สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช

จากรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำสัปดาห์ของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 พบว่ามีผู้ป่วยได้รับสารพิษระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ. 2532 ที่หมู่ 12 ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 22 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 12 ราย. ผู้ป่วย 4 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยอาการ central scotoma ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของไต. ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น toxic retinopathy with nephropathy เนื่องมาจากเข้ารับการรักษาล่าช้า. ผลการสำรวจพื้นที่โดยกองระบาดวิทยาพบว่าการเกิดภาวะพิษมีความสัมพันธ์กับนํ้าดื่มนํ้าใช้ แต่ไม่พบสารพิษต้นเหตุ.

จากการทบทวนรายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2531 เกี่ยวกับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีพบว่า อุทัยธานีเป็นจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยประเภทนี้สูงมาก, เป็น 1 ใน 10 จังหวัด ที่มีอัตราผู้ป่วยภาวะพิษ จากสารกำจัดศัตรูพืชสูง และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม organo- phosphate และ carbamate compounds. ถึงแม้การป่วยหลายครั้งที่เกิดขึ้นยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนเกี่ยวกับอันตรายจากสารกำจัดแมลง แต่นายแพทย์ปรีชา ดีสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความเห็นเตือนประชาชนผ่านสื่อมวลชนว่า การเจ็บป่วยส่วน ใหญ่ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน มักมียาฆ่าแมลงเป็นสาเหตุหนึ่งรวมอยู่ด้วย. นับถึงตุลาคม พ.ศ. 2531 ประเทศไทยมีสารกำจัดศัตรูพืชที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตรถึง 2,420 ชื่อ และเหตุร้องเรียนเกี่ยวกับสารกำจัดแมลงมีปรากฏอยู่ในสื่อมาลชนค่อนข้างบ่อย เช่นในหลายปีที่ผ่านมามีรายงานร้องทุกข์ของโรงเรียนธารนํ้าผึ้ง จังหวัดยะลา ว่าทุกครั้งที่สวนส้มรอบๆ โรงเรียนมีการพ่นยา ครูและนักเรียนประมาณ 150 คน จะมีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนจากพาราไธออน.

รัตนา จิรกาลวิศัลย์ และคณะได้รายงานการเฝ้าระวังภาวะพิษจากยาฆ่าศัตรูพืชในประเทศไทย พ.ศ.2531พบว่า อัตราป่วยเพิ่มจาก 0.56 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2515 เป็น 8.64 คน ต่อประชากรแสนคนในพ.ศ. 2530, แต่อัตราตายต่อผู้ป่วย 100 คนลดลงจาก 3.47 เหลือ 0.95 ในช่วงเวลาเดียวกัน. สถิติปี พ.ศ. 2530 พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี. ผู้ป่วยชายต่อหญิงเท่ากับ 2 ต่อ 1. ภาคเหนือพบอัตราป่วยสูงสุด เท่ากับ 20.1 ต่อประชากรแสนคน. ช่วงเวลาที่มีการป่วยสูงสุด คือ เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน และสารเคมีกลุ่มยับยั้งเอ็นซัยม์โฆลินเอสเตอเรสเป็นสาเหตุสำคัญ. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 63.37) รองลงไปคือ อาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 12.07).

ส่วนการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อม และอาหารในปี พ.ศ. 2521-2528 พบว่าแม่น้ำท่าจีนมีสารกำจัดแมลง ในกลุ่มออร์แกโนคลอรีนสูงที่สุด ส่วนแม่นํ้าตาปีและแม่นํ้ามูลเป็นลำนํ้าที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวมากที่สุดในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ.

สารพิษตกค้างในอาหารที่ตรวจใน พ.ศ. 2525-2528 พบถึงร้อยละ 52.5 ของจำนวน 663 ตัวอย่าง และพบดีดีทีเป็นส่วนใหญ่, โดยมีระดับที่เกินกว่าที่ยอมรับได้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 71 (พ.ศ. 2525) อยู่ร้อยละ 1.4.

ในประเทศเพื่อนบ้านคือฟิลิปปินส์ที่มีอุบัติการหลายอย่างคล้ายคลึงกับประเทศไทย ได้รายงานเรื่องการใช้สารฆ่าแมลงกับการตายที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในชนบทของ Central Luzon ไว้ โดย Michael E. Lovinsohn ใน Lancet June 13, 1987 พบว่าอัตราตายจาก non traumatic ในปี พ.ศ. 2519-2527 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำสารฆ่าแมลงมาใช้ในฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นถึง 27.4 ในประชากร ชายชนบทวัยแรงงานอายุ 15-54 ปี ในขณะที่อัตราดังกล่าวลดลง ในกลุ่มชายเขตเมือง และได้คาดประมาณว่าในปีหนึ่งๆ จะมีประชากรทั่วโลกตายจากพิษสารกำจัดแมลงโดยไม่ตั้งใจ (accidental intoxication) ประมาณ 1 หมื่นคน.

ปัญหาสุขภาพจากสารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยเกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเกษตรกร และส่วนที่ผู้คนได้รับเข้าไปโดยไม่ตั้งใจจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาหาร และนํ้า ทำให้ปัญหานี้ควรได้รับการให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น ถึงแม้อัตราป่วยจะค่อนข้างต่ำ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการรายงานโรคที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยกองอาชีวอนามัย ได้จัดโครงการรณรงค์เพื่อลดอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรเขต 3 และ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว และจะดำเนินการต่อเนื่องไปอีก.

ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล พ.บ., M.P.H
กองอาชีวอนามัย, กรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า