สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ได้รับสารพิษหรือยาเกินขนาดทางปาก

ห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชน ควรมีความพร้อมที่จะให้การดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับสารพิษหรือยาเกินขนาด เพราะในสภาพเศรษฐกิจสังคม และจำนวนประชากรในปัจจุบันนี้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

จากการสุ่มสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ห้องฉุกเฉินหลายแห่งยังไม่มีการจัดเตรียมยาและอุปกรณ์ ในการนี้อย่างเพียงพอ บางแห่งยังไม่มี ipecac symp ซึ่งเป็นยามาตรฐานตัวหนึ่งที่ควรมี บางแห่งมีสายยางล้างกระเพาะอาหารเบอร์ 18 เป็นเบอร์ใหญ่ที่สุด ในขณะที่น่าจะมีเบอร์ 32-36 ไว้ใช้ เพื่อให้ได้ผลในการปฏิบัติอย่างดีที่สุดในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สายยางล้างกระเพาะอาหาร รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในห้อง ต้องการความเข้าใจถึงหลักการและการปฏิบัติ เมื่อได้รับผู้ป่วยฉุกเฉิน  ที่มีประวัติรับสารพิษหรือยาเกินขนาดทางปาก เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้

เมื่อห้องฉุกเฉินได้รับผู้ป่วยที่ได้สารพิษหรือยาเกินขนาดทางปาก นอกเหนือจากการดูแลรักษาพื้นฐานเบื้องต้น เช่น การดูแลทางเดินหายใจ การหายใจ และระบบหมุนเวียนเลือดแล้ว ขั้นตอนในการปฏิบัติต่อไปจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ คือ

ผู้ป่วยควรได้รับการล้างกระเพาะอาหารหรือไม่
การล้างกระเพาะอาหาร หมายถึง ความพยายามที่ จะนำเอาสารพิษหรือยาเกินขนาดที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกมาทางปาก จะโดยวิธีทำให้อาเจียน หรือใส่สายยางลงไปล้างก็ได้ การจะล้างกระเพาะอาหารหรือไม่ต้องดูว่า

1. ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีหรือไม่
2. สารที่ได้รับเป็นสารจำพวก กรดหรือด่างหรือไม่
3. สารที่ได้รับเป็นสารจำพวก ฮัยโดรคาร์บอนหรือไม่
4. ผู้ป่วยมีอาการชักมาก่อน หรือคาดว่าสารที่ได้รับอาจทำให้มีอาการชักหรือไม่
5. ผู้ป่วยได้รับสารพิษหรือยาเกินขนาดมาแล้วเป็นเวลานานเท่าใด

ที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ก็เนื่องจากว่า การทำให้ผู้ป่วยอาเจียนหรือใส่สายยางล้างกระเพาะอาหาร ในขณะที่ผู้ป่วยยังไม่รู้ตัวดี หรือมีแนวโน้มที่จะชักขณะล้างกระเพาะอาหาร จะทำให้เสี่ยงต่อการสำลักได้มาก และถ้าผู้ป่วยได้รับสารจำพวกกรดหรือด่าง การใส่สายยางล้าง กระเพาะอาหารหรือทำให้อาเจียน อาจทำให้มีการทำลาย หรือกัดกร่อนหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารได้มากขึ้น สู้การดื่มนมหรือนํ้าลงไปช่วยให้กรดด่างเจือจางไม่ได้ (ไม่ควรใช้ด่างอ่อนๆ เพื่อต้านฤทธิ์กรดที่ผู้ป่วยได้รับ หรือใช้กรดอ่อนๆ เพื่อต้านฤทธิ์ด่าง เพราะกรด + ด่าง จะได้เกลือ + น้ำ และความร้อน ซึ่งจะยิ่งทำให้พยาธิสภาพเลวลง)

สำหรับสารพวกฮัยโดรคาร์บอน ค่อนข้างจะสร้างความลำบากในการตัดสินใจว่าจะล้างกระเพาะอาหารหรือไม่ เนื่องจากหากมีการสำลักเข้าไปในทางเดินหายใจแล้ว จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากกว่าพิษซึ่งเกิดจากการดูดซึมตามปรกติของ สารนั้นเองก็ได้

