สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษจากยาฆ่าแมลงตกค้าง

ปัจจุบันประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีเหลือเฟือเริ่มขาดแคลนลง จึงต้องมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลย์กับความต้องการของพลเมืองที่เพิ่มขึ้น ทางด้านอาหาร จำเป็นต้องขวนขวายใช้วิทยาการใหม่ๆ เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นต้ ช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารจากผลิตผลทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงยังเป็นสิ่งจำเป็นทางด้านสาธารณสุขด้วย เพราะได้ใช้ยานี้ ในการกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เช่น ยุง แมลงวัน และแมลงสาบ เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาฆ่าแมลงหากผู้ใช้ปฏิบัติไม่ถูกตัอง อาจตกค้างอยู่ในอาหารเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ เช่น เกษตรกรรีบเก็บพืชผลของตนก่อนเวลาอันสมควรภายหลังการฉีดยา หรือนำยาฆ่าแมลงฉีดอาหาร หรือบริเวณที่เก็บอาหาร เพื่อไล่มดและแมลงไม่ให้มาไต่ตอมด้วยรู้เท่าไม่ถึงการผู้บริโภคไม่รู้ก็เกิดอันตรายได้ อย่างดีที่ผู้บริโภคจะป้องกันได้ก็โดยการล้างผักผลไม้ ปลาเค็ม หรือเนื้อเค็ม ด้วย น้ำสะอาดที่ไหลถ่ายเทได้ หลายๆ ครั้งเท่านั้น

ด้วยยาฆ่าแมลงหรือยาปราบศัตรูพืชเป็นสิ่งจำเป็น และใช้กันกว้างขวางในด้านการเกษตรและการสาธารณสุข ยาฆ่าแมลงบางชนิดสลายตัวได้ยาก คงเหลือตกค้างกระจายตัวในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น จับตามผิวนอกของพืชในบริเวณที่ฉีดหรือพ่น และบริเวณใกล้เคียง บางส่วน อาจจับอยู่ตามผิวหน้าดิน รากพืชก็จะดูดเอาวัตถุดิบที่เจือปนด้วยสารเป็นพิษ แล้วตกค้างตามส่วนต่างๆ ของพืช หรือบางส่วนอาจถูกฝนชะล้างลงสู่ทะเลไปสะสมอยู่ในสัตว์ แล้วจะวนเวียนมาสู่คนในที่สุด ด้วยการที่คนไปรับประทานผัก ผลไม้หรือสัตว์เหล่านั้นเข้า

อาหารที่พบว่ามียาฆ่าแมลงตกค้างอยู่ ได้แก่อาหารพวกผัก ผลไม้ที่เก็บเกี่ยวหลังจากพ่นยาฆ่าแมลงแล้วเร็วเกินไป เนื้อสัตว์ตากแห้ง ทั้งเนื้อปลาและเนื้อสัตว์อื่นๆ พวกเนื้อเค็มและ ปลาเค็ม นอกนั้นก็มีพวกของดองต่างๆ ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ขายนิยมใช้ยาฆ่าแมลงพ่นเพื่อป้องกันหนอน แมลงวันหรือกันบูดโดยรู้เท่าไม่ถึงการหรือหวังผลเพียงการค้าเท่านั้น นอกจากนี้ละอองจากยาฆ่าแมลง เช่น ดีดีที ในบ้านเรือน โรงพยาบาล อาจจะตกลงในโอ่งน้ำใช้หรืออาหารได้

ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืชมี 2 พวก คือ
1. Organo-chlorine หรือ Chlorinated Hydrocarbon เป็นยาฆ่าแมลงที่แพร่หลายมาก ได้แก่

(1) ดีดีที (DDT=Dichloro Diphenyl Trichloroethane) เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก โดยการกิน ทางจมูกโดยการหายใจ และทางผิวหนัง หากได้รับมากๆ กล้ามเนื้อที่หน้า และคอกระตุก เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หมดสติและถึงตายได้ หากได้รับทีละน้อยจะเกิดพิษเรื้อรังไปทำลายตับและระบบประสาท เกิดเป็นโรคผิวหนัง อ่อนเพลีย เป็นนานๆ อาจชักและตายได้ แม้จะได้ ดีดีที มานานถึง 35 ปีแล้วก็ตาม

(2) แอลดริน ไดแอลดริน (Aldrin Dialdrin) เข้าสู่ร่างกายทั้งกับอาหารและลมหายใจ ได้รับขนาดปานกลางทำให้เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากได้รับมากๆ ทำให้ชักและตายได้ และถ้าได้รับทีละน้อยเป็นเวลานานอาจชัก หากการสะสมนั้นมากก็จะชักและตายได้เหมือนกัน

