สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปีกมดลูกอักเสบ(Salpingitis)

ปีกมดลูกอักเสบ(Salpingitis)
เยื่อบุมดลูกอักเสบ(Endometritis)

ปีกมดลูกอักเสบ เป็นการอักเสบของท่อรังไข่ ส่วนเยื่อบุมดลูกอักเสบ เป็นการอักเสบของเยื่อบุภายในโพรงมดลูก

ทั้งสองโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านช่องคลอดเข้าไปทางปากมดลูกไปสู่โพรงมดลูกและเกิดการอักเสบขึ้น ถ้าลุกลามไปในท่อรังไข่ก็จะกลายเป็นปีกมดลูกอักเสบได้ พบโรคนี้ได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์หรืออายุประมาณ 15-45 ปี มักจะเรียกรวมๆ กันว่า อุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งครอบคลุมถึงการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก ท่อรังไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องภายในอุ้งเชิงกรานเพราะบางครั้งอาจพบร่วมกันจนแยกจากกันไม่ออก

พบโรคนี้ได้บ่อยในหญิงหลังคลอดบุตร แท้งบุตร ขูดมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด การสวนล้างช่องคลอด หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เสรี หรือหญิงที่มีสามีเป็นคนชอบเที่ยวผู้หญิง

สาเหตุ
1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่พบบ่อยคือติดหนองในจากสามี หรือผู้ชายที่มีประวัติชอบเที่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เสรี หรืออาจเกิดจากเชื้อคลามีเดียทราโคมาติส(Chlamydia trachomatis) ในบางราย

2. การติดเชื้อหลังคลอด อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดที่มีอยู่เป็นปกติวิสัย หรือมีปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อเหล่านี้เจริญขึ้นจนเป็นโรคในระหว่างคลอด หรือเกิดเยื่อบุมดลูกอักเสบหลังคลอด 24 ชั่วโมงจากการแปดเปื้อนเชื้อจากภายนอกช่องคลอดเข้าไปในช่องคลอดและมดลูก

3. การทำแท้ง อาจเกิดการอักเสบขึ้นได้จากการทำแท้งที่ไม่สะอาดจนมีเชื้อโรคเข้าในมดลูก เรียกว่า การแท้งติดเชื้อ

อาการ
ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ตกขาวเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น และอาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนออกมากและมีกลิ่นเหม็น

อาจมีอาการขัดเบา ปัสสาวะปวดแสบขัดร่วมด้วยในรายที่เกิดจากการติดเชื้อหนองใน

หากมีการติดเชื้อหลังการคลอด มักมีน้ำคาวปลาออกมากหรือน้อย และมีกลิ่นเหม็น และมักเกิดอาการหลังจากคลอดได้ 24 ชั่วโมง

จะมีอาการแบบแท้งบุตรร่วมด้วย เช่น ปวดบิดท้องเป็นพักๆ และมีเลือดออกจากช่องคลอด ถ้าเกิดจากการแท้งบุตร

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูง กดเจ็บมากบริเวณท้องน้อยทั้งสองข้าง หรืออาจเจ็บข้างเดียวในบางราย อาจได้กลิ่นของน้ำคาวปลา เลือดประจำเดือน หรือกลิ่นของตกขาว หรืออาจพบอาการซีด หรือภาวะช็อก

ภาวะแทรกซ้อน
ในท่อรังไข่หรือรังไข่อาจเป็นฝีเกิดเป็นแผลและอาจทำให้เป็นหมันได้ และมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูง

อาจมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และเจ็บปวดเวลาร่วมเพศในบางราย

ในบางรายอาจเกิดเยื่อบุท้องอักเสบจากการลุกลามของเชื้อโรค และอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษถึงกับเสียชีวิตได้ถ้าเป็นแบบรุนแรง โดยเฉพาะถ้าเกิดจากการทำแท้ง

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนในรายที่มีไข้สูง ปวดและกดเจ็บตรงท้องน้อย อาจต้องตรวจหาสาเหตุของโรคด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจหาเชื้อจากหนองในช่องคลอด หรือถ้ามีความจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น อัลตราซาวนด์

แพทย์มักให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ลดไข้ ให้น้ำเกลือ ให้เลือดถ้ามีอาการซีด และให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ

ในรายที่เป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อหนองในและเชื้อคลามีเดีย ดังนี้

1. อาจให้ยาขนานใดขนาดหนึ่งกับผู้ป่วย ดังนี้
-ฉีดเซฟ็อกซิทิน 2 กรัม เข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง ร่วมกับฉีดหรือกินดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วให้กินดอกซีไซคลีน จนครบ 14 วัน

-ฉีดคลินดาไมซิน 900 มก. เข้าหลอดเลือดดำ ทุก 8 ชั่วโมง ร่วมกับเจนตาไมซิน ครั้งแรก 2 มก./กก. แล้วตามด้วยขนาด 1.5 มก./กก. ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้กินดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง จนครบ 14 วัน

2. กรณีที่ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแพทย์จะให้ยาขนานใดขนานหนึ่งดังนี้
-ฉีดเซฟ็อกซิทิน 2 กรัม หรือเซฟทริอะโซน 250 มก. เข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับกินดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือเตตราไซคลีน 500 มก. วันละ 4 ครั้ง หรืออีริโทรไมซิน 500 มก. วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน

-กินโอฟล็อกซาซิน 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน ร่วมกับคลินดาไมซิน 450 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือเมโทรไนดาโซล 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรงดการร่วมเพศนาน 3-4 สัปดาห์ จนกว่ามดลูกจะฟื้นตัวแข็งแรงดี

2. ผู้ป่วยไม่ควรใส่ห่วงในการคุมกำเนิด ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น และควรเอาห่วงออกในรายที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด

3. ต้องรักษาสามีพร้อมกันไปด้วยถ้าเกิดจากเชื้อหนองใน เพราะอาจเกิดอาการกำเริบได้อีกจากการติดเชื้อซ้ำซากจากสามี

4. ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อย่าปล่อยให้เชื้อลุกลามหรือเรื้อรังเพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายหรือทำให้เป็นหมันได้ ควรกินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

5. โรคนี้มักจะแสดงอาการหลังจากมีประจำเดือน อาการไข้หลังมีประจำเดือนชาวบ้านมักเรียกกันว่า ไข้ทับระดู มีความเชื่อว่าห้ามฉีดยาเพราะอาจมีอันตรายได้ ซึ่งอาการไข้อาจมีสาเหตุจากไข้ชนิดใดก็ได้ที่บังเอิญมาประจวบเหมาะกับการมีประจำเดือน อาจจะไม่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับประจำเดือนแต่อย่างใด

อาการที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ได้แก่ ปีกมดลูกอักเสบหรือเยื่อบุมดลูกอักเสบ ในสมัยก่อนอาจมีการฉีดเพนิซิลลินซึ่งนิยมใช้กันมากเมื่อเกิดโรคนี้ขึ้น ยานี้มักทำให้มีอาการแพ้ได้ง่ายผู้ป่วยอาจแพ้ยาจนเสียชีวิตจึงทำให้เกิดมีความเชื่อว่าห้ามฉีดยาถ้าเป็นไข้ทับระดู

ในความเป็นจริงแล้วถ้าผู้ป่วยไม่มีปัญหาเรื่องการแพ้ยา ผู้ป่วยที่มีไข้ร่วมกับการมีประจำเดือนก็สามารถฉีดยาได้แบบเดียวกับผู้ป่วยทั่วไปถ้ามีความจำเป็น

การป้องกัน
1. ภายหลังการคลอดบุตร แท้งบุตร หรือการขูดมดลูก ควรงดการร่วมเพศ หรือสวนล้างช่องคลอดเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากเป็นช่วงที่เยื่อบุมดลูกมีความอ่อนแอ

2. ไม่ควรทำแท้งกันเอง หรือใช้เครื่องมือสกปรกในการทำแท้ง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรงเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงถึงตายได้

3. ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วหากสงสัยว่าติดเชื้อหนองในจากสามี เช่น สามีปัสสาวะขัด มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ เป็นต้น ควรได้รับการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เชื้อจะลุกลามจนกลายเป็นปีกมดลูกอักเสบ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า