สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พังผืดส้นเท้าอักเสบ(Plantar fasciitis)

เป็นสาเหตุของอาการปวดส้นเท้าที่พบได้บ่อย มักพบในคนอ้วน นักกีฬา ผู้ทำงานหนัก การสวมรองเท้าไม่เหมาะสม พบได้บ่อยตามอายุที่มากขึ้น โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแม้จะเป็นเรื้อรังพังผืดส้นเท้าอักเสบ

สาเหตุ
หน้าที่ของพังผืดที่ส้นเท้าจะเป็นตัวกันกระแทกของกระดูกเท้า อาจทำให้เกิดการอักเสบถ้ามีแรงกดดันต่อพังผืดนานๆ หรือซ้ำๆ แรงกดดันอาจเกิดจากการมีน้ำหนักถ่วง เช่นในคนอ้วน ยกของหนักๆ หรืออาจเกิดจากการวิ่ง เต้นรำ เดินขึ้นบันได หรือยืนนานๆ

ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อน่องหรือเอ็นร้อยหวายขาดความยืดหยุ่น โครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น ส้นเท้าแบน หรือมีความโค้งสูง การใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะ เช่น พื้นรองเท้าบางเกินไป รองเท้าส้นสูงๆ ส้นรองเท้าแข็งขาดความยืดหยุ่น เป็นต้น

ในผู้ป่วยเบาหวาน และโรคข้ออักเสบ เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ก็ยังพบโรคนี้ได้บ่อย

อาการ
จะรู้สึกปวดส้นเท้าคล้ายถูกมีดปักใน 2-3 ก้าวแรกที่ลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนตอนเช้า และหลังจากเดินต่อไป 2-3 นาทีก็จะทุเลาไปเองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค หรือบางครั้งเวลาเดินขึ้นบันได ยืนหรือเดินบนปลายเท้า หลังจากยืนนานๆ หรือหลังจากลุกยืนจากท่านั่งก็อาจรู้สึกปวดได้

มักจะมีอาการปวดอยู่เพียงข้างเดียว โดยจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย หรือเกิดขึ้นแบบฉับพลันรุนแรงก็ได้ โดยที่ผู้ป่วยอาจบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุกระตุ้นให้ปวด เพราะอาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดปัจจัยกระตุ้นไปประมาณ 12-36 ชั่วโมงแล้ว เช่น วิ่งออกกำลังกาย ยืน หรือเดินบนปลายเท้า เปลี่ยนรองเท้าใหม่ เป็นต้น

อาการที่เป็นอาจมีเพียงเล็กน้อยทำให้รู้สึกรำคาญ หรืออาจปวดแบบรุนแรงก็ได้ มักมีอาการอยู่นาน 2-3 เดือนแล้วจะทุเลาไปเอง อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ หรือเป็นต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ ตลอดไปในบางราย

สิ่งตรวจพบ
อาจพบว่าขณะให้ยืนบนปลายเท้าจะรู้สึกเจ็บส้นเท้า เวลาใช้นิ้วกดแรงๆ จะรู้สึกเจ็บตรงตำแหน่งที่ปวด

การรักษา
1. ผู้ป่วยควรลดน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ประคบด้วยน้ำแข็งวันละ 3-4 ครั้งๆ ละ 15-20 นาที บริหารกล้ามเนื้อน่อง เอ็นร้อยหลายและพังผืดส้นเท้า ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ถ้าได้ผลควรให้ยานาน 6-8 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าและกิจกรรมที่ทำให้โรคกำเริบ เช่น วิ่ง เดิน หรือยืนนานๆ การยกของหนัก เป็นต้น

2. ควรแนะนำไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากภายใน 2 สัปดาห์อาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดรุนแรง อาจต้องทำการเอกซเรย์หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมถ้าสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น

แพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กายภาพบำบัด การใช้อุปกรณ์แก้ไขภาวะผิดปกติของเท้า ใส่เฝือกเพื่อยึดกล้ามเนื้อน่อง และพังผืดส้นเท้าเวลาเข้านอน หากยังไม่ได้ผลอาจต้องฉีดสตีรอยด์เข้าพังผืด ส่วนการแก้ไขด้วยการผ่าตัดมักพบได้เป็นส่วนน้อย

ข้อแนะนำ
1. อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้จากอาการปวดส้นเท้า เช่น กระดูกส้นเท้าแตก รากประสาทถูกกดทับ โรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่นๆ รวมทั้งกระดูกส้นเท้างอก ควรส่งตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงหากรักษาโรคพังผืดส้นเท้าอักเสบแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

2. อาจพบกระดูกส้นเท้างอกพบเป็นผลึกหินปูนงอกออกมาจากกระดูกส้นเท้าเมื่อเอกซเรย์ส้นเท้า ซึ่งมักไม่มีอันตรายและอาการใดๆ อาจพบได้เป็นครั้งคราวว่ามีอาการปวดเมื่ออักเสบ ซึ่งสาเหตุและการรักษาของโรคนี้เหมือนกันกับพังผืดส้นเท้าอักเสบ

การป้องกัน
ผู้ป่วยควรลดน้ำหนักให้เหมาะสมถ้าน้ำหนักเกิน ไม่เดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ควรสวมใส่รองเท้าที่มีพื้นหนาพอดีและมีความยืดหยุ่นเพื่อลดแรงกระแทก ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ไม่ควรใส่รองเท้ากีฬาที่เสื่อมสภาพ ก่อนลุกจากที่นอนตอนเช้าควรทำการบริหารยืดพังผืดส้นเท้าด้วยวิธีการจับนิ้วเท้าเหยียดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า