(3) พีซีบี (PCB=Polychlorinated Biphenyls) ภาษาการค้าเรียกว่า Aroclor ใช้กันมากในอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับอาหาร หรืออาจเคลือบอยู่บนผิวภาชนะ พลาสติกบรรจุอาหาร ปนเปื้อนอาหารเมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกสะสมไว้ในตับ ทำให้เกิดมะเร็งได้ถึงจะได้รับเพียงปริมาณน้อยๆ เพียงวันละ 0.0001 มก. ต่อ นน. ร่างกาย 1 กก. ทำให้ตาบอด เกิดดีซ่าน ปวดท้อง บวมน้ำ (edema) ปวดหัว อาเจียน ท้องร่วง เป็นไข้ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ห้ามใช้สารนี้ในอุตสาหกรรมอาหารโดยเด็ดขาด จะเห็นว่าถึงแม้ว่าสารนี้มีฤทธิ์ฆ่าแมลงแต่ไม่ได้นิยมใช้ฆ่าแมลง

2. Organo-phosphate เป็นอนุพันธุ์ของกรดฟอสฟอริก ที่ใช้กันมาก คือ พาราไธออน (Parathion) และมาลาไธออน (Malathion) เป็นยาฆ่าแมลงที่มีพิษรุนแรงฆ่าได้รวดเร็ว เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก จมูก และผิวหนัง แต่ส่วนใหญ่เข้าทางจมูกและผิวหนัง อาการคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เวียนหัว อาเจียน ตะคริว ท้องร่วง แน่นหน้าอก น้ำตาไหลพราก ๆ น้ำลายไหล เหงื่อแตก ตามัวและกล้ามเนื้อกระตุก เป็นมากๆ ถึงชักเข้าขั้นโคม่าและตายได้

ด้วยยาฆ่าแมลงพวก Organo-phosphate สลายตัวง่าย จึงควรเก็บเกี่ยวพืชผลอย่างน้อย 14 วันหลังจากพ่นยาแล้ว ทำให้ปลอดภัยจากพิษของยาฆ่าแมลงที่ตกค้างได้เกือบหมด

ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยก่อนปรุงหรือรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ปลาเค็มและอาหารอื่น เพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนเสมอ ทั้งนี้เพราะการล้างมีผลทำให้ปริมาณสารเป็นพิษที่ตกค้างตามผิวนอกส่วนใหญ่ลดลง แต่สำหรับสารตกค้างที่พืชดูดซึมจากรากสู่ส่วนต่างๆ นั้นไม่สามารถล้างออกได้เลย ยาฆ่าแมลงหรือยาปราบศัตรูพืชมักจะมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าจุดเดือดของน้ำ ดังนั้นการต้มหรือนึ่ง ผัก ปลา ฯลฯ จะปลอดภัยที่สุด เพราะยาฆ่าแมลงนั้น จะสลายไปกับน้ำหมด แล้วจึงนำแต่ละส่วนของผักไปปรุงอาหารต่อไป

ในการเลือกซื้ออาหารเพื่อความปลอดภัยจากพิษของยาฆ่าแมลง ถ้าเป็นปลาเค็ม เนื้อเค็ม ฯลฯ ควรซื้อที่มีแมลงวันตอม หากแมลงวันไม่ตอมแสดงว่าเขาพ่นยาฆ่าแมลงเอาไว้ พวกผัก ที่ใช้รับประทานสดไม่ควรซื้อหาที่มีใบสวยไม่มีแผลหรือร่องรอยแมลงวันกัดกิน เพราะนั่นแสดงว่าผู้ปลูกพ่นยาฆ่าแมลงไว้ ควรซื้อหาที่ใบมีรอยแมลงกัดกินบ้าง ทางที่ดีแล้วควรปลูกผักสวนครัวไว้กินเองเป็นปลอดภัยที่สุด และเชื่อได้แน่นอนว่าปลอดภัยจากพิษยาฆ่าแมลง ถ้าหากหันมานิยมรับประทานผักพื้นเมืองที่ขึ้นอยู่หลังบ้าน ตามรั้ว ในท้องไร่ ท้องนา หรือในสวน เช่น ผักโขม ยอดชะอม ยอดกระถิน ลูกกระถิน ลูกสะตอ ดอกแค ยอดแค มะรุม ยอดโสน หัวปลี ผักหวาน ยอดมะกอก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดสะเดา ดอกสะเดา ยอดมัน ยอดทองหลาง ยอดเสม็ดชุน ผักแว่น ผักกาดนกเขา ใบบัวบก ใบชะพลู ผักตำลึง ยอดฟักทอง ฯลฯ

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า