สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชในขณะรับการรักษา

การทำจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ นักจิตบำบัดมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ป่วย พูดถึงความคิด ความปรารถนาและความรู้สึกของตน เพื่อที่จะให้นักจิตบำบัดเข้าใจผู้ป่วย และในขณะเดียวกัน นักจิตบำบัดก็จะใช้การพูด เพื่ออธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจปัญหาของตนเอง เพื่อจะได้ดัดแปลงแก้ไข Wish-Defense Systems ของผู้ป่วย นอกจากการพูดจากันแล้ว พฤติกรรมของผู้ป่วยในขณะรักษา ก็มีความสำคัญมาก จะได้อธิบายดังต่อไปนี้

ถ้าผู้ป่วยมีความเครียดมาก มักจะมองไปมารอบๆ ห้อง ถ้าผู้ป่วยเป็นแบบ Hysteria เวลาพูดจะออกท่าทางคล้ายเล่นละคร คนไข้หญิงบางคน อาจจะนั่งไขว่ห้างในลักษณะยั่วยวนทางเพศ คนไข้บางคนอาจจะง่วงนอน คนไข้บางคนอาจจะไม่ยินดียินร้าย ฯลฯ ถ้าอาการเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการรักษา นักจิตบำบัดจะต้องนำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูดกับ คนไข้เหมือน Resistance ทั่วๆ ไป และจะต้องกระทำในเวลาที่เหมาะสม โดยการใช้ Interpretation ถ้าหากพฤติกรรมเหล่านี้มีเพียงเล็กน้อย ไม่มีความสำคัญอะไร ก็อาจจะไม่ต้องกล่าวถึงเลยก็ได้

พฤติกรรมเหล่านี้ นักจิตบำบัดจะต้องถือว่าเป็นการต่อต้านการรักษา ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว ได้มารับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดหลายครั้งแล้ว คราวนี้ ผู้ป่วยเงียบเป็นเวลานาน และในที่สุดก็กล่าวว่า
ดิฉันไม่มีอะไรจะบอกคุณหมออีกแล้ว หลังจากนั้นเล็กน้อย ผู้ป่วยก็ชี้ไปยังที่เขี่ยบุหรี่ และพูดว่า

“ดิฉันเกลียดเจ้านกตัวนั้น” (ที่เขี่ยบุหรี่เป็นรูปปั้นรูปปากนก แล้วผู้ป่วยก็ลุกขึ้น เดินไปหยิบที่เขี่ยบุหรี่ออกไปให้พ้นจากสายตา)

ผู้รักษาจึงพูดว่า “นกตัวนั้น คงทำให้คุณคิดถึงสิ่งที่คุณไม่ชอบ การที่คุณหยิบ ย้ายมันไปให้พ้นสายตา ก็เพื่อที่จะกำจัดความคิดที่คุณไม่ชอบออกไปให้พ้น”

การที่ผู้รักษาใช้ Interpretation อย่างนี้ ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยยอมรับเป็นครั้งแรกว่า เธอเกลียด Penis และทุกสิ่งทุกอย่างที่มีรูปร่างคล้าย Penis!

ในขณะที่รักษานั้น ผู้ป่วยบางคนอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ปิดประตูกระแทกแรงๆ ฉีกกระดาษโปรยรอบห้อง เทน้ำราดพื้นห้องให้สกปรกเลอะเทอะ เคลื่อนย้ายเครื่องประดับ ทำลายข้าวของ ทำลายของมีค่า ขว้างปาฝาผนังห้อง หรืออาจขว้างปาทำร้ายผู้รักษา ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ ผู้รักษาควรจะทำอย่างไร

คำตอบก็คือ นักจิตบำบัดจะยอมให้ผู้ป่วยพูดจาก้าวร้าว หรือด่านักจิตบำบัดได้ แต่นักจิตบำบัดที่ดีจะไม่ยอมให้คนไข้ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายนักจิตบำบัดอย่างเด็ดขาด (พ่อ แม่ที่ดีต้องหนักแน่น และจำกัดพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของลูกๆ)

นักจิตบำบัดจะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพูดกับคนไข้ โดยใช้ความนุ่มนวลแต่หนักแน่น และสอนให้คนไข้พูดออกมาแทนการทำลายข้าวของ หรือทำร้ายนักจิตบำบัดเอง

ถ้าผู้ป่วยมี Ego’s Functions ดีตามสมควร ผู้ป่วยมักจะปฏิบัติตาม แต่ถ้าพูดกันดีๆ แล้วผู้ป่วยยังขืนทำต่อไปอีก ก็ควรจะตั้งข้อสงสัยไว้ว่า การรักษาจะไม่ได้ผล เพราะว่าเพียงแต่พฤติกรรมก้าวร้าวแค่นี้ ผู้รักษายังไม่สามารถควบคุมได้ แล้วจะไปเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของผู้ป่วยได้อย่างไร?

ในบางครั้งนักจิตบำบัดอาจถูกคนไข้ข่มขู่หรือคุกคามจะทำร้าย ในกรณีเช่นนี้ จะมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ?

คำตอบในเรื่องนี้ ต้องแยกเหตุการณ์ออกเป็น 2 อย่าง คือ ภายในโรงพยาบาล และที่สำนักงานส่วนตัว ถ้าเกิดเหตุการณ์ภายในโรงพยาบาล นักจิตบำบัดต้องประเมินสถานการณ์ว่า จะสามารถควบคุมคนไข้ได้หรือไม่ ถ้าคิดว่าทำได้ (เช่น คนไข้ตัวเล็กกว่า หรืออ่อน แอกว่า เป็นต้น) ก็ให้ดำเนินการรักษาต่อไป แต่ถ้านักจิตบำบัดไม่แน่ใจ หรือหวาดกลัวคนไข้ ก็จะต้องเลิกทำจิตบำบัด และถ้าจำเป็นก็ให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่สามารถควบคุมคนไข้ได้ มาอยู่เป็นเพื่อน จากประสบการณ์เราพบว่า คนไข้โรคจิตเวชนั้น ไม่ว่าจะมีอาการ รุนแรงเพียงใดก็ตาม ถ้าคิดว่าไม่สามารถสู้เราได้แล้ว ผู้ป่วยจะเลิกพฤติกรรมก้าวร้าวทันที

สำหรับเรื่องนี้ ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้วยตนเอง คือ เมื่อเป็นเรสิเดนท์จิตเวชนั้น ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์คนไข้ประเภทก้าวร้าวข่มขู่ ซึ่งมีร่างกายใหญ่โต และแข็งแรงกว่าผู้เขียน เมื่อพบกันสองต่อสอง คนไข้จึงข่มขู่ผู้เขียนต่างๆ นาๆ เมื่อผู้เขียนประเมินสถานการณ์ดูแล้ว เห็นว่าสู้ผู้ป่วยไม่ได้แน่ๆ ผู้เขียนจึงไปตามผู้ช่วยพยาบาลชาย ซึ่งมีรูปร่างแข็งแรง และใหญ่โตกว่าคนไข้มานั่งเป็นเพื่อน ผลปรากฏว่า คนไข้เลิกข่มขู่ และยอมให้สัมภาษณ์โดยดี

มีข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ท่าทีของนักจิตบำบัดเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ถ้านักจิตบำบัดแสดงความกลัวให้คนไข้เห็นแล้ว คนไข้จะยิ่งได้ใจ และข่มขู่นักจิตบำบัดเพิ่มขึ้นอีก

ในกรณีที่นักจิตบำบัดทำงานนอกโรงพยาบาล เช่น สำนักงานส่วนตัว เป็นต้น ถ้าถูกคนไข้ขู่คุกคาม และนักจิตบำบัดคิดว่าสามารถควบคุมคนไข้ได้ และไม่แสดงความหวาดกลัวให้คนไข้เห็นแล้ว ก็ให้รักษาคนไข้ต่อไปได้ แต่ถ้าคิดว่าไม่สามารถควบคุมคนไข้ได้ ก็ต้องเลิกรักษา และส่งคนไข้ไปให้นักจิตบำบัดคนอื่น ที่สามารถควบคุมคนไข้ได้ หรืออาจส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่สามารถควบคุมคนไข้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม นักจิตบำบัดไม่ควรจะหวาดกลัวเกินกว่าเหตุ เพราะว่าคนไข้จิตเวชที่เป็นอันตรายนั้น มีเพียง 3% ของคนไข้จิตเวชทั้งหมด

ในบางครั้ง คนไข้อาจจะร้องไห้ในชั่วโมงการรักษา นักจิตบำบัดควรจะทำอย่างไร? คำตอบก็คือ ถ้าผู้ป่วยเป็นหญิง นักจิตบำบัดก็ควรจะเงียบและสงบ แต่แสดงกริยา ท่าทางและแววตาอ่อนโยน รอจนกระทั่งคนไข้สามารถควบคุมตนเองได้แล้ว จึงค่อยถามคนไข้ว่า อะไรเป็นเหตุที่ทำให้คนไข้ไม่สบายใจ ห้ามปลอบโยน ห้ามถูกต้องตัวคนไข้ ห้าม “โอ๋” คนไข้ ห้ามส่งผ้าเช็ดหน้าให้คนไข้ และห้ามหยุดการรักษา

ถ้าผู้ป่วยเป็นชาย มักจะมีความละอายมากกว่าคนไข้หญิง นักจิตบำบัดก็ต้องปฏิบัติตัว เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อคนไข้หญิง แต่ในตอนหลังจะต้องช่วยพยุง Self-esteem ของคนไข้ด้วย ตัวอย่าง

ผู้ป่วยชาย ขณะนี้บิดาของผู้ป่วยกำลังจะตาย เมื่อผู้ป่วยพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็ร้องไห้ ผู้รักษานั่งเงียบและสงบ รอจนกระทั่งคนไข้สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้บ้างแล้ว คนไข้จึงพูดด้วยความละอายและขอโทษว่า

“ผมเสียใจที่แสดงความอ่อนแออย่างนี้”
ผู้รักษาจึงพูดด้วยน้ำเสียงที่แสดงความกรุณาและความเข้าใจว่า

“ถ้าใครตกอยู่ในสภาพเดียวกับคุณ ก็คงจะต้องร้องไห้เหมือนกัน เมื่อคุณทุกข์ใจ ที่นี่คือที่ซึ่งคุณสามารถระบายอารมณ์ได้ทุกอย่าง”

ผู้ป่วยพูดว่า “ผมคิดว่า ผมเป็นคนอ่อนแอเกินไป”

ผู้รักษาสังเกตว่า ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้แล้ว จงพูดว่า
“คุณคิดว่า คนที่เข้มแข็งนั้นจะไม่มีอารมณ์เช่นนี้เชียวหรือ ?”

ข้อสังเกต
ผู้รักษาพยายามพยุง Self-esteem ของคนไข้ และสอนให้คนไข้รู้ว่า ในชั่วโมงการรักษาชนิดนี้ เป็นเวลาที่ผู้ป่วยสามารถแสดงอารมณ์ที่ละเอียด และลึกซึ้งได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม

ในบางครั้ง คนไข้เขียนเรื่องราวของตนเองมาเรียบร้อย แล้วส่งให้นักจิตบำบัด พฤติกรรมเช่นนี้ มีความหมายอย่างไร และนักจิตบำบัดควรจะทำอย่างไร

การที่คนไข้มีพฤติกรรมเช่นนี้ หมายถึงว่าเป็น Defense ของคนไข้ ซึ่งมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น ต้องการหลีกเลี่ยงการพูดจาโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะหวาดกลัว หรืออย่างอื่นก็ได้ ต้องการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รักษา เพราะการเขียนเรื่องของตนเองมานั้น แสดงว่าคนไข้เอาใจใส่ หรือร่วมมือดี หรืออาจจะต้องการอวดความสามารถในด้านภาษาเขียนของตนเอง หรือเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า ด้วยกลัวว่าผู้รักษาอาจจะโจมตีผู้ป่วย โดยไม่ทันตั้งตัว ฯลฯ

ข้อแนะนำสำหรับนักจิตบำบัดก็คือ ให้ผู้ป่วยอ่านเรื่องราวที่เขียนมานั้นดังๆ และทำเหมือนกับว่าคนไข้ได้ใช้คำพูดธรรมดา คือ ผู้รักษาอาจจะถาม อาจจะใช้การแปลความหมาย (interpretation) เช่นเดียวกับคำพูดธรรมดา

บางครั้งคนไข้นำของขวัญมาให้ นักจิตบำบัดควรจะทำอย่างไร?
ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกานั้น การทำจิตบำบัดถือว่าเป็นธุรกิจ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีบุญคุณที่คนไข้จะต้องตอบแทน สมัยที่ผู้เขียนกำลังฝึกอบรมที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกานั้น อาจารย์หลายท่านของผู้เขียนสอนว่า นักจิตบำบัดผู้ใดได้รับของขวัญมากมายแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี และให้ถือว่า “ต้องสำรวจตัวเอง” โดยพิจารณาว่า การให้ของขวัญ หรือ Gift เท่ากับการให้ความรัก หรือ Love (ในภาษาของจิตไร้สำนึก)

ก่อนจะแนะนำให้นักจิตบำบัดหัดใหม่ ทราบถึงข้อควรปฏิบัติในกรณีนี้ ผู้เขียน อยากจะเรียนให้ทราบ “ความหมาย” ในการให้ของขวัญของคนไข้ ดังนี้

การให้ของขวัญ อาจหมายถึงเป็นการแสดงความรัก และหวังจะได้รับความรัก เป็นการตอบแทน หรืออาจจะเป็นการให้ เพื่อ “ปิดปาก” ผู้รักษา โดยเกรงว่าผู้รักษาอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ป่วยในทางเสียหาย หรืออาจจะกลัวว่า ผู้รักษาจะโกรธ จะทำอันตราย หรืออาจจะเป็นการติดสินบนกับผู้รักษา หรืออาจจะเป็นการสร้าง “บุญคุณ” เพื่อให้ผู้รักษาตกเป็นหนี้บุญคุณ เป็นต้น

การที่ผู้รักษาจะรับของขวัญหรือไม่นั้น ผู้รักษาจะต้องพิจารณาหาสาเหตุเหล่านี้ อย่างถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งส่วนมากก็ได้แก่เรื่อง Transference และ Resistance ต่างๆ

สำหรับในประเทศไทยเรานั้น มีบางโอกาสที่อาจจะถือได้ว่า เป็นการให้ของขวัญ ตามวัฒนธรรมและประเพณี เช่น วันปีใหม่ หรือตรุษจีน เป็นต้น นักจิตบำบัดก็อาจจะรับของขวัญได้ แต่ว่าต้องดูความหมายของสิ่งนั้นๆ ด้วย เช่น การให้ชุดนอน การให้ดอกกุหลาบสีแดง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถ้าบ่งไปในทางลักษณะของ Transference แล้ว ต้องนำเรื่องนี้มา พูดกับคนไข้ เมื่อพูดกันโดยเปิดเผยแล้ว นักจิตบำบัดจะรับของขวัญหรือไม่นั้น ก็ควรจะใช้ดุลยพินิจของตนเอง ในกรณีที่ของขวัญมีความหมายในทาง Transference อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่ง มีคนไข้หญิงมอบผ้าเช็ดหน้าปักด้วยดอกกุหลาบสีแดงแก่ผู้เขียน ในวัน วาเลนไทน์ ผู้เขียนจึงได้พูดเรื่องนี้กับคนไข้อย่างตรงไปตรงมา และในที่สุด ผู้เขียนก็ไม่ยอมรับของขวัญดังกล่าว แต่อย่าลืมว่า การปฏิเสธของขวัญทุกครั้ง ต้องทำในลักษณะที่นุ่มนวล และรักษาน้ำใจของผู้ป่วยด้วย การปฏิเสธการรับของขวัญ โดยวิธีที่เป็นการ “หักหน้า” ผู้ป่วยนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการรับของขวัญ โดยไม่คำนึงถึงความหมายของของขวัญเหมือนกัน

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า