตะกุกตะกักจนพูดไม่ได้ แต่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีในระยะนี้

ในระยะสุดท้าย เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลม หน้าอก และท้องเป็นอัมพาต อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ได้หรือหยุดหายใจ ตัวเขียว หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วถ้าไมได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ความรุนแรงและระยะของโรคมักขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย

ถ้ากินพิษมาก ภายใน 20-30 นาที อาจเสียชีวิตหลังจากเริ่มมีอาการชาที่ปาก เนื่องจากอาการที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว หรืออาจเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง หรือภายใน 24 ชั่วโมงในบางราย

แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และอาจต้องใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงจึงจะค่อยๆ ฟื้นตัวสู่สภาพปกติได้

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการชาและการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เป็นอัมพาตบริเวณแขนขา พูดลำบาก กลืนบาก หรือเนื่องจากอาเจียน และท้องเดินอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ หรือพบอาการตัวเขียว หายใจไม่ได้ ชักหรือหมดสติ ชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รูม่านตาขยายทั้งสองข้างไม่มีปฏิกิริยาต่อแสงในรายที่เป็นแบบรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงซึ่งเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วย คือ ภาวการณ์หายใจล้มเหลว หรือเนื่องจากการสำลักอาจมีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนได้

การรักษา
ควรให้การปฐมพยาบาลแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีหากมีอาการน่าสงสัย เช่น มีอาการชาที่ริมฝีปากและลิ้น หรือแขนขาอ่อนแรงหลังจากกินปลาปักเป้าหรือแมงดาด้วยเข้าไป ควรเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและให้การช่วยเหลือจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลหากพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ

ลักษณะอาการสำคัญที่แพทย์มักจะใช้ในการวินิจฉัย เช่น อาการชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือประวัติการกินปลาปักเป้าหรือแมงดาถ้วย

แพทย์จะให้การรักษาขั้นพื้นฐานและเฝ้าติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและให้การแก้ไขไปตามอาการที่พบเนื่องจากไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ เช่น อาจต้องใส่ท่อหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่หายใจไม่ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 9-12 ชั่วโมงกว่าพิษจะถูกขับออกจากร่างกายหมด ผู้ป่วยควรได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำทุกราย หรือให้ยากระตุ้นความดัน เช่น โดพามีน ถ้าความดันโลหิตต่ำมาก หรือให้อะโทรพีน ถ้าชีพจรเต้นช้า หรืออาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจหากใช้ยาแล้วยังไม่ได้ผล หรือในบางรายอาจช่วยให้อาการกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงดีขึ้นด้วยการให้ นีโอสติกมีน หรือ อีโดรโฟเนียม

ผู้ป่วยมักจะรอดชีวิตและฟื้นตัวเป็นปกติได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหากได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยเฉพาะการแก้ไขอาการหายใจไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ในระยะแรกแบบเดียวกับอาหารเป็นพิษ แต่จะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า และแขนขาร่วมด้วย จึงควรซักถามผู้ป่วยถึงประวัติการกินอาหารโดยเฉพาะปลาปักเป้า หรือแมงดาถ้วย หรืออาการชาที่เกิดขึ้น และรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที

2. ควรส่งผู้ป่วยเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมงไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะหายได้เป็นปกติถ้าสามารถมีชีวิตรอดได้ภายหลังมีอาการ 24 ชั่วโมงไปแล้ว

3. ควรให้ความรู้ถึงพิษภัยและอาการแสดงจากการกินปลาปักเป้าและแมงดาทะเลแก่คนทั่วไป เพื่อให้รู้จักระวังตัว โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อปลาตามร้านอาหารเพราะพิษไม่อาจถูกทำลายได้แม้จะปรุงจนสุกแล้ว หากพบอาการแบบอาหารเป็นพิษหลังบริโภคอาหาร เช่น รู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น หรือใบหน้าควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

4. โรคนี้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอัมพาตและหยุดหายใจคล้ายโรคโบทูลิซึม แต่จะต่างกันตรงการเรียงลำดับ โดยโรคนี้จะเริ่มมีอาการที่แขนขาแล้วไปที่ใบหน้าไปสิ้นสุดที่หน้าอก หน้าท้อง ส่วนโบทูลิซึมจะเริ่มมีอาการเริ่มที่หน้า มาที่หน้าอก หน้าท้อง แล้วไปที่แขนขา และโรคนี้จะมีอาการชาที่ปาก ลิ้น หน้าและแขนขา ส่วนอีกโรคหนึ่งจะไม่มีอาการชา

การป้องกัน
1. ไม่ควรกินปลาปักเป้าหรือแมงดาถ้วย หรือแมงดาทะเลที่ไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดใด แม้จะปรุงให้สุกด้วยวิธีใดๆ แล้วก็ตาม

2. ควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารที่ทำจากเนื้อปลาตามร้านอาหาร และควรบริโภคเนื้อปลาที่ทราบชนิดแน่ชัดว่าไม่ใช่ปลาปักเป้าเท่านั้น เนื่องจากในบางครั้งผู้จำหน่ายอาจนำเนื้อปลาปักเป้ามาเจือปนในอาหาร จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบ เช่น ก๋วยเตี๋ยวปลา ข้าวต้มปลา ต้มยำปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย ผัดกะเพราปลา สเต็กปลา ไข่ปลา หรือปลาร้า เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า