เนื่องจากสารพวกฮัยโดรคาร์บอนมีมากมายหลายชนิด และหลายสถานะ ตั้งแต่ชนิดที่เป็นแก๊ส (แก๊สหุงต้ม) ที่เป็นของเหลวระเหยง่าย เช่น toluene, benzene และgasoline, ที่เป็นของเหลวระเหยยาก เช่น นํ้ามันก๊าด, และเป็นของข้น เช่น นํ้ามันหล่อลื่น ยางมะตอย ฯลฯ พิษของฮัยโดรคาร์บอน อาจเกิดได้จากการสำลัก การสูดหายใจ เข้าไป หรือการดูดซึมทางระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายในระบบต่างๆ เกือบจะทุกระบบ การตัดสินใจว่าจะล้างกระเพาะอาหารหรือไม่ ผู้ตัดสินใจจำเป็นต้องมีพื้นความรู้เกี่ยวกับพิษของฮัยโดรคาร์บอนชนิดต่างๆ บ้าง และต้องชั่งน้ำหนักระหว่างพิษต่อร่างกายที่จะเกิดจากการดูดซึมของสารฮัยโดรคาร์บอนกับพยาธิสภาพต่อปอดที่จะเกิดจากการสำลัก หากตัดสินใจล้างกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ตาม มีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับสารพวกฮัยโดร¬คาร์บอนที่ควรจำ คือ ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวดีไม่มีข้อห้ามอื่นๆ ควรทำให้อาเจียน ถ้า

1. ผู้ป่วยกินสารฮัยโดรคาร์บอนจำนวนมากด้วยความตั้งใจ เช่น กินน้ำมันก๊าดจำนวนเกิน 1 มล./น้ำหนักตัว 1 กก. (ในรายที่ดูดนํ้ามันก๊าด หรือนํ้ามันรถยนต์แล้วเกิดกลืนเข้าไปโดยบังเอิญ หรือในรายที่เผลอดื่มโดยคิดว่าเป็นนํ้า ไม่จำเป็นต้องทำให้อาเจียน)

2. ผู้ป่วยที่ได้รับสารที่ดูดซึมได้ง่าย และมีพิษสูง เช่น toluene, benzene, (ระวังสลับกับคำว่า benzine ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า นํ้ามันรถยนต์ หรือ gasoline, ben¬zene ตัวนี้ เป็น aromatics hydrocarbon มีพิษมาก มีรายงานว่า กินเพียง 15 มล.ก็สามารถทำให้ตายได้), halogenated hydrocarbons, หรือได้รับ hydrocarbon ที่มี ส่วนผสมของโลหะหนัก, pesticides, aniline, หรือสารอื่นๆ ที่ทราบว่าเป็นพิษ.

การล้างกระเพาะอาหารควรทำภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารพิษหรือยาเกินขนาดทางปาก อย่างไรก็ตาม ยาบางตัวอาจทำให้ gastric emptying time ยาวขึ้น นั่นคือ ยาจะค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานเกิน 4-6 ชั่วโมง โดยทั่วไปภายใน 4-6 ชั่วโมงที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ หากไม่มีข้อห้ามดังกล่าวแล้วให้ทำการล้างกระเพาะอาหารได้

ถ้าจะล้างกระเพาะอาหารจะใช้วิธีใด ทำให้อาเจียน หรือใส่สายล้าง
ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้ตัวดี ไม่ได้รับสารกรดด่าง, ฮัยโดรคาร์บอน หรือสารที่จะทำให้มีอาการชักตามมา การล้างกระเพาะอาหารที่ได้ผลดีที่สุด คือ การทำให้อาเจียน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและจำเป็นต้องล้างกระเพาะอาหาร ควรใส่ท่อหลอดลมชนิดมีกระเปาะด้วยความระมัดระวัง แล้วจึงใส่สายล้างกระเพาะอาหาร

1. ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยอาเจียน
วิธีที่ดีที่สุดและเป็นมาตรฐานขณะนี้ คือ การให้กินนํ้าเชื่อม ipecac ขนาด 30 มล. ตามด้วยน้ำอีก 2-4 แก้ว, ในเด็ก 6 เดือน-1 ปี ให้ขนาด 10 มล., เด็ก 1 -5 ปีให้ขนาด 15 มล. ประมาณ 15-20 นาทีต่อมา ผู้ป่วยจะอาเจียน ถ้าให้กินยาแล้วเกินครึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยยังไม่อาเจียนอาจให้ syrup ipecac ซํ้าได้อีกครั้ง หากหลังการให้ครั้งที่ 2 ยังไม่อาเจียน และผู้ป่วยยังรู้ตัวดี ก็อาจใส่สายยางล้างท้องได้โดยไม่ต้องใส่ท่อหลอดลม

Ipecac เป็นสารสกัดจากพืช มีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ชนิด คือ emetine และ cephoeline ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้อาเจียนโดยกระตุ้น chemoreceptor trigger zone ในสมอง และระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร Ipecac syrup สกมารถเตรียมได้เองโดยใช้นํ้าสกัด ipecac (ipecac liquid extract) 6 มล. ผสมกับกรด acetic เจือจาง 2.5 มล. และ glycerol 10 มล. แล้วเติมน้ำเชื่อมจนครบ 100 มล.

