สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาการทางอารมณ์ของวัยเด็กตอนกลาง

ในระยะวัยเด็กตอนกลาง เด็กรู้จักกลัวสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่าวัยเด็กตอนต้น เพราะความสามารถใช้เหตุผลของเด็กพัฒนามากขึ้น มีความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น รวมทั้งสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะขอบเขตชีวิตสังคมของเด็กขยายวงกว้างขวางออกไป

สิ่งที่ต้องพัฒนาในด้านอารมณ์ของเด็กในระยะนี้คือ การเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง อารมณ์ของบุคคลอื่น การรู้จักควบคุมอารมณ์ และการรู้จักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสม พัฒนาการเหล่านี้ จำเป็นสำหรับสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก และเป็นหนทางให้เด็กได้มีโอกาสเข้ารวมกลุ่มกับเด็กอื่นๆ การพัฒนาการด้านนี้ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับตัวเด็กจะต้องช่วยเหลือเด็กด้วย โดยการพัฒนาการทางอารมณ์

1. เปิดโอกาสให้เด็กเข้ากลุ่ม กลุ่มจะบีบบังคับให้เด็กเรียนรู้และปรับปรุงการควบคุมอารมณ์ และแสดงออกอารมณ์ในลักษณะที่สังคมยอมรับ (แต่ก็ต้องระวัง เพราะบางกลุ่มอาจมีค่านิยมที่ขัดกับการยอมรับของสังคมก็ได้)

2. ให้ได้เล่นออกกำลังกาย โดยการเล่นที่ใช้พละกำลังแบบต่างๆ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากเก็บ ตี่จับ งูกินหาง ลิงชิงหลัก ปิงปอง ฯลฯ

3. ให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น ปั้นรูป วาดรูป เขียนเรื่อง ฯลฯ

ในระยะวัยเด็กตอนกลางเด็กมีอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งอารมณ์ในแง่ดีน่าพึงใจ เช่นความรัก ความเห็นใจ ความรู้สึกสงสาร ความรู้สึกเบิกบานรื่นรมย์ และอารมณ์ในแง่ไม่น่าพึงใจ เช่นเกลียด โกรธ อิจฉา ริษยา ฯลฯ อารมณ์ไม่ว่าประเภทใดถ้าไม่ได้รับการรับรู้ ไม่มีโอกาสแสดงออกและถูกเก็บกดเอาไว้มากเกินไป เด็กจะเกิดความรู้สึกเคร่งเครียด อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางกายที่เนื่องมาจากทางอารมณ์ได้ หรือรู้สึกผิดจนทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้

ในระยะวัยนี้ เด็กมีความพร้อมที่จะรับทราบเรื่องอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ และปลดปล่อยอารมณ์ของเขาออกมา อย่างที่สังคมยอมรับตามควรแก่วัย กรณีเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็น สำหรับการปรับตัวด้านอารมณ์ ถ้าเตรียมอย่างเหมาะสมไปตั้งแต่ระยะวัยนี้ เขาจะเติบโตเป็นเด็กวัยรุ่นที่ค่อนข้างมีความสุข การละเลยหรือล้มเหลวกรณีกิจนี้ ทำให้เขาเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีความสับสนทางอารมณ์มากกว่าที่ควรจะเป็น ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องอารมณ์มีความสำคัญทัดเทียมกันกับการพัฒนาทางความรู้และทักษะอื่นๆ อันไม่ควรมองข้าม

อารมณ์เครียดในวัยเด็ก
คนทุกๆ วัยมีอารมณ์เครียด เป็นการยากที่จะอธิบายลักษณะของอารมณ์เครียดได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อพูดถึงอารมณ์เครียด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะเข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร เด็กๆ วัยนี้ปัจจุบันนี้ มีสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อารมณ์เครียดไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป อารมณ์เครียด ระดับอ่อนๆ เป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์มีพฤติกรรมสร้างสรรค์

เหตุการณ์ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเครียด อาจไม่ทำให้เด็กอีกคนหนึ่งเครียด เด็กและผู้ใหญ่มีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่เหมือนกัน และถ้าเหมือนกันก็เกิดความเครียดได้ในระดับที่แตกต่างกัน

อารมณ์เครียดที่มีผลทางลบต่อเด็ก ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมด้านลบหลายประการ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว กลัว กังวล ซึม เศร้า เป็นไข้บ่อยๆ Elkind (1981) ได้ศึกษาตัวแปรที่ทำให้เด็กวัยนี้ “ในสังคมปัจจุบัน” เกิดอารมณ์เครียด ซึ่งผลการศึกษาของเขามีส่วนที่เป็นไปได้จริงในสังคมไทยด้วย ดังต่อไปนี้

