สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ระบาดวิทยาของผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ยากำจัดศัตรูพืชมีความสำคัญต่อประเทศเกษตรกรรม เพราะต้องใช้ในการปราบศัตรูพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร มีการประมาณว่าหากไม่ใช้กำจัดศัตรูพืชจะมีความเสียหายกว่าหนึ่งในสามของผลผลิตทั้งหมด ดังนั้น จึงมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก ปริมาณผลิตภัณฑ์ยากำจัดศัตรูพืชสำเร็จรูปที่ใช้ภายในประเทศในปี 2534 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณหกหมื่นตัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ใช้ในภาคเกษตรกรรม ส่วนการใช้ในด้านสาธารณสุข เช่น การใช้ยาฆ่าแมลงในโครงการกำจัดพาหะนำ โรคมาเลเรีย เป็นเพียงส่วนน้อยของปริมาณยาฆ่าแมลงทั้งหมด ดังนั้นการใช้ยากำจัดศัตรูพืชมีประโยชน์ และสำคัญต่อมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันยากำจัดศัตรูพืชก็มีพิษอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ด้วย

ปัญหาการใช้ยากำจัดศัตรูพืชมีความแตกต่างกันระหว่างในประเทศที่กำลังพัฒนากับประเทศอุตสาหกรรม ในประเทศอุตสาหกรรมมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชประมาณกว่าร้อยละ 80 ของการใช้ ในภาคเกษตรกรรมทั่วโลก แต่จำนวนผู้ตายจากพิษยากำจัดศัตรูพืชมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้ได้รับพิษทั้งหมด มีการประมาณว่าในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยพิษเฉียบพลันจากยากำจัดศัตรูพืชประมาณปีละ 3 ล้านคน

ระบาดวิทยา
ในประเทศไทยจากข้อมูลการเฝ้าระวังโรครายงาน 506 สำหรับโรคพิษจากยากำจัดศัตรูพืช (ไม่รวมสาเหตุจากเจตนาฆ่าตัวตายหรือถูกลอบวางยา) พบว่าในปี 2533, 2534 มีอัตราป่วย 8.57 และ 6.6 ต่อประชากรแสน ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีก่อนๆ ในปี พ.ศ.2520 มีอัตราป่วยสูงสุดเท่ากับ 9.6 ต่อประชากรแสน ข้อมูลนี้เชื่อว่ายังอาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้ป่วยบางคนที่มีอาการเล็กน้อยอาจไม่ได้ไปรับการรักษาที่สถานบริการและบางส่วนอาจไปรับการรักษาในสถานบริการเอกชน จากการศึกษาของ พญ.มาลินี วงศ์พานิช และคณะเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของเกษตรกรที่ป่วยด้วยพิษจากยากำจัดศัตรูพืช พบว่าไปรักษาที่สถานพยาบาลมีเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รักษาถึงร้อยละ 56-74

ช่วงอายุที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือช่วง 15-24 และ 25-34 ปี มีอัตราป่วยเท่ากับ 13.29 และ 15.54 ต่อประชากรแสนตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 30 85 และ 27.32 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นวัยทำงานจึงมีโอกาสสัมผัสกับยากำจัดศัตรูพืชได้มากกว่าเด็ก และผู้สูงอายุ สัดส่วนเพศชายต่อ หญิงเท่ากับ 2 ต่อ 1

ช่วงระยะเวลาที่มีผู้ป่วยสูงสุดส่วนมากอยู่ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ส่วนเดือนที่มีผู้ป่วยน้อยที่สุด ได้แก่ เดือนธันวาคม

ในปี 2534 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดนครปฐมเท่ากับ 49.9 ต่อประชากรแสน รองลงมาคือ กำแพงเพชร ปทุมธานี อุดรติตถ์ เลย สุโขทัย อุทัยธานี พิษณุโลก และนครสวรรค์ ซึ่งล้วนมีอัตราป่วยสูงกว่า 20 ต่อประชากรแสน จะเห็นว่าส่วนใหญ่จังหวัดที่มีปัญหาอยู่ ในเขตภาคกลางและภาคเหนือ

สาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยได้รับสารพิษนอกจากการประกอบอาชีพแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการฆ่าตัวตาย โดยการกินยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ใน 67 จังหวัด ปี 2532 พบว่า มีจำนวน 9,738 ราย คิดเป็นอัตรา 19.8 ต่อประชากรแสน มีผู้ตาย 499 คน คิดเป็นอัตราตาย 1.20 ต่อประชากรแสน และสาเหตุของการได้รับพิษ เกิดจากการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 46.01 จากการประกอบอาชีพร้อยละ 36.14 อุบัติเหตุสารตกค้างในอาหารร้อยละ 6.17 ถูกมาตรกรรมร้อยละ 2.03 และสาเหตุอื่นๆ อีกร้อยละ 9.65 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ได้รับสารพิษยากำจัดศัตรูพืช จากการทำงานนั้น จากการศึกษาของ กองอาชีวอนามัย กรมอนามัย น่าจะเกิดจากการปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะทราบว่ายาฆ่าแมลงสามารถ เข้าสู่ร่างกายได้ และทราบวิธีการทำงานได้อย่างปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง แต่ในทางปฏิบัติมีเกษตรจำนวนมากยังมีการปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้มือเปล่าผสมยาฆ่าแมลง การไม่ทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้าด้วยน้ำ ขณะที่ยาฆ่าแมลงปนเปื้อน การไม่ทำลายภาชนะบรรจุยาฆ่าแมลงภายหลังใช้หมดอย่างเหมาะสม ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกนำมาใช้บรรจุนํ้า เพื่อนำไปบริโภค ทำให้ได้รับสารกำจัดศัตรูพืชโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ นอกจากนี้หากภาชนะฉีดยารั่วขณะที่กำลังฉีดพ่นยาก็มีโอกาสทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ เช่นกัน

การผสมยาฆ่าแมลงที่ไม่ได้เป็นไปตามฉลากระบุ เช่นผสมความ เข้มข้นกว่าขนาดที่แนะนำ เพื่อหวังผลในการฆ่าศัตรูพืชจะทำให้ เกิดอาการพิษจากสารฆ่าแมลงมากขึ้น

ชนิดของยากำจัดศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดพิษจากการศึกษาของสถิติผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช (ปี พ.ศ.2523-2527) พบว่าชนิดที่พบว่าเป็นสาเหตุมากที่สุด คือกลุ่มยาฆ่าแมลงคิดเป็นร้อยละ 63.3 ซึ่งใกล้เคียงกับการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2528 ซึ่งพบร้อยละ 72.7 และในกลุ่มของยาฆ่าแมลงพบว่า สาเหตุที่มากที่สุดเกิดจากยากลุ่ม Organophosphate โดยคิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

สำหรับอัตราป่วยตายของผู้ที่ได้รับสารพิษจากการทำงาน (case fatality rate) พบว่ามีร้อยละ 1.2 (กองระบาดวิทยา) แต่ถ้าคิดรวมจำนวนผู้ได้รับสารพิษ เนื่องจากสาเหตุการฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสำรวจจาก 67 จังหวัด พบว่ามีอัตราป่วยตายเท่ากับ 5.1 แม้ว่าอัตราป่วยตายจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก แต่จากการสำรวจการรักษาพยาบาล ผู้ได้รับพิษจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสัตว์ของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พบว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการมีปัญหาในการรักษาพยาบาลผู้ได้รับสารพิษ  เช่น ยาแก้พิษไม่เพียงพอ ไม่ ทราบชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และผู้ป่วยมารักษาพยาบาลช้า

การแก้ไขคงจะต้องมีการให้สุขศึกษาแก่ประชาชนที่มีการใช้ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย การใช้ความ เข้มข้นที่ถูกต้อง การใช้มาตรการทางกฎหมายที่ควบคุมการซื้อขายยากำจัดศัตรูพืช การมีฉลากระบุยา รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการทางการแพทย์ เพื่อให้การรักษา เช่นการมียาแก้พิษเพียงพอ มีเครื่องมืออุปกรณ์ล้างท้อง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจระดับโคลีนเอสเตอเรสใน เลือด

ตาราง 1 แสดงอัตราป่วย อัตราตาย อัตราป่วยตาย จากโรคพิษยากำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย พ.ศ.2518-2534
อัตราป่วยตาย จากโรคพิษยากำจัดศัตรูพืช
กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
*NA=Not available

ตาราง 2 แสดงจำนวนผู้ป่วย, ตาย จากพิษยากำจัดศัตรูพืช ปี 2534 จำแนกตามเดือน
แสดงจำนวนผู้ป่วยจากพิษยากำจัดศัตรูพืช
กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข

จำนวนผู้ป่วยจากพิษยากำจัดศัตรูพืช ปี 2534 จำแนกตามภาค

ภาคกลาง  จำนวนผู้ป่วย  1545 (40.36%)

ภาคเหนือ  จำนวนผู้ป่วย  1470 (38.40%)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จำนวนผู้ป่วย  663  (17.32%)

ภาคใต้  จำนวนผู้ป่วย  150  (3.92%)

รวม จำนวนผู้ป่วย  3828  (100%)

กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข

ตาราง 4 แสดงชนิดของยากำจัดศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดพิษ
แสดงชนิดของยากำจัดศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดพิษ
*สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2528
**คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ตาราง5 แสดงจำนวนผู้ป่วยตายจากยากำจัดศัตรูพืชจำแนกตามอายุ, เพศ
จำนวนผู้ป่วยตายจากยากำจัดศัตรูพืชจำแนกตามอายุ
กองระบาดวิทยา  กระทรวงสาธารณสุข

และควรมีการอบรมพื้นฟูความรู้ด้านการรักษาพยาบาลแก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชในชุมชนมีการจัดทำคู่มือช่วยในการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลผู้ได้รับพิษ ตลอดจนรวบรวมชื่อสามัญ และชื่อการค้าของสารเคมีที่ใช้กันแพร่หลายในพื้นที่

ที่มา:นายแพทย์วิชัย เอกพลากร
กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า