โรงพยาบาลในประเทศไทยส่วนใหญ่ไมมีนํ้าเชื่อม ipecac ใช้ แต่จะมี ipecac elixir ซึ่งเตรียมจาก ipecac liquid extract 1.5 ลิตร ผสมแอลกอฮอล์ 5.7 ลิตร และเติมนํ้าให้ครบ 30 ลิตร จะได้ทิงเจอร์ ipecac หรือ ipecac elixir ซึ่งมีความเข้มข้น 0.2% นํ้าหนัก/ปริมาตร หรือมี emetine 200 มก.ใน 100 มล. ซึ่งจะเข้มข้นกว่าน้ำเชื่อม ipecac ซึ่งมี emetine ประมาณ 150 มก. ใน 100 มล. หากจะใช้ ipecac elixir ทำให้อาเจียน ก็อาจลดขนาดลงเหลือประมาณ 3/4 ของขนาดที่ใช้กับน้ำเชื่อม ipecac. เนื่องจาก ipecac elixir มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยจึงไม่ควรใช้ในเด็ก

2. การใช้สายล้างกระเพาะอาหารอย่างไรจึงจะได้ผลดีที่สุด
สายยางที่ใช้ในการล้างกระเพาะอาหาร ควรมีขนาดไม่ต่ำกว่าเบอร์ 32 F. ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย ศีรษะต่ำ เมื่อใส่ท่อทางปากจนปลายสายยางเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารแล้ว ให้ดูดสิ่งที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุดก่อน ควรเก็บบางส่วนของสิ่งที่ดูดมาได้ไว้ในกรณีที่จะส่งตรวจ เมื่อดูดจนดูดไม่ออกแล้ว จึงใส่น้ำเข้าไปครั้งละไม่ควรเกิน 250 มล. (ในเด็กใช้ 50- 100 มล.) แล้วดูดออกให้หมด น้ำที่ใช้จะเป็นน้ำประปา หรือน้ำดื่มก็ได้

สำหรับห้องฉุกเฉินที่ยังมีสายยางแดง ซึ่งมีลักษณะปรายรูปกรวย มีลูกยางบีบเพื่อให้น้ำไหลลงทางสายยางได้สะดวกขึ้น (ภาพที่ 1) จำเป็นต้องใช้ให้ถูกวิธี คือ ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงศีรษะต่ำ กรอกนํ้าลงในกรวยแล้วบีบลูกยางช่วย เพื่อให้นํ้าไหลเข้ากระเพาะอาหารสะดวกขึ้น หลักการใช้สายยางชนิดนี้ในการล้างกระเพาะอาหารก็ คือ ใส่นํ้าเข้าทางสายยางโดยผ่านกรวยจนนํ้าเต็มกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะอาเจียนออกมาเองทางปาก

ภาพที่ 1. สายยางแดงซึ่งมีลักษณะปลายรูปกรวยมีรูปยางพับเพื่อให้
น้ำไหลลงทางสายยาง
health-0138 - Copy
จะเห็นได้ว่า เป็นวิธีที่ค่อนข้างทุลักทุเล และเสี่ยงต่อการสำลักสูง จึงขอแนะนำว่า หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้สายยางชนิดนี้ แต่ถ้าจะใช้ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธี อย่าพยายามนำสิ่งที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกมาทางสายยาง เพราะข้อต่อระหว่างกรวยและลูกยางทำให้รูของสายยางแคบ และเกิดการอุดตันได้ง่ายมาก

สายล้างกระเพาะอาหารที่ใช้ได้สะดวกควรจะเป็นชนิดที่มี 2 สายควบ (double lumens) ลักษณะทั่วไปจะเป็นสายที่ทำจากสารสังเคราะห์ขนาดใหญ่ (เบอร์ 32 F ขึ้นไปจนถึงเบอร์ 36 F) ซึ่งมีสายยางขนาดเล็กประกบอยู่อีกเส้นหนึ่ง (ภาพที่ 2) ปลายสายรวมเป็นเส้นเดียว มีรูเปิดแยกต่างหาก ส่วนโคนสายแยกเป็น 2 เส้น