1. มีความรับผิดชอบมากเกินไป (Responsibility overload)
เด็กที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานนอกบ้าน อาจต้องรับผิดชอบงานบ้านต่างๆ มาก และเร็วก่อนที่จะทำได้ดี เช่น ช่วยดูแลน้อง ช่วยทำความสะอาด ช่วยหุงหาอาหาร ช่วยซื้อของ ช่วยขายของ ฯลฯ

2. มีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป (Changes overload)
เช่นเปลี่ยนโรงเรียนบ่อย ย้ายบ้านบ่อย เดินทางบ่อย เปลี่ยนพี่เลี้ยงบ่อย เปลี่ยนผู้ปกครองบ่อย เปลี่ยนครูบ่อย เปลี่ยนเวลาทำโน่นทำนี่บ่อย

3. มีอารมณ์วุ่นวายมากเกินไป (Emotional overload)
ได้แก่สถานการณ์ที่เด็กต้องรองรับอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเด็กไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน พี่น้องเข้ากันไม่ได้ พ่อแม่บ่นเรื่องหาเงินไม่พอใช้ ครูไม่ชอบกัน พ่อจะเอาอย่างโน้นแม่จะเอาอย่างนี้ ฯลฯ

4. มีเรื่องราวที่ต้องรู้มากไป (Information overload)
คือเด็กในโลกปัจจุบัน ได้รับข่าวสารมากมายหลายทิศทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ วีดีโอ หมายรวมทั้งมีวิชาที่ต้องเรียนมากเกินไป เช่น เรียนหนังสือที่โรงเรียนครบห้าวันแล้ว วันหยุดและตอนเย็นต้องเรียนพิเศษอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา การฝีมือ ว่ายน้ำ หรือเตรียมวิชาการต่างๆ เป็นพิเศษอีก (เพราะพ่อแม่อาจมุ่งหวังความสำเร็จในด้านต่างๆ ของลูกมากเกินไป หรือ/และอาจไม่อยากดูแลลูกในช่วงวันหยุด)

5. ต้องแข่งขันมากเกินไป (Competition overload)
คือเด็กต้องทำอะไรเพื่อหวังเอาเด่น เอาดี ชนะคนอื่น เพื่อเอาใจพ่อแม่ หรือเพื่ออยากเอาชนะเพื่อน หรือเพื่อจะสอบเข้าโรงเรียนที่ต้องการ

6. ต้องรีบเร่งมากเกินไป (Hurry up overload)

เด็กๆ สมัยปัจจุบันถูกกระตุ้นจากพ่อแม่ หรือระบบการศึกษาให้รีบเร่งที่จะเรียนรู้ ที่จะสอบผ่านวิชาต่างๆ ที่จะช่วยตัวเองเร็วๆ ที่จะจบการศึกษาระดับต่างๆ เร็วๆ ความรีบเร่งทำให้เกิดความเครียด (Hurry ! Grow up ! There isn’t much time. เป็นถ้อยคำที่ติดปากพ่อแม่ที่กระตุ้นลูกให้เร่งรีบ ในสังคมอเมริกัน)

สำหรับเด็กไทยในกรุงเทพฯ อาจต้องได้ยินคำเตือนของคุณพ่อคุณแม่บ่อยๆ เสมอๆ เพื่อปรับตัวกับการจราจรอีกด้วย เช่น

รีบๆ ทำการบ้าน แล้วเข้านอน จะได้ตื่นไปโรงเรียนทัน
รีบๆ อาบนํ้า แต่งตัว ไปขึ้นรถ เดี๋ยวรถติด
รีบๆ เข้า เดี๋ยวรถติด มัวโอ้เอ้อยู่ เดี๋ยวจะโดนตี!
แต่งตัวเร็วๆ เดี๋ยวไปไม่ทันโรงเรียน
รีบๆ ออกจากห้อง อย่าให้คอยนาน เดี๋ยวไปโรงเรียนไม่ทัน รถติด ชักช้าอยู่ได้ งุ่มง่ามยังงี้จะทำอะไรทันกับเขา

7. ต้องนั่งในรถอยู่บนถนนนานเกินไป
ข้อนี้สำหรับเด็กไทยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะธรรมชาติของเด็กวัยนี้คือ การได้เคลื่อนไหว เปลี่ยนกิจกรรม แต่สภาพจราจรในกรุงเทพฯ ที่รถติดนานๆ โดยเฉพาะเด็กที่บ้านอยู่ไกลโรงเรียน ทำให้เด็กต้องนั่งในรถนานเป็นชั่วโมงๆ ในแต่ละวันๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดแก่เด็กได้

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า