สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พิษคางคก(Toad poisoning/Bufotoxins poisoning)

สารพิษที่ต่อมเมือกใกล้หูของคางคก หรือที่เรียกว่า ยางคางคก จะประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดพิษร้ายแรงต่อหัวใจถึงเสียชีวิตได้ ที่สำคัญคือ กลุ่มดิจิทาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายดิจิทาลิสพิษคางคก

สารอื่นๆ ที่สำคัญ ที่มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด เช่น กลุ่มคาเทโคลามีน(catecholamines) และที่มีฤทธิ์ทำให้มีอาการประสาทหลอน เช่น กลุ่มอินโดลไคลามีน(indolekylamines)

ในบริเวณหนัง เลือด ไข่ และเครื่องในของคางคกแทบทุกชนิดจะมีพิษอยู่ การบริโภคคางคกที่ปรุงให้สุกแล้วก็เกิดพิษขึ้นได้เพราะพิษนี้มีความทนต่อความร้อน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นเด็กจะทนต่อพิษคางคกได้มากกว่าผู้ใหญ่ พบภาวะนี้ได้เป็นครั้งคราว

อาการ
หลังจากกินคางคกเข้าไปหลายชั่วโมง ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการแสดงจะคล้ายกับการได้รับพิษดิจิทาลิสเกินขนาด ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วยในบางราย

ในระยะต่อมาผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เห็นภาพเป็นสีเหลือง ระดับสติมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มด้วยอาการสับสน เพ้อ ง่วงซึม ประสาทหลอน หรืออาการทางจิต จนมีอาการชักและหมดสติในที่สุด

อาการที่ร้ายแรงมักจะทำให้หัวใจเต้นช้า เต้นผิดจังหวะ และเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระรัว เกิดภาวะหัวใจวาย หรือการไหลเวียนล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีชีพจรเต้นช้ากว่า 40 ครั้ง/นาที และจะพบอาการชัก หมดสติ คลำชีพจรไม่ได้ในระยะที่รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
สาเหตุการตายที่สำคัญของโรคนี้คือภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระรัว และอาจทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง

การรักษา
ควรให้การปฐมพยาบาลแล้วรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที หากสงสัยเมื่อผู้ป่วยมีอาการอาหารเป็นพิษ ร่วมกับระดับสติเปลี่ยนแปลง มีอาการทางจิต หรือชีพจรเต้นช้า และมีประวัติกินคางคกเข้าไป

ลักษณะอาการและประวัติการกินคางคกของผู้ป่วยเป็นการวินิจฉัยที่สำคัญของโรคนี้ หรืออาจตรวจเลือดเพื่อหาสารดิจิทาลิส และตรวจคลื่นหัวใจเพื่อประเมินอาการ และตรวจหาระดับโพแทสเซียมเป็นระยะๆ

แพทย์มักจะให้การรักษาขั้นพื้นฐาน และทำการกู้ชีพถ้าพบว่าคลำชีพจรไม่ได้หรือหยุดหายใจ และให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้อะโทรพีน ถ้าชีพจรเต้นช้า หรืออาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจถ้ารักษาด้วยยาแล้วยังไม่ได้ผล

ควรให้ยา ลิโดเคน เฟนิโทอิน ควินิดีน อะมิโอดาโรน เป็นต้น ในรายที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อเป็นการแก้ไข หรือให้การรักษาด้วยการฉีดโซเดียมไบคาร์บอเนต กลูโคส และอินซูลินในรายที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง และเพื่อช่วยให้พิษหมดเร็ว และรอดชีวิตได้ถ้ามี digitalis FAB antibody ควรรีบให้ยานี้ทันที

ข้อแนะนำ
การกินคางคกเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดพิษนี้ขึ้น แต่ก็อาจเกิดพิษขึ้นได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการกินยาแผนโบราณที่มีหนังคางคกเป็นตัวยาผสมอยู่ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังถ้าจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้

การป้องกัน
1. ไม่ควรกินคางคกทุกชนิดไม่ว่าจะปรุงสุกแล้วด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะพิษสามารถทนความร้อนและไม่อาจถูกทำลายลงไปได้

2. ควรใช้ความระมัดระวังในการกินยาแผนโบราณที่มีส่วนประกอบของคางคกผสมอยู่เพราะอาจทำให้เกิดพิษขึ้นได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า