สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษจากถุงพลาสติกบรรจุอาหาร

ปัจจุบันนี้เป็นยุคของพลาสติก โดยเฉพาะสำหรับอาหารแล้ว เราจะมองเห็นอาหารที่บรรจุหรือหุ้มห่อด้วยภาชนะพลาสติกในรูปที่ทำเป็นถุง ขวดกล่อง ถ้วย ฯลฯ มีจำหน่ายอยู่ตามร้านอาหารสำเร็จรูปทั่วไป แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะพลาสติกในลักษณะถุงหรือแผ่นซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกับแม่บ้านทั่วไปอย่างดี ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ถุงพลาสติกที่พ่อค้าแม่ค้าใช้บรรจุกาแฟเย็น โอเลี้ยง ก๋วยเตี๋ยวขณะร้อนบ้างก็ใช้แผ่นพลาสติกรองรับอาหารบางชนิด เช่น ก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่แห้งแล้วห่อหุ้มด้วยกระดาษอีกทีหรืออาหารที่มีความประสงค์จะเก็บไว้นานๆ จะบรรจุในถุงพลาสติกชนิดที่เหมาะสมแล้วผนึกปากถุงด้วยความร้อน

ความจริงการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ทำให้อาหารที่บรรจุอยู่สะอาดตาน่ารับประทานนอกจากจะป้องกันอาหารไม่ให้สัมผัสกับสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่นละออง แมลงวัน ฯลฯ แล้วยังสะดวกต่อการถือและขนส่ง เพราะมีน้ำหนักเบากว่าภาชนะอย่างอื่น เช่น ขวดหรือกระป๋อง

พลาสติกมีอยู่หลายชนิดผู้ใช้จะเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม แต่เมื่อใช้เกี่ยวข้องกับ อาหารแล้วควรจะคำนึงถึงว่าพลาสติกที่ใช้นั้นจะต้องเป็นพิษภัยแก่ร่างกายผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติกนั้นประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น สี และสารที่ทำให้พลาสติกมีคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความอ่อนความแข็ง ความทนทานต่อความร้อน ต่อการขัดสี ต่อการสึกหรอและอื่นๆ สารเหล่านี้อาจเป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อนำมาบรรจุอาหารสารเหล่านี้อาจจะละลายลงไปปนกับอาหารได้

สำหรับคนทั่วไปในประเทศเราเมื่อพูดถึงถุงพลาสติกก็จะรู้จักกันอยู่ 2 อย่างคือ ถุงพลาสติกธรรมดา และถุงร้อน ถุงธรรมดานั้นทำด้วยแผ่นโพลีเอธีลีนบรรจุของร้อนจัดไม่ได้ ส่วนถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารร้อนๆ นั้นทำจากแผ่นโพลีโปรลีน ซึ่งทนความร้อนได้ถึงอุณหภูมิของน้ำเดือด

เนื่องจากเกิดสถานการณ์ขาดแคลนวัสดุสำหรับผลิตพลาสติกในเวลานี้ทำให้ถุงพลาสติกมีราคาแพงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จึงได้มีผู้ที่คิดนำเอาถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่เท่าที่ปรากฏอยู่ 2 วิธีการ คือ

1. นำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาล้างแล้วตากเก็บไว้ใช้ต่อไป ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วแม้จะนำมาล้างก็จะทำให้สะอาดเท่าเดิมไม่ได้ ซึ่งต่างกับภาชนะอื่นๆ เช่นขวดแก้ว เพราะฉะนั้นจึงขอแนะนำว่าไม่ควรนำมาใช้กับอาหารอีกเพราะจะทำให้อาหารที่บรรจุไม่สะอาด เสื่อมคุณภาพ และเสียง่ายอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค

2. นำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาล้างและหลอมทำพลาสติกเม็ดแล้วส่งโรงงานทำถุงพลาสติกต่อไป

ปัจจุบันเกิดมีอาชีพใหม่คือ อาชีพเก็บถุงพลาสติกจากกองขยะ แม่น้ำ ลำคลองไปขาย โรงงานซึ่งผลิตพลาสติกเม็ด การผลิตใช้กรรมวิธีล้างและหลอมถุงพลาสติกเหล่านั้นทำเป็นพลาสติกเม็ด แล้วนำกลับไปทำถุงหรือแผ่นพลาสติกออกมาจำหน่ายอีก ถุงเหล่านี้มีลักษณะต่างไปจากเดิม บ้างมีความขาวและใสไม่เท่าเดิม ถ้าเป็นถุงที่ไม่เติมแต่งสีจะมีสีน้ำตาลอ่อนๆ ฉะนั้นผู้ผลิตก็เติมสีต่างๆ ลงไปเพื่อให้น่าดูขึ้น ลักษณะของถุงที่ไม่น่าใช้กว่าถุงจากวิธีที่ 1 ซึ่งมักจะมีรอยยับ

ถุงพลาสติกที่ได้จากการผลิตวิธีนี้ไม่ควรนำมาใช้บรรจุอาหารอย่างยิ่งเพราะอาจมีสารเป็นพิษยังคงติดอยู่ การล้างและความร้อนสามารถทำลายบักเตรีหรือจุลินทรีย์อื่นที่ตกอยู่ได้ แต่ไม่สามารถทำลายสารเป็นพิษบางอย่างซึ่งอาจเหลือตกค้างอยู่ในถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุสารเคมีหรือสารมีพิษมาก่อนแล้ว อนึ่ง เนื่องจากเป็นการยากที่จะสืบทราบว่าถุงพลาสติกที่ใช้แล้วเหล่านั้นเคยใช้บรรจุสิ่งใดมาก่อน อาจเคยบรรจุสารเคมีหรือสิ่งมีพิษใดก็ได้ซึ่งมีอยู่หลายร้อยชนิด เพราะมาจากหลายแหล่งซึ่งมีการใช้ต่างๆ กันจึงทำให้ยากในการตรวจสอบอีกด้วย ฉะนั้นถุงพลาสติกประเภทนี้จึงควรนำไปใช้ประโยชน์อื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร

เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดแก่ผู้บริโภค จึงใคร่แนะนำว่ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วแม้จะผ่านการล้างหรือกรรมวิธีใดก็ตามโดยทั่วๆ ไปไม่สมควรนำมาใช้บรรจุอาหารอีก

ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วนำมาล้างจะสังเกตได้จากการที่ถุงพลาสติกมีลักษณะยับไม่เรียบและอาจพอเห็นรอยเปรอะเปื้อนบ้าง เพราะการทำความสะอาดพลาสติกซึ่งบรรจุของบางชนิดทำได้ยาก

สำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาหารควรศึกษาเลือกใช้พลาสติกให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อบรรจุอาหารให้เก็บได้นานโดยไม่เสื่อมคุณภาพและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า