สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ฝีตับอะมีบา(Amebic liver abscess)

หรือฝีบิดในตับ หมายถึง ฝีในเนื้อตับที่เกิดจากเชื้ออะมีบา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้ออะมีบานอกลำไส้ที่สำคัญและพบได้บ่อย พบมากในถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดี พบในผู้ที่มีช่วงอายุ 30-50 ปีที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ขาดอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์จัดฝีตับอะมีบา

สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออะมีบาชื่อ เอนตามีบาฮิสโตไลติคา(Entamoeba histolytica) เชื้อจะแพร่กระจายจากลำไส้ใหญ่ผ่านกระแสเลือดเข้าในตับ ทำให้เกิดฝีในตับ มักพบที่ตับกลีบขวาและเป็นฝีหัวเดียวเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีระยะฟักตัวที่แน่นอน ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นบิดอะมีบามาก่อน พบเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดขณะเป็นฝีบิดในตับ

อาการ
มีไข้สูง เหงื่อออก หนาวสั่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ ปวดชายโครงขวาหรือปวดร้าวมาที่หัวไหล่ขวาอย่างรุนแรงเมื่อขยับตัวหรือแตะถูก จะปวดมากขึ้นเมื่อไอหรือหายใจลึกๆ หรือนอนตะแคงขวา หากเป็นฝีตับที่กลีบซ้ายก็จะมีอาการปวดท้องที่ชายโครงซ้ายและร้าวไปที่หัวไหล่ซ้าย

อาจมีไข้ต่ำๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก่อนจะเจ็บบริเวณตับ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในขณะผู้ป่วยไปพบแพทย์ เช่น ไอออกมาเป็นสีกะปิ หายใจหอบเนื่องจากฝีแตกเข้าสู่ปอด ไข้สูง ปวดท้องรุนแรง เป็นต้น ในผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนาน 6 เดือน จะมีภาวะขาดอาหารและน้ำหนักลดร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มีไข้สูง ตับโต ชายโครงข้างขวามีจุดที่เคาะหรือกดเจ็บมากกว่าบริเวณอื่นซึ่งเป็นตำแหน่งของฝี สามารถตรวจโดยใช้นิ้วไล่จี้กดแรงๆ บริเวณชายโครงขวาซึ่งจะทำให้พบจุดที่กดเจ็บมากที่สุด พบอาการตาเหลืองเล็กน้อย ใช้เครื่องตรวจฟังปอดได้ยินเสียงหายใจค่อย ปอดส่วนล่างข้างขวาเคาะทึบซึ่งเกิดจากมีหนองคั่งอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจคลำได้ตับโตคลำได้เป็นก้อนแข็งๆ ซูบผอม ซีด บวม อาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นมะเร็งตับได้

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย เช่น ฝีอาจแตกเข้าช่องท้องเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ บางรายอาจเกิดทางทะลุระหว่างตับกับหลอดลมทำให้เวลาไอออกมาเป็นหนองสีกะปิด ฝีแตกเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอดทำให้เกิดภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย เช่น ฝีที่ตับกลีบซ้ายอาจแตกเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจทำให้เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีหนอง และเชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปทำให้เกิดฝีตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ไต เป็นต้น

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรส่งแพทย์โดยเร็ว
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการเอกซเรย์เพื่อดูกะบังลมข้างขวาว่าสูงกว่าข้างซ้ายหรือไม่ หรือมีหนองขังในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือไม่ การเจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับด้วยวิธี อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สแกนตับ เพื่อตรวจดูลักษณะของตับ ตำแหน่งและขนาดของฝีโดยใช้สารกัมมันตรังสี

หนองสีกะปิจากตับที่เจาะเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์มักพบเชื้ออะมีบา บางครั้งแพทย์อาจทำการทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานโดยวิธี ELISA, IHA หรือ IFAT

การรักษาโดยใช้ยาฆ่าเชื้ออะมีบา เช่น เมโทรไนดาโซล ครั้งละ 750 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน หรือทินิดาโซล 2 กรัม วันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน ถ้ามียาที่ใช้กำจัดเชื้ออะมีบาในโพรงลำไส้ เช่น ไอโอโดควินอล พาราโมไมซิน ควรให้ควบคู่ไปด้วย

อาจต้องเจาะดูดหนองออกในรายที่มีโพรงหนองขนาดใหญ่เพื่อป้องกันมิให้แตกเข้าเยื่อหุ้มปอด หัวใจ และช่องท้อง

ถ้าหนองแตกเข้าโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือหัวใจต้องใส่ท่อระบายหนองออก ถ้าแตกเข้าช่องท้องต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทันที

อาจให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือเมื่อเกิดภาวะขาดน้ำ ให้อาหารบำรุงพวกโปรตีนหากมีภาวะขาดสารโปรตีน เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ควรนึกถึงโรคฝีตับ ถุงน้ำดีอักเสบมากกว่าตับอักเสบจากไวรัส หากมีอาการตาเหลือง หรือปวดตรงบริเวณชายโครงขวา มีไข้สูง หนาวสั่น

2. โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรส่งแพทย์โดยเร็ว แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ หากปล่อยให้ฝีแตก

3. นอกจากเชื้ออะมีบาแล้ว ฝีตับยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ที่เรียกว่า ฝีตับจากแบคทีเรีย มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี มีประวัติเป็นเบาหวาน ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือจากภาวะแทรกซ้อนของท่อน้ำดีอักเสบ มีไข้สูง เจ็บบริเวณชายโครงขวา มีอาการดีซ่านร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้แยกโรคได้ไม่ชัดเจนจึงควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ มักให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาที่ตรงกับเชื้อก่อเหตุ

การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำที่สะอาดเสมอ
2. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
3. ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง
4. ถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า