วิธีใช้ให้ใส่นํ้าลงทางโคนสายเล็กนํ้าจะไหลเข้ากระเพาะอาหารจนเต็ม และจะถูกดันออกมาทางปลายสายใหญ่ การใช้สายชนิดนี้มีความสะดวกมาก เพราะผู้ล้างกระเพาะอาหารไม่ต้องคอยดูดนํ้า เพียงแต่คอยใส่นํ้าลงไปทางโคนสายเล็กเท่านั้น แต่ควรแน่ใจว่า ปลายสายอยู่ ในกระเพาะอาหารจริงๆ เมื่อใส่ไปเรื่อยๆ จนนํ้าที่หมุนเวียนออกมาใส ไม่มีเศษยาหรือสารพิษเจือปนชัดเจนแล้ว ก็หยุดการล้างกระเพาะอาหารได้ โดยทั่วไปจะใช้นํ้าทั้งหมดประมาณ 5-10 ลิตร จึงนับเป็นวิธีล้างกระเพาะอาหารด้วยสายยางที่สะดวก ประหยัดเวลา และได้ผลดีที่ สุดวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสายล้างชนิดนี้ก็ให้ใช้วิธีล้างกระเพาะอาหารแบบธรรมดา โดยใส่นํ้าเข้าทางสายยางชนิดธรรมดาครั้งละ 250 มล.แล้วดูดออก โดยใช้สายขนาดโตที่สุดที่มีอยู่

ภาพที่ 2. ลักษณะสายล้างกระเพาะชนิดที่จะใช้ได้สะดวก
health-0138 - Copy1

ควรจัดการอย่างไรกับสารพิษหรือยาเกินขนาดที่ยังอาจตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้
สารอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งควรมีไว้ใช้ประจำในห้องฉุกเฉิน คือ activated charcoal ซึ่งมีลักษณะเป็นผงถ่านที่ละเอียดมากๆ มีความสามารถในการดูดซึมสารต่างๆ และยาได้เกือบทุกชนิด (มากน้อยแล้วแต่สารพิษแต่ละชนิด) ยกเว้น สารพวกกรด ด่าง แอลกอฮอล์ โลหะหนัก cyanide และ DDT เท่านั้น ดังนั้น หากผู้ป่วยได้รับสารอื่นๆ นอกจากสารข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว เมื่อทำให้อาเจียนแล้ว หรือเมื่อล้างกระเพาะอาหารแล้ว ควรให้กิน activated charcoal หรือผสม activated charcoal ใส่ลงไปตามท่อล้างกระเพาะอาหารหลังการล้างกระเพาะอาหารนํ้าสุดท้าย

Activated charcoal ที่มีใช้อยู่ขณะนี้มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ชนิดที่เป็นผงละเอียด (ระวังสับสนกับ universal antidote ซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีดำละเอียดเหมือนกัน แต่มีความสามารถในการดูดซึมสารได้น้อยกว่า ไม่ควรนำมาใช้) และ activated charcoal ชนิดที่อัดเป็นเม็ด(ultracarbon) ขนาดเม็ดละ 1 กรัม ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ชนิดผงละเอียด เนื่องจากมีพื้นผิวในการดูดสารต่างๆ ได้มากกว่าชนิดอัดเม็ด ขนาดที่ใช้ คือ 30-100 กรัม ละลายน้ำ 1-2 แก้วคนให้เข้ากันแล้วให้ผู้ป่วยดื่ม หรือใส่ทางสายล้างกระเพาะอาหาร

ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับสารพิษหรือยาเกินขนาดมานานเกิน 6-12 ชั่วโมง และแพทย์ตัดสินใจไม่ล้างกระเพาะอาหาร การให้ activated charcoal ก็ยังสามารถช่วยลดการดูดซึมสารหรือยาที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ได้
นอกจากนี้ ยาบางกลุ่ม เช่น phenobarbital, theophylline, phenylbutazone และ tricyclic antidepressant ฯลฯ เมื่อร่างกาย ได้รับจะมี enterohepatic circulation คือเมื่อถูกดูดซึมเข้าระบบไหลเวียนเลือดแล้ว จะถูกขับออกกลับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารโดยผ่านตับได้ ทำให้มีฤทธิ์หมุนเวียนตกค้างอยู่ได้นานกว่าปรกติ กรณีนี้การให้ activated charcoal ขนาด 20-30 กรัม ทุก 2-4 ชั่วโมง จะช่วยลดการเกิดพิษตกค้างได้ส่วนหนึ่ง

นอกจากกรด ด่าง แอลกอฮอล์ โลหะหนัก cyanide และ DDT ซึ่งควรจำให้ได้ว่าไม่จำเป็นต้องให้ activated charcoal แล้ว ยังมีสารอีก 2 ชนิดที่เป็นปัญหาที่พบบ่อยในห้องฉุกเฉิน ซึ่งอาจใช้สารต้านฤทธิ์หรือป้องกันการดูดซึมเฉพาะตัวที่ควรจำ คือ acetaminophen (กรณีที่กิน เกินขนาด จะทำให้เกิดพิษต่อตับ เพราะ glutathione ที่มีอยู่ตามปรกติไม่เพียงพอที่จะทำลายพิษที่เกิดจาก toxic metabolite ของ acetaminophen ได้ กรณีนี้จึงต้องให้ N-acetylcysteine ขนาดสูงเป็นเวลานานต่อเนื่องกันถึง 3 วัน เพื่อให้จับกับ toxic metabolite ของ acetaminophen แทน glutathione) และ paraquat (ซึ่งใช้สาร Fuller’s earth เป็นตัวลดการดูดซึมเฉพาะตัว)

หากผู้ป่วยได้รับสาร acetaminophen และจำเป็นต้องให้ N-acetylcysteine หรือได้รับสาร paraquat และมีสาร Fuller’s earth อยู่ในสภาพที่ใช้ได้ทันที ก็อาจพิจารณาให้สารเฉพาะตัวก่อน แต่ถ้าไม่มีสารดังกล่าวอยู่ในมือขณะทำการรักษา หรือผู้ป่วยให้ประวัติกินยา หรือสารพิษหลายขนาน ก็อาจให้ activated charcoal แทนหรือร่วมด้วยได้

ควรใช้ยาถ่ายช่วยในการขับสารพิษหรือยาเกินขนาดหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับสารประเภทกรด หรือด่าง ผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติเพิ่งผ่าตัดลำไส้ ผู้ป่วยที่มิได้เป็นโรคไตเรื้อรัง หลังจากให้ activated charcoal เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษแล้วครึ่งชั่วโมงต่อมาควรให้ milk of magnesia ขนาด 30 กรัม กินทุก 4 ชั่วโมง จนผู้ป่วยถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีดำของถ่าน

ควรให้ยาขับปัสสาวะหรือไม่
ในผู้ป่วยหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน การให้น้ำเกลือขนาดมากหน่อย (forced diuresis) ในระยะต้น อาจไม่เกิดผลเสีย แต่ในผู้ป่วยสูงอายุหรือเด็ก ควรต้องระวัง แพทย์ในห้องฉุกเฉินส่วนหนึ่งยังมีความรู้สึกว่าอยากจะเห็นผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษหรือยาเกินขนาด มีปัสสาวะออกมามากๆ โดยเข้าใจผิดว่า จะช่วยขับสารพิษออกมาได้ บางท่านถึงกับให้ยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์ค่อนข้างแรง เช่น furosemide ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะ hy¬povolemia ได้ (พึงจำไว้ว่า furosemide เป็นยาที่ถูกพบว่า มีการใช้อย่างไม่เหมาะสมจากห้องฉุกเฉิน จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะ hypovolemia ในหอผู้ป่วยในระยะต่อมาได้ค่อนข้างบ่อย).

การใช้ยาขับปัสสาวะ การปรับสภาพกรดด่างของปัสสาวะ และการใช้สารต้านพิษเฉพาะตัว (antidote) เป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างรอบคอบ หลังจากที่ได้ตรวจพิสูจน์ชนิดของสารพิษหรือยาเกินขนาดเป็นที่แน่นอนแล้ว ซึ่งหลังจากที่แพทย์ได้ปฏิบัติการดูแลรักษาขั้นต้นตามลำดับที่กล่าวมาแล้ว ก็จะมีเวลาในการพิจารณา เปิดตำรา หรือ ปรึกษาหารือ เพื่อการรักษาโดยตรงที่ถูกต้องต่อไป

แพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ หรือยาเกินขนาด ควรระลึกไว้เสมอว่า ท่านมิได้กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาเฉพาะเรื่องสารพิษเท่านั้น ปัญหาที่สำคัญ ซึ่งไม่ควรถูกมองข้าม คือปัญหาทางจิตใจของผู้ป่วย การปฏิบัติต่อผู้ป่วยในระยะต้นควรจะเป็นไปด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และไม่มีปฏิกิริยาที่จะเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย หน้าที่ของแพทย์ พยาบาลในห้องฉุกเฉิน มิใช่เป็นเพียงผู้นำสารพิษหรือยาเกินขนาดออกจากท้องเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีต่อไปหลังจากการบำบัดทางกายแล้ว ผู้ป่วยที่ยังมีความโน้มเอียงที่จะทำลายชีวิตตนเองอยู่ควรต้องพบจิตแพทย์ทุกราย

ที่มา:บุญเลิศ จุลเกียรติ พ.บ.
นาวาอากาศเอก กองตรวจโรคผู้ป่วยนอก
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า