สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษปลาทะเล(Ciguatera)

บางครั้งในปลาทะเลอาจมีพิษที่มีชื่อว่า ซิกัวท็อกซิน(ciguatoxin) อยู่ และเมื่อบริโภคเข้าไปก็จะทำให้เกิดพิษภัยขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปลาสาก ปลาน้ำดอกไม้ ปลากะพง ปลานกแก้ว ปลากะรัง หรือปลาหมอทะเล เป็นต้นพิษปลาทะเล

อาการเป็นพิษจะมีความรุนแรงถ้าเกิดในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ แต่โดยทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นไม่รุนแรง มีอัตราการตายค่อนข้างน้อย

อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นประมาณ 2-6 ชั่วโมงหลังจากกินปลาทะเลเข้าไป มักมีอาการแบบอาหารเป็นพิษ คือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นอาการที่พบในระยะแรกๆ

ส่วนอาการทางประสาท เช่น อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกเสียวแปลบๆ เหมือนถูกเข็มตำที่บริเวณปากและลิ้น ปวดและเสียวแปลบๆ ที่แขนขาและมือเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรับรู้อุณหภูมิเป็นแบบตรงกันข้ามกับความเป็นจริง มักเกิดขึ้นหลังจากกินปลาเข้าไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถึง 3 วันแล้ว และผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตถ้าเป็นแบบรุนแรง และยังอาจมีอาการเหงื่อแตก น้ำลายไหล หายใจขัด หนาวสั่น มักจะใช้เวลาเป็นอยู่นานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในอาการทางประสาท และผู้ป่วยอาจมีอาการคันและสะอึกร่วมด้วยในช่วงหลังๆ

สิ่งตรวจพบ
เนื่องจากการอาเจียนและท้องเดิน จึงอาจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำได้ และอาจตรวจพบอาการเสียวแปลบๆ ที่ปาก ลิ้น แขนขา มือเท้า การรับรู้อุณหภูมิตรงข้ามกับความเป็นจริง แขนขาอ่อนแรง หรืออาจพบว่าชีพจรเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเหล่านี้เป็นอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และช็อกได้ หากมีอาการเจียนหรือถ่ายท้องรุนแรง หรืออาจหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ในรายที่เป็นรุนแรง

การรักษา
ควรให้การปฐมพยาบาลแล้วรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีหากสงสัย เช่น มีอาการอาหารเป็นพิษ ร่วมกับอาการเสียวแปลบๆ ที่ปาก ลิ้น แขนขา การรับรู้อุณหภูมิตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นหลังจากกินปลาทะเลเข้าไป และควรให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไปจนกว่าจะถึงพยาบาลถ้ามีอาการหยุดหายใจเกิดขึ้น เช่น เป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

ลักษณะอาการและประวัติการกินปลาทะเลจะเป็นการวินิจฉัยที่สำคัญของแพทย์ และให้การรักษาขั้นพื้นฐาน เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาแบบประคับประคองและแก้ไขอาการที่พบ เช่น ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ให้พาราเซตามอลเพื่อบรรเทาปวดต่างๆ บรรเทาอาการคันด้วยยาแก้แพ้ หรือบรรเทาความรู้สึกเสียวแปลบๆ และอาการคันด้วย อะมิทริปไทลีน เป็นต้น หรือให้อะโทรพีนถ้าชีพจรเต้นช้า หรือบางรายแพทย์อาจช่วยลดอาการของระบบประสาทด้วยการให้ แมนนิทอล 1 กรัม/กก. ในรูปสารละลาย 20% ในอัตรา 500 มก./ชั่วโมง

อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่เป็นรุนแรงถึงขึ้นหยุดหายใจ แต่มักพบได้เป็นส่วนน้อย

เมื่อให้การรักษาผู้ป่วยอาจจะมีอาการอยู่นานหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ และหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในรายที่เป็นรุนแรง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจไม่ได้ ก็อาจมีชีวิตรอดอยู่ได้

ข้อแนะนำ
1. ควรหลีกเลี่ยงการกินปลาและหอยทะเลอีกหลังจากอาการทุเลาแล้ว จนกว่าจะหายเป็นปกติเสียก่อน ผู้ป่วยไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาประเภทฝิ่น และบาร์บิทูเรต เนื่องจากจะทำให้อาการแย่ลง

2. ควรรีบไปรักษาที่โรงพยาบาลถ้ากินปลาทะเลแล้วมีอาการอาเจียน ท้องเดิน และมีอาการทางประสาทร่วมด้วย เช่น รู้สึกเสียวแปลบๆ ที่ปาก ลิ้น แขนขา และการรับรู้อุณหภูมิตรงข้ามกับความเป็นจริง

การป้องกัน
ไม่ควรกินปลาทะเลตัวโต มีน้ำหนักมากกว่า 2-3 กก. ไม่ว่าจะปรุงหรือทำให้สุกด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะเครื่องในปลา เพราะอาจทำให้เกิดอาการพิษปลาทะเลได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า