สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การปรับแต่งพฤติกรรมแบบเอสต์

เอสต์(Est)
เป็นกระบวนการเติบโตทางความคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เอสต์เป็นคำย่อมาจากการฝึกสัมมนาเออร์ฮาร์ด(Erhard Seminar Training) ไม่ได้เขียนว่า E.S.T. แต่เขียนว่า est ธรรมดาๆ ซึ่งในภาษาลาติน แปลว่า “มันเป็น”

ผู้ก่อตั้งหรือบรมครูของเอสต์ คือ เวอร์เนอร์ ฮันส์ เออร์ฮาร์ด เกิดในปี 1935 ที่เพนซิลวาเนีย มีชื่อเดิมว่า แจ็ค พอล โรเซนเบิร์ก เป็นบุตรของผู้ประกอบการภัตตาคารแบบครอบครัว จบการศึกษาระดับมัธยมในปี 1952 หลังจบจากโรงเรียนมัธยมได้ไม่นาน โรเซนเบิร์กก็ได้แต่งงาน หลังจากนั้น 8 ปี ก็ได้ทำงานต่างๆ หลายอย่าง รวมทั้งทำงานที่โรงงานบรรจุหีบห่อเนื้อและที่บริษัทก่อสร้าง โรเซนเบิร์กมีบุตร-ธิดา 4 คน

โรเซนเบิร์กได้จากบ้านและครอบครัวในเพนซิลวาเนียและเดินทางไปเซนต์หลุยส์กับเพื่อนหญิงคนหนึ่งในปี 1960 เพื่อไม่ให้ใครตามตัวพบเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเวอร์เนอร์ ฮันส์ เออร์ฮาร์ด เขาได้ทำงานในด้านการขายหลายปีหลังจากนั้น ทั้งในตำแหน่งผู้บริหารและผู้ฝึกฝน ตำแหน่งสุดท้าย เออร์ฮาร์ดได้ศึกษาขบวนการต่างๆ หลายขบวนการที่เกี่ยวข้องกับความคิดและศักยภาพของมนุษย์ขณะที่ทำงานอยู่กับโกรเลียร์ โซไวตี

ในปี ค.ศ.1971 เออร์ฮาร์ดได้ก่อตั้งเอสต์ขึ้น ดูเหมือนว่าจะประสานหลักคำสอนมากมายจากที่ได้ศึกษามาไว้ด้วยกัน รวมทั้งไซแอนโทโลจี(Scientology) พลวัตรทางความคิด(Mind Dynamics) การควบคุมความคิดแบบซิลวา(Silva Mind Control) เซน(Zen) การทำสมาธิแบบล่วงพ้น(Transcendental Meditation) การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์(Transaction Analysis) ฟรอยด์(Freud) จุง(Jung) อีซาเลน(Esalen) และคนอื่นๆ

ส่วนพื้นฐานในการฝึกเอสต์ประกอบด้วยกัน 3 ส่วนคือ
ส่วนแรก ผู้ให้การฝึกจะกล่าวบรรยายเพื่อให้ผู้รับการฝึกได้รับทราบข้อมูล

ส่วนที่สอง ผู้รับการฝึกพูดถึงประสบการณ์ หรือความเชื่อของตัวเอง ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในคำบรรยาย

ส่วนที่สาม ผู้รับการฝึกผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งพวกเขาจะติดต่อกับความคิดที่เข้าสู่จิตสำนึกของแต่ละคน ขั้นตอนเหล่านี้ในเอสต์จะเรียกว่าเป็น ข้อมูล(the Data) การถ่ายทอด(the Sharing) และกระบวนการ (the Processes)

กระบวนการทั้งหมดสำหรับบุคคลที่ไม่เคยฝึกมาอาจรู้สึกว่าการสัมมนาเอสต์มีแง่ที่ดูจะรุนแรง ไร้เหตุผล หรือร้ายยิ่งกว่านี้ แต่แง่มุมเหล่านี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้สำหรับการปรับแต่งพฤติกรรมและสร้างความเติบโตทางความคิดจิตใจของผู้เข้าร่วมการสัมมนาเท่านั้น ซึ่งเอสต์เป็นแนวหน้าของโปรแกรมประเภทนี้ มีโปรแกรมที่ใช้แบบแผนอย่างเดียวกับเอสต์มากมายที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของมนุษย์และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คล้ายๆ กันนี้

การสัมมนา หรือโปรแกรมการฝึกเอสต์ จากคนทุกสาขาอาชีพและพื้นเพ ประมาณ 250 คน จะมาพบกันที่ห้องประชุมของโรงแรมในวันสุดสัปดาห์ ครั้งละ 15 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ โดยที่ห้องประชุมนี้จะปิดล็อก หากมีใครอยากออกไปจากห้องนี้ผู้ฝึกจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะให้ไปหรือไม่ ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะไม่ได้รับประทานอาหารตลอด 15 ชั่วโมงนี้ โอกาสเข้าห้องน้ำก็มีน้อยครั้ง และเก้าอี้ที่ใช้นั่งติดต่อกันเป็นชั่วโมงๆ จะเป็นเพียงเก้าอี้แข็งๆ พนักตรงเท่านั้น

เป้าหมายพื้นฐานของเอสต์ คือการ “เอามันมาให้ได้”(Getting It) แม้ว่านิยามของวลีนี้มีได้หลายแบบมากเท่าๆ กับจำนวนของผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ตาม แต่ปรัชญาที่เกี่ยวขอ้งกับประเด็นพื้นฐานของเอสต์ เช่น พฤติกรรมที่เหมาะสม การละเมิดความตกลง การพูดเท็จ การให้อิสระแก่กันในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน การเข้ารับผิดชอบ และการปฏิบัติต่อชีวิต ก็เหมือนกับที่ปฏิบัติในระหว่างการเล่นเกม

การสัมมนาของเอสต์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้รับการฝึกมีหนทางในการจัดการกับสถานการณ์ไม่สมหวังต่างๆ ที่เกิดในชีวิต เพราะเอสต์เป็นประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่าความเชื่อ ผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้ถึงทักษะในการจัดการกับปัญหาไปจนกว่าจะพ้นจากปัญหานั้นได